ประเทศไทยนั้นมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งผืนดินและท้องทะเล หากเราเปรียบผืนป่าทั้งหมดภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นประเทศหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ผืนป่าไทยเปรียบเสมือนเมืองหลวงของสรรพสัตว์ในภูมิภาคแห่งนี้
ความอุดมสมบูรณ์นั้นเกิดขึ้นจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลาง โดยการกระจายตัวของสัตว์ป่าทางตอนเหนือือของประเทศจะอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์อินโดจีน (Indochinese region) และสัตว์ป่าที่มีการแพร่กระจายทางตอนใต้ของประเทศจะอยู่ในเขตสัตวภูมิศาสตร์ซุนดา (Sundaic Region) จนนำไปสู่การพิจารณาให้ศักดิ์ผืนป่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ คือ ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
ด้วยนิเวศป่าที่หลากหลาย มีสัตว์น้อยใหญ่ที่คอยค้ำจุนความสมดุลของธรรมชาติไว้ โฮโมเซเปียนส์ (สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา) อย่างพวกเรานั้นจึงมีหน้าที่ปกปักษ์รักษาความหลากหลายนี้ไว้ ด้วยการเป็นกระบอกเสียงในการปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรมไปกว่านี้จากกิจกรรมของมนุษย์ที่ไร้ขอบเขตต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และคำนึงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพราะผืนป่าทุกตารางนิ้วของประเทศเป็นของคนไทยทุกคนที่ควรสงวนหวงแหนไว้ให้ลูกหลาน
การขยายตัวของเมืองถือเป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในตัวเองอยู่แล้วแต่อยู่ที่ว่าเราจะลดผลกระทบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน จากพื้นที่ธรรมชาติที่ลดลงส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของสรรพสัตว์ในพื้นที่ อาทิ ขอบเขตการสืบพันธุ์ที่ลดลงส่งผลให้ประชากรมีอัตราเกิดที่ต่ำกว่าเดิมหรือมีการวิวัฒนาการที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมเนื่องจากการผสมพันธุ์ผ่านสายเลือดเดียวกัน หรือพื้นที่อยู่อาศัยและอาหารของสัตว์ป่าลดลง ก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นห่วงโซ่กระทบสายใยของระบบนิเวศในบริเวณนั้น
เพื่อจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์จึงมีความสำคัญเพื่อให้เกิดความเข้าใจและอยู่ร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่กับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน โดยมูลินิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินกิจกรรมสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทางด้านตะวันตกและตะวันออก พร้อมถอดวิธีการทำงาน จนออกมาเป็นหนังสือคู่มือการสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์
สำหรับกิจกรรมการสำรวจกิจกรรมมนุษย์ที่มีผลกระทบต่อสัตว์ป่านั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลของกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีบทบาทความสำคัญต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์ในธรรมชาติ และการควบคุมประชากรเหยื่อให้อยู่ในภาวะสมดุล ส่งผลให้วัฏจักรการมีอยู่ของป่าเป็นไปอย่างยั่งยืน
โดยคู่มือการสำรวจสัตว์ป่าฯ ประกอบด้วย วิธีการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวถึงภาพรวมในกระบวนการเก็บข้อมูลและลงรายละเอียด ในส่วนต่อมาจะเป็นการเก็บข้อมูลกิจกรรมมนุษย์ สุดท้ายคือการเก็บข้อมูลในด้านสัตว์ป่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ คือ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง โดยนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ อาทิเช่น การวิเคราะห์ตัวแบบเชิงเส้นนัยทั่วไป GLMs (Generalize Linear Models) เพื่ออธิบายความสัมพันธ์เชิงเส้นระหว่างตัวแปร ได้แก่ ค่ารบกวนจากกอจกรรมมนุษย์ (Disturbance Index) ค่าความชุกชุมของสัตว์ป่า (Relative Abundance : RA) และระยะห่างจากหมู่บ้าน
ซึ่งผลที่ได้จากการสำรวจนี้ สุดท้ายคือการปรึกษาหารือร่วมกันกำหนดมาตรการลดปัญหาภัยคุกคาม การฟื้นฟูดูแลพื้นที่ป่าโดยรอบชุมชนและการพัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม รวมถึงการติดตามประเมินผลการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการในทุกๆ ปี ถือเป็นมาตรการสำคัญในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลดำเนินโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าให้เกิดความยั่งยืนจากการใช้ประโยชน์โดยรอบของชุมชน
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรด้านการอนุรักษ์ที่ทำงานเกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลประชากรสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นแม่แบบในการทำงานด้านการเก็บข้อมูล ที่ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาดำเนินการเพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อในงานวิจัยหรือการสำรวจพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามบุคคลทั่วไปที่สนใจ การทำงานด้านการอนุรักษ์บนหลักการของความอย่างยั่งยืน ก็สามารถอ่านได้ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผ่านความเข้าใจในการตระหนักรู้ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า ในชุดข้อมูลการสำรวจร่องรอยสัตว์ป่าที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าชุมชนในพื้นที่นั้นๆ อยู่ในหลักของข้อกฎหมายและตระหนักถึงความยั่งยืนต่อระบบนิเวศโดยรอบ การประเมินผลอย่างต่อเนื่องสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และมนุษย์ต่อไป
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia