สรุปเสวนา “จากทับลานถึงเขาใหญ่” ผืนป่าที่ถูกเฉือน ?

สรุปเสวนา “จากทับลานถึงเขาใหญ่” ผืนป่าที่ถูกเฉือน ?

งานนี้มีจุดประสงค์เพื่อไขความกระจ่างเกี่ยวกับปัญหาประกาศเขตพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผ่านหลากหลายมุมมองจากแขกรับเชิญที่มาจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ปมปัญหาความซับซ้อนของประเด็นนี้ได้ถูกคลี่คลายลงไม่มากก็น้อย จากการเห็นภาพใหญ่ของปัญหาสู่ทางแก้ไขในพื้นที่ดินทับซ้อนในขั้นตอนต่อไป

มุมมองของกรมอุทยานในภาพรวม

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความเห็นภาพรวมของสถานการณ์การซ้อนทับกันของพื้นที่กรมอุทยานฯ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า การพบหมุดนิรนามของ ส.ป.ก. นั้นเป็นความเจ็บปวดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้มากกว่าขบวนการลักลอบค้าไม้ ค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ที่หน่วยงานบางแห่งนั้นมาลักลอบดำเนินการลุกล้ำพื้นที่ผ่าน เอกสารสิทธิ์ที่ดินมาสร้างสิทธิอันชอบธรรมในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติโดยใช้ขบวนการในรูปแบบของ ส.ป.ก. เมื่อจับผู้กระทำผิดที่ไร้แผนการจัดการในที่ดินของตน ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ได้รับการอนุมัติโดย ส.ป.ก. ในอช.ทับลาน อีกทั้งมีการทับแปลงคดีที่อยู่ระหว่างการต่อสู่ในขบวนการยุติธรรม

จุดมุ่งหมายของ ส.ป.ก. เป็นไปเพื่อขจัดความยากจนจากการให้ที่ดินทำกินแก่ชาวนายากไร้ให้เช่าพื้นที่ในราคาที่เหมาะสม แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือการมอบเอกสารสิทธิ์ให้กลุ่มนายทุน พอเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปจับกุมเพื่อดำเนินคดีแต่กลับถูกกลุ่มคนเหล่านี้ฟ้องกลับ จากการปฎิบัติหน้าที่รักษาผืนป่ากลับกลายเป็นจำเลยในชั้นศาลในคดีรุกล้ำพื้นที่หน้าที่รับผิดชอบของตนเอง ข้าราชการชั้นผู้น้อยถูกกลั่นแกล้งจากระบบที่ไม่ชอบธรรม โดยทางกรมอุทยานฯ ในปัจจุบันนั้น ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ได้เพิ่มความเข็งแรงในมาตรา 64 ให้ราษฎรมีที่ทำกิน เก็บหาของป่า บนผืนป่าอนุรักษ์ได้ เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. เพียงแต่คนที่ครอบครองไม่ใช่เกษตกรแต่เป็นกลุ่มทุนที่ไม่ได้มีการทำเกษตรหรือตามเงื่อนไขของพื้นที่ปฎิรูปนี้

เจ้ากรมแผนที่ทหารออกแนวเส้นใหม่เพื่อเอื้อให้ ส.ป.ก แล้วคดีความที่เคยดำเนินไปจะเป็นโมฆะเหมือนแต่ก่อนไหม รูปแบบของการได้ของ ส.ป.ก. หรือขวนการที่ทำให้เกิดเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 มานั้นได้มาโดยมิชอบ รูปแบบการออกมาของพื้นที่เหล่านี้มีลักษณะเหมือนกัน อีก 5 ปีก็จะเกิดการออกโฉนดที่สมบูรณ์สามารถจับมือกับกลุ่มทุนไปพัฒนาพื้นที่ได้

หากข้าราชการมีความซื่อสัตย์ทำตามแผนที่กำหนดไว้ จะไม่เกิดปัญหาแบบนี้เราต้องมาดูว่าใครเป็นคนทำ ทำได้อย่างไร ต่อมากรมแผนที่ทหารก็มารับรองแนวเขตนี้อยู่ใน ส.ป.ก. แต่กรมแผนที่ทหารไม่ใช่ตัวชี้ขาดแต่ต้องยึดตามแนวเขตพระราชกฤษฎีการกำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ปี พ.ศ. 2505 การกระทำนี้เป็นการเอื้อต่อคนกระทำผิดหรือป่าว? นโยบายที่ผ่านมามีความผิดเพี้ยนมาโดยตลอด

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

บรรทัดฐานของการจัดการพื้นที่

นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นว่า ทางมูลนิธิสืบฯ ไม่ได้ขัดข้องหากมีการสำรวจพื้นที่ให้ผู้ยากไร้ แต่พื้นที่บริเวณนี้พื้นที่โดยรวมมีการซื้อขายเปลี่ยนสภาพโดยกลุ่มทุน ทางมูลนิธิสืบฯ มีความกังวลต่อบรรทัดฐานการจัดการพื้นที่ในอนาคตที่จะยึดตาม อช.ทับลาน หากมีการออกที่ดินอย่างไม่ชอบธรรม ผิดวัตถุประสงค์ของการทำเกษตร  

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติครั้งที่ 1/2567 ครม. มีมติเห็นชอบต่อคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติให้ความเห็นมาที่ ครม. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 43 (อ้างถึง มติ ครม. 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ให้ดำเนินการ)

1. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจเเนวเขต ปี 43 (อ้างถึง มติ ครม. 22 พ.ย. 65 ให้ดำเนินการ)

2. เห็นชอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

เห็นชอบให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกิน

3. เห็นชอบให้ภาครัฐ ประกาศหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ มีส่วนร่วมดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้ยกเว้น มติ ครม. 30 มิถุนายน 41 ข้อที่ว่า รัฐ จะไม่นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและป่าอนุรักษ์ตามมติ ครม. ไปดำเนินการตามกฎหมายว่า ด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เฉพาะในกรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน

หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกแนวเชื่อมต่อที่ถูกพื้นที่ ส.ป.ก. ประกาศนั้นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศที่ป่านั้นเป็นเกาะแก่ง การเพิกถอนพื้นที่แห่งนี้ขัดต่อยุทธศาสตร์ของกรมอุทยานฯ ในการเพิ่มพื้นที่ป่า อยากให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

นายภาณุเดช เกิดมะลิ

มุมมองด้านนิเวศวิทยา

รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า แต่ก่อนนั้นเราเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “ดงพญาไฟ” ก่อน พ.ศ. 2496 เคยเป็นป่าไม้ถาวรมาก่อน ในอดีตนั้นสัตว์ป่าเคยอยู่ในพื้นที่ด้านนอกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับสัตว์ป่ามากกว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ แต่ในปัจจุบันนั้นความเจริญได้ผลักให้สัตว์ป่าเข้าไปอยู่พื้นที่ด้านในซึ่งมีสภาพแวดล้อมแย่กว่าเนื่องจากเต็มไปด้วยภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองเพียง 20% ที่รับผิดชอบโดยกรมอุทยานฯ มีพื้นที่ราบเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และในพื้นที่ราบ 7 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ในทางกลับกันพื้นที่ของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ใช้ได้มีเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งป่ายังมีสภาพเป็นเกาะแก่ง สร้างความท้าทายต่อการผสมพันธุ์และวิวัฒนาการในอนาคต

หลังจากที่มีถนนทางหลวงหมายเลข 304 นั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่ในบางส่วนที่เป็นของ ส.ป.ก. นั้นมีความคาดเกี่ยวกับพื้นที่มรดกโลกที่รับรองโดย UNESCO หากมีสภาพป่าที่ลดน้อยลง ความเจริญที่มากขึ้น สัตว์ป่าที่ขาดความหลากหลาย ก็อาจจะเสี่ยงถูกถอดถอนจากมรดกโลกทางธรรมชาติ เช่น จุดเชื่อมโยงที่สำคัญในบริเวณเขาแผงม้าของฝูงกระทิงที่ไม่ต่อเนื่อง พื้นที่ทางเกษตรกรรมที่ถูกประกาศทับซ้อนพื้นที่หากินของสัตว์ป่าจะจะได้รับผลกระทบจากช้างป่าอย่างแน่นอน การเชื่อมโยงของผืนป่าจึงมีความสำคัญมาก 

ป่าเสื่อมโทรมส่วนใหญ่เหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า เนื่องจากต้องการพื้นที่ราบเพื่อความสะดวกต่อการหาอาหารอีกทั้งหญ้า พุ่มไม้ ที่ขึ้นในบริเวณนี้เป็นโปรตีนชั้นดีของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ ทุกตารางเมตรที่เป็นพื้นที่ราบนั้นแล้วมีความสำคัญทั้งนั้นแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ต้องการระบบนิเวศที่หลากหลาย สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากสัตว์ป่า ความเชื่อมโยงจึงสำคัญ เราจะทำให้อนุรักษ์และการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ภาพรวมปัญหาสิทธิและที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั่วประเทศ

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความเห็นว่า อยากให้ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายระหว่างกฎหมายอนุรักษ์ที่ดูแลพื้นที่สีเขียวและการมอบที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้เพื่อให้มีที่ทำกินตาม พ.ร.บ ปี พ.ศ. 2518 โดยให้พิจารณาป่าเสื่อมโทรมให้แก่หน่วยงานปฎิรูปที่ดิน แต่ปัญหามีอยู่ที่ว่าพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมทั้งหมด

ความไร้ประสิทธิภาพของการประสานงาน ทำให้เกิดความผิดภาพของรูปแบบพื้นที่ จากนั้นจึงมีการทำข้อตกลงร่วมกันที่มุ่งไปในการเอาป่าที่สมบูรณ์กลับคืนมาแต่ไม่ได้เขียนผืนป่าถาวรตาม พ.ร.บ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ดังนั้นการส่งพื้นที่ให้แต่ละส่วนนั้นมีการทำงานแบบลวกๆ ทำให้จัดหลักเกณฑ์ไม่ได้ อาทิ ปัญหาเรื่องแปลงปลูกป่าที่ติดไปด้วย จากการที่ ส.ป.ก. ไปเดินรังวัดก็ไม่ได้เคยตรวจเรื่องแปลงปลูกป่า กรมพัฒนาที่ดินที่มีหน้าที่ทำแผนที่ก็ไม่เคยตรวจ เนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะในแต่ละหน่วยงาน การที่จะเพิกถอนแปลงปลูกป่าเนื่องจากนำงบประมาณของรัฐไปปลูกแล้ว ทำให้ปัญหาเหล่านี้เป็นประเด็นรายละเอียดของแต่ละหน่วยงาน

ในอดีตการเดินรังวัดมีขั้นตอนเยอะแต่มันไม่เกิดการทำที่สมบูรณ์ ส่งผลให้พื้นที่ขาดการตรวจสอบและแจกจ่ายสิทธิ์ หากต้องการป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคต การสอบสวนสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจังมากกว่านี้ กรมที่ดินมีเอกสารออกโฉนด น.ส.3 แต่ ส.ป.ก. ไม่มี หากมีกฎกระทรวงก็จะไม่เกิดความสับสนน

นาย ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยอมรับว่าการทำงานของ ส.ป.ก. นั้นมีความผิดพลาดจริงและจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดแก่ผู้กระทำผิด โดยขอให้อย่าเหมารวมว่า ส.ป.ก. นั้นเป็นคนไม่ดีเพราะจุดมุ่งหมายของกระทรวงเกษตรฯ นั้นคือช่วยเหลือเกษตกรให้มีที่ทำกิน รวมถึงการให้ความเป็นธรรมในด้านกฎหมายแก่ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้ อีกทั้งยังยืนยังว่าทุกสิ่งที่ทำไปเป็นไปตามกระบวนการทางยุติธรรม ส.ป.ก. จะไม่มีความขัดข้องอันใดหากกรมอุทยานอยากได้พื้นที่คืน แต่ขอเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายโดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หากไม่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นก็จะต้องส่งกลับให้ ส.ป.ก. แต่มีการให้การเท็จจึงเป็นเรื่องที่ต้องสืบสวนกันต่อไป อีกแง่มุมนึงคือ ชาวบ้านที่สืบสิทธิ์อยู่รอบเขตอุทยานฯ นั้นมีการใช้วาจากล่าวอ้างว่าบรรพบุรุษของตนเคยเข้าไปทำกินในบริเวณอุทยานฯ แต่ก็ไม่ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเชิงเอกสารเพราะการประกาศกฤษฎีกา พ.ศ. 2505 นั้นถือเป็นข้อกฎหมายเด็ดขาดในการกำหนดพื้นที่

ในประเด็นสุดท้าย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ได้ให้ประเด็นที่น่าสนใจว่าอาจเป็นนัยยะทางการเมืองแอบแฝงเนื่องจากความไม่ชัดเจนที่อาจจะทำให้เรื่องนี้จบลงได้ยาก เช่น หนังสือของกรมแผนที่ทหารที่มาเดินวัดกำหนดเขตใหม่นั้นจะกลาย เป็นกระบวนการสื่อสารเท่านั้น แต่ไม่ได้มีสภาพที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะรู้ได้ว่าจะนำไปปฎิบัติอย่างไร ในเอกสารที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นได้ส่งถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในเรื่อง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เอกสารฉบับนี้จึงถูกมองว่าถูกนำไปใช้เพื่อตอบโจทย์อย่างอื่นมากกว่าที่เป็นประเด็นอยู่

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งว่า

1. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นหลักปฏิบัติและประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า จะไม่มีการนำที่ดินตามแนวเขตกันชนกับป่าหรือพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างหน่วยงานมาใช้แบ่งหรือจัดสรรเป็นที่ดิน ส.ป.ก. อย่างเคร่งครัด และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้มีการปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อคงความเป็นป่าธรรมชาติไว้ โดยขอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและอนุรักษ์พื้นที่ป่า ดังกล่าวด้วย

2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) กระทรวงกลาโหมกระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐทุกประเภท จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อเข้าสำรวจและหาข้อยุติร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนอื่น ๆ ที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานให้แล้วเสร็จ ทุกพื้นที่โดยเร็ว และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบด้วย

ภาพรวมของทางออกการแก้ไขปัญหานั้นจะต้องใช้กลไกของ คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (ค.ท.ช) เพื่อให้เรื่องนี้ถูกแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อความละเอียดที่มากยิ่งขึ้นในภาคปฎิบัติ

โดยสรุปแล้ว หากเรามองในฐานะของประชาชนผู้สังเกตการก็จะพบความผิดแปลกมากมายแกขบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดเมื่อเทียบไทม์ไลน์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้มีจิตใจนักอนุรักษ์ที่อยากจะรักษาผืนป่าไว้ ต้องเจ็บช้ำจากการที่พื้นที่ของตนนั้นโดนเปลี่ยนไปเป็นที่ดินในรูปแบบอื่น ในส่วนของ ส.ป.ก ก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดสรรแหล่งพื้นที่ป่าเสื่อม โทรมให้แก่ประชากรผู้ยากไร้หากแต่ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสถึงการพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นมีความยากจนจริงๆไม่ใช่กลุ่มนายทุนผู้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ เรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงรอการพิสูจน์ในชั้นศาล ถึงข้อกฎหมายที่จะนำมาอธิบายเหตุการณ์ที่ยุ่งเหยิงเหล่านี้

“แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากเรื่องราวเหล่านี้จบลงในรูปแบบไหนก็ตามก็จะเกิดคำถามตามมาว่า เราจะทำให้ความเจริญกับการอนุรักษ์พัฒนาไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืนโดยเกิดประโยชน์ทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร”

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia