เป็นเวลากว่าสามทศวรรษแล้วที่เราไม่พบการมีอยู่ของพญาแร้งในผืนป่าของประเทศไทย หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อาจะเป็นวันแห่งความรักสำหรับมนุษย์แต่สำหรับแร้งนั้นเปรียบเสมือนวันแห่งความตายที่ฝูงพญาแร้งกว่าสิบตัวรุมทึ้งซากเก้งที่อาบไปด้วยยาพิษ เนื่องจากพรานป่าใจทราม มีความต้องการหนังเสือโคร่งที่ไร้ตำหนิจากรอยกระสุนปืน สัตว์กินซากอย่างแร้งนั้นมีสายตาที่เฉียบคมและมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงบินมารุมทึ้งซากเก้งทำให้พวกมันตายเกือบยกฝูง ส่งผลให้ประชากรพญาแร้งฝูงสุดท้ายอันตรธานหายไปจากผืนป่าไทยหลายทศวรรษ
การหายไปของสัตว์กินซาก (Scavenger) อย่างพญาแร้งนั้นอาจไม่ทำให้ระบบนิเวศล่มสลายทันตาเห็น แต่ก็เป็นบ่อเกิดของการเสียสมดุลในธรรมชาติไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะทุกสรรพชีวิตล้วนเกิดมามีหน้าที่ตามธรรมชาติกันทั้งสิ้น ฟันเฟืองของสายใยความสัมพันธ์ในวัฏจักรของการก่อกำเนิด มีอยู่ และดับไปนั้นย่อมมีสิ่งที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้อยู่ในจุดที่สมดุล
หากธรรมชาติดำรงอยู่ต่อไปเป็นล้านปีโดยไม่นับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้งที่เกิดจากภัยพิบัติบนโลก ส่งผลให้เกิดการรีเซ็ตสรรพชีวิตในแต่ละยุคสมัย ห้วงเวลาการดำรงอยู่ของธรรมชาตินั้นสามารถเป็นนิรันดร์จากกฎเกณฑ์ที่มีความสมเหตุสมผลของวัฏจักรนี้
แร้งมีบทบาทสำคัญ ในระบบนิเวศโดยการกำจัดสัตว์ที่ตายแล้ว สิ่งนี้ไม่เพียงป้องกันการแพร่กระจายของโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ที่สะสมในซากสัตว์ ด้วยกรดในกระเพาะที่มีความเป็นกรดสูง สามารถย่อยซากและกำจัดเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว ยับยั้งการแพร่กระจายของโรค
ในประเทศไทย มีนกแร้งประจำถิ่นอยู่สามชนิดอย่าง พญาแร้ง (Sarcogyps calvus) แร้งเทาหลังขาว (Gyps bengalensis) แร้งสีน้ำตาล (Gyps indicus) และแร้งอพยพสองชนิดอย่าง แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis) แร้งดำหิมาลัย หลายสายพันธุ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนกแร้งโลกเก่า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับนกแร้งโลกใหม่ที่พบในอเมริกา แต่ทำหน้าที่ทางนิเวศวิทยาคล้ายคลึงกัน
ทัศนคติของคนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นสัตว์ ที่ดูไม่ค่อยน่ารักนัก ค่อนข้างจะอัปลักษณ์ คนไทยมักจะชอบเรียก มันว่า ‘อีแร้ง’ โดยนำพฤติกรรมการรุมทึ้งซากสัตว์ที่ตายแล้ว ของมันมาเป็นคำหยาบอย่าง ‘อีแร้งทึ้ง’ ทำให้ภาพลักษณ์ของอีแร้งยิ่งดูน่ารังเกียจ น่าขยะแขยงมากยิ่งขึ้น แต่หากเรามองทะลุเปลือกนอกเข้าไปให้ลึกซึ้งในความดีงาม เราจะเห็นว่า ‘อีแร้ง’ เป็นสัตว์ที่ไม่เบียดเบียนหรือรุกรานใคร แม้มันจะกินเนื้อแต่ก็เป็นเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น ธรรมชาติมอบหมายหน้าที่ให้มาเป็นหน่วยเทศบาลโดยเฉพาะ
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประชากรแร้งทั่วเอเชียมีจำนวนลดลงอย่างมาก รวมถึงประเทศไทย นอกเหนือจากกินซากสัตว์ที่อาบยาพิษจากพรานป่า แร้งอพยพอย่างแร้งน้ำตาลหิมาลัยและแร้งดำหิมาลัยยังได้รับผลกระทบจากการการใช้ยาไดโคลฟีแนค (Dicrofenac) ที่ใช้รักษาอาการปวดและการอักเสบในปศุสัตว์ เมื่อนกแร้งกินซากสัตว์ที่ได้รับยาตัวนี้เข้าไป จะตายอย่างทุกข์ทรมานจากภาวะไตวาย ส่งผลให้แร้งอพยพเหล่านี้ มอัตราการเสียชีวิตสูง นำไปสู่การสูญพันธุ์ของนกแร้งทั่วอนุทวีปอินเดีย ปัญหานี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 เมื่อจำนวนนกแร้งหลายสายพันธุ์ในเอเชียใต้ลดลงกว่า 900 เปอร์เซ็นต์ ผลกระทบดังกล่าวได้ทำให้แร้งอพยพในไทยมีจำนวนที่ลดลงอีกด้วย
ในส่วนของแร้งประจำถิ่นของไทยทั้งสามชนิดมีสาเหตุการสูญหายไปหลายประการ อาทิ ที่อยู่อาศัยถูกคุกคาม การสาธารณสุขที่ดีขึ้น เห็นได้จากภาพจำของหลายคนเกี่ยวกับเรื่องแร้งวัดสระเกศที่มารุมทึ้งซากศพของผู้คนที่เสียชีวิตจำนวนมากจากโรคระบาดในสมัยพ่ออยู่หัวรัชกาลที่ 5 จนทำให้เผาไม่ทันต้องนำศพไปกองไว้ และในสมัยนั้นวัดภายในพระนครไม่มีเมรุเผาศพ ต้องนำออกไปเผาข้างนอกเท่านั้น แร้งที่ปรากฏในภาพถ่ายนั้นเป็น แร้งเทาหลังขาวที่เข้ามากินซากศพจำนวนมาก เมื่อซากศพถูกกำจัดด้วยการเผาจากการระบาดที่ชะลอตัวลง จึงส่งผลให้แร้งอพยพไปที่อื่นในที่สุด ต่อมาคือการกินซากที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้อัตราประชากรแร้งลดลงและอันตรธานหายไปจากผืนป่าไทยในที่สุด
แร้งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เกี่ยวพันกับการมีอยู่ของเสือโคร่ง โดยบริเวณผืนป่าห้วยขาแข้งเป็นความหวังเดียวที่จะฟื้นฟูพญาแร้งกลับมาได้ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของฝูงแร้ง และยังเป็นที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุด ซึ่งหมายถึงแร้งสามารถอยู่รอดได้ด้วยซากสัตว์ที่เสือเป็นผู้ล่าไว้ การมีอยู่ของเสือจึงหมายถึงหลักประกันแหล่งอาหารต่อการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง อันเป็นหนึ่งในสมดุลสัมพันธ์ที่เคยเลือนหายไปให้ฟื้นกลับมาใหม่ ซึ่งี่กำลังดำเนินการอยู่ภายใต้ โครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ ที่มุ่งเป้าหมายไปที่การเพิ่มประชากรแร้งเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการสร้างเขตพื้นที่สำหรับแร้งที่สามารถให้อาหารและเฝ้าติดตามการผสมพันธุ์ได้อย่างปลอดภัย
ปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 พญาแร้งฟักไข่ใบแรกกลางป่าห้วยขาแข้ง ลูกพญาแร้งตัวแรกนี้ได้สร้างความหวังสู่การฟื้นฟูประชากรแร้ง หลังจาก ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูฯ ร่วมกันราว 2 ปี ทั้งสองได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ในที่สุด เจ้าลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกแล้ว ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในประเทศไทย
เรื่องราวความรักพญาแร้ง ณ ห้วยขาแข้ง (กรงฟื้นฟู)
หลังจากเตรียมความพร้อมสถานที่โดยการสร้างกรงสำหรับรองรับพญาแร้งที่ย้ายมาจากกรงเลี้ยงของสวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 1 ตัว และจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 1 ตัว จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล จัดทำทะเบียนประวัติอัตลักษณ์ ตรวจสุขภาพพ่อแม่ก่อนคัดเลือก และฝึกปล่อยในกรงเลี้ยง
‘แจ๊ค’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์นครราชสีมา เป็นตัวผู้ที่ได้รับเลือกเข้าโครงการ แต่ก่อนการเคลื่อนย้ายมาที่เขตรักษาพันธุ์ห้วยขาแข้ง มีอาการป่วยจากเชื้อราลงปอด ทำให้ ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้ขี้อายที่มีสุขภาพดีรองลงมาได้รับคัดเลือกเข้าโครงการแทน
ส่วน ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมีย จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เธอคือเพศเมียที่ถูกเลือก เนื่องจาก ‘นุ้ย’ ได้จับคู่ผสมพันธุ์กับ ‘ตาล’ อยู่
ป๊อกเดินทางกว่า 359 กิโลเมตร จากสวนสัตว์นครราชสีมาเพื่อมาหาสาวมิ่งที่สถานีเพาะเลี้ยงห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มีอุปสรรคระหว่างทางมากมาย อย่างความร้อนที่แตกต่างกันระหว่างสองพื้นที่ทำให้ทีมงานต้องแข่งกับเวลาเพื่อไม่ให้ป๊อกเป็นอันตรายระหว่างมาเจอเจ้าสาว ‘มิ่ง’
ซึ่งก่อนที่ มิ่ง และ ป๊อก จะเดินทางไปสู่เรือนหอ (กรงฟื้นฟู หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) จะต้องผ่านกระบวนการเทียบคู่เพื่อศึกษาการเข้าคู่กันหรือยอมรับกันของพญาแร้งเสียก่อน โดยการนำป๊อกและมิ่งเลี้ยงในกรงข้างกัน ถ้าทั้งคู่ยอมรับกันจะเปิดประตูที่เชื่อมระหว่างกรงเพื่อให้ทั้งคู่ได้เจอกัน
หลังจากเปิดประตูที่เชื่อมระหว่างกรงใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง มิ่ง พยายามเดินเข้าหาและกินอาหารในกรงของ ป๊อก เมื่อ มิ่ง กินอาหารเสร็จ ขึ้นเกาะขอนไม้ของป๊อก พอ ป๊อก เห็นก็พยายามแสดงพติกรรมว่าขอนไม้นี้ของป๊อก โดยการบินขึ้นขอนไม้ที่มิ่งเกาะอยู่ และ มิ่ง ก็บินหลบไป ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีทั้งคู่ไม่มีการต่อสู้หรือทำร้ายกันนับว่าเป็นการยอมรับกันครั้งแรกของคู่พญาแร้ง
แต่บทพิสูจน์ความรักของทั้งคู่ยังไม่จบ พอถึงเวลานอน ทั้งคู่ต่างฝ่ายต่างนอนในที่ของตนเอง วันต่อมาเริ่มขยับเข้ามานอนใกล้ๆ กัน และเริ่มแสดงพฤติกรรมการเข้าคู่กันมากยิ่งขึ้นด้วยการไซร้ขนให้กัน จนถึงด่านสุดท้ายทั้งคู่เริ่มกินอาหารด้วยกัน และนั่นทำให้ทางโครงการฯ ตัดสินใจพาทั้งคู่เข้าสู่เรือนหอ
14 กุมภาพันธ์ 2565 เดินทางสู่วันวิวาห์ของ ป๊อก และ มิ่ง หลังจากปล่อยทั้งคู่แล้ว ป๊อก บินเข้าหาขอนไม้ และใช้เวลาถึงเดือนในการบินขึ้นคานกรงที่สูงถึง 20 เมตร ส่วน มิ่ง ใช้เวลาในการสยายปีกสักพักหนึ่ง แต่เนื่องจากทั้งคู่เคยอยู่กรงขนาดเล็กทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนากล้ามเนื้อปีกให้แข็งแรง ถึงจะบินขึ้นรังได้
มิ่ง ใช้เวลากว่า 8 เดือนในการพัฒนากล้ามเนื้อปีก เพื่อบินขึ้นรังเทียมที่ทางทีมงานได้ทำไว้ให้ โดยมีความสูงจากพื้นที่ 12 เมตร พอขึ้นรังได้แล้วก็จัดแจงแต่งตัวรอ
เข้าสู่ช่วงฤดูผสมพันธุ์ของพญาแร้ง ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ป๊อก เริ่มมีพฤติกรรมคาบกิ่งไม้เพื่อตกแต่งรังเอาใจ มิ่ง และมิ่งก็ยอมบินขึ้นมาชมเชยรังเทียมอีกรังที่สูง 15 เมตร
จนเข้าสู่เดือนธันวาคม มิ่ง บินขึ้นไปตรวจรังเทียมที่สูง 15 เมตร ส่วน ป๊อก ก็คาบไม้มาตกแต่งรังตามเคย แต่คราวนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ ทั้งคู่ได้ใช้เวลารวมกันบนรังคอยตกแต่ง หยิบไม้เข้า หยิบไม้ออก จนจบช่วงฤดูผสมพันธุ์ของพญาแร้ง ทั้งคู่ยังไม่ตกลงใจเป็นของกันและกัน
จนเวลาร่วงเลยมาถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ในปี 2566 เดือนตุลาคมเราได้เห็น มิ่ง เดินตรวจรังอีกครั้งทำให้เริ่มมีความหวังว่าทั้งคู่จะได้ผสมพันธุ์กัน
วันที่ 24 พฤศจิกายน กล้องวงจรปิดจับภาพได้เห็น ป๊อก-มิ่ง ขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรก ด้วยความที่เป็นครั้งแรกทำให้ยังผสมพันธุ์ไม่สำเร็จ และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ป๊อก พยายามขึ้นผสมอีกครั้งและคาดว่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ผสมพันธุ์สำเร็จสูง ในวันต่อมา ป๊อกก็พยายามอีกหลายครั้งจนทำให้ทีมงานมั่นใจว่าสำเร็จแน่ๆ
และก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง ในวันที่ 17 ธันวาคม 2566 มิ่งวางไข่พญาแร้งใบแรกในป่าห้วยขาแข้ง ทั้งคู่แสดงพฤติกรรมการกกไข่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระยะเวลาก่อนจะฟักเป็นตัวจะใช้ระยะเวลา 55-60 วัน ทั้งคู่พลัดกันกกไข่ กลับไข่ ไปมา เพื่อให้ได้รับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
จนไข่เข้าสู่วันที่ 54 เวลาเที่ยงวันทีมงานเริ่มเห็นรูเล็กๆ บริเวณเปลือก ทีมงานเริ่มใจฟูและเกาะติดจอกล้องวงจรปิดที่บันทึกทุกความเคลื่อนไหว และพอช่วงสายๆ รูที่เปลือกไข่เริ่มขยายพอๆ กับเหรียญสิบ ได้เห็นจงอยปากเล็กๆ ค่อยๆ กะเทาะเปลือกออก จนในที่สุดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 15.00 น. ทีมงานได้เห็นเจ้าตัวน้อยค่อยๆ ขยับปีกขยับตัวออกจากเปลือกไข่สำเร็จ (รอทีมงานสรุปผลอย่างเป็นทางการ และจะปรับปรุงข้อมูลอีกครั้ง)
พฤติกรรมแรกของป๊อกที่เห็นคือ ป๊อก พยายามขย้อนอาหารออกมาและเอากลับเข้าไป นี่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของพญาแร้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญของโครงการฯ ในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง
สถานการณ์ของนกแร้งในประเทศไทยเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนภายในระบบนิเวศ และผลกระทบร้ายแรงที่การกระทำของมนุษย์อาจมีต่อสัตว์ป่า ความพยายามในการอนุรักษ์จะต้องมีความจริงจังมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากการผสมผสานระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย ความตระหนักรู้ของสาธารณชน
การปกป้องนกแร้งไม่ได้เป็นเพียงการอนุรักษ์สัตว์ชนิดเดียวเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ในการสนับสนุนความยั่งยืนทางชีวพันธุ์ และการปกป้องสุขภาพของสัตว์ป่า เมื่อกิจกรรมของมนุษย์เกิดการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา เราจำเป็นต้องตระหนักถึงคุณค่าของอีแร้งต่อระบบนิเวศและสังคมมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ
อ้างอิง
- ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?
- ปฏิบัติการพาพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนป่าเมืองไทย
- Cattle drug threatens thousands of vultures
- Rare vulture lays first egg
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia