ตลอดปี 2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ผลิตงานสื่อสารในรูปแบบเกร็ดความรู้ รายงานผลงานองค์กรตามแผนงาน ตลอดจนบอกเล่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ รวมกว่า 300 ชิ้นงาน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ seub.or.th และกระจายสู่โซเชียลมีเดียองค์กร เช่น Facebook X Instagram เป็น 3 ช่องทางหลัก
จากผลงานที่เผยแพร่ไป มีงานหลายชิ้นได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก บ้างเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม ขณะที่ผลงานบางชิ้นอย่างเชิงความรู้ เรื่องราวของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มียอดการอ่านมาจากสืบค้นเกือบตลอดทั้งปี แม้จะไม่ได้ผลิตซ้ำผ่านโซเชียลมีเดียแล้วก็ตาม
ก่อนผ่านปี ชวนย้อนดูผลงานเด่นที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่าน มีเรื่องอะไรบ้าง ใน 10 บทความเด่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประจำปี 2567
เสียงร้องเพลงและการเดินทางของ ‘วาฬหลังค่อม’
การใช้เสียงยังถือเป็นการสื่อสารที่สำคัญต่อสัตว์อย่างวาฬในอีกหลายๆ มิติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวาฬเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาขนาดเล็ก ประสาทการมองเห็นจึงไม่ดีสักเท่าไหร่ อีกทั้งระบบประสาทการรับกลิ่นก็มีประสิทธิภาพด้อย ไม่เด่นเหมือนสัตว์บก วาฬจึงต้องอาศัยการฟังและส่งเสียงแทนประสาทอื่นๆ และใช้ทักษะนี้เป็นผัสสะหลัก ก็คล้ายๆ กับระบบโซนาร์ วาฬจะส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับวัตถุต่างๆ แล้วสะท้อนกลับมาสู่ประสาทหูของวาฬเพื่อคำนวณระยะทางและขนาดของวัตถุ
อ่านบทความ เสียงร้องและการเดินทางของ ‘วาฬหลังค่อม’
‘เสือปลา’ แห่งเขาสามร้อยยอด การดำรงอยู่อย่างพึ่งพิงระหว่างคนกับสัตว์ป่า
แม้เสือปลาจะไม่ใช่สัตว์ป่าที่คนทั่วไปรู้จักมักคุ้น แต่ด้วยความที่เขาสามร้อยยอดมีเสือปลาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติมากที่สุดในประเทศไทย หรือในอีกด้านก็ยังพูดได้ว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของการรักษาจำนวนประชากรที่เหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว และไม่มีที่ไหนในประเทศพบเห็นเสือปลาไปมากกว่านี้อีกแล้ว ก็พอจะเป็นเรื่องเป็นราวให้เล่าได้เหมือนกัน
อ่านบทความ ‘เสือปลา’ แห่งเขาสามร้อยยอด การดำรงอยู่อย่างพึ่งพิงระหว่างคนกับสัตว์ป่า
จระเข้และอัลลิเกเตอร์ กับความเหมือนที่แตกต่างกัน
จระเข้และอัลลิเกเตอร์มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน คือลักษณะของจมูก ขากรรไกรและปาก ปากของจระเข้จะมีลักษณะที่ยาวและแหลมกว่าเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายรูปตัว V ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะมีลักษณะปากที่กว้างคล้ายรูปตัว U ซึ่งลักษณะเฉพาะที่แตกต่างนี้ถูกวิวัฒนาการให้มีความเหมาะสมกับชนิดของเหยื่อที่กิน
อ่านบทความ https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2024-217/
สาเหตุและผลกระทบของการเกิดไฟป่า
สาเหตุหลักของไฟป่าที่พบในปัจจุบันนั้นมักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การลอบวางเพลิง การตั้งแคมป์กองไฟที่ไม่ได้รับการดูแล สามารถเกิดได้จากสิ่งเล็กๆ อย่างก้นบุหรี่ที่ยังไม่ได้ดับรวมถึงการเผาขยะ และจุดเพื่อเหตุผลทางการเกษตร จนลามจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง จากการลามของเชื้อไฟหรือถูกกระแสลมพัดเอาเศษซากเชื้อไฟกระจายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงได้
อ่านบทความ สาเหตุและผลกระทบของการเกิดไฟป่า
‘ตัวลิ่น’ สัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดในโลก
คาดการณ์ว่าตัวลิ่นมากกว่าหนึ่งล้านตัวจะถูกนําออกจากป่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยการลักลอบล่าสัตว์เพื่อการค้าในตลาดเอเชียถือเป็นสาเหตุหลักของการลดลงของประชากร คาดว่าสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในบางชนิดพันธุ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะลดลงอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ในอีกสองทศวรรษข้างหน้า ด้วยเหตุนี้เอง ตัวลิ่นจึงถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการล่ามากที่สุดในโลก อัตราที่สัตว์เหล่านี้มีการซื้อขายข้ามพรมแดนระหว่างประเทศมีความผกผันเป็นอย่างมาก มีการประมาณการว่าโดยเฉลี่ยมีตัวลิ่นประมาณ 100,000 ตัว ถูกชำแหละส่งไปยังจีนและเวียดนามทุกปี
อ่านบทความ ‘ตัวลิ่น’ สัตว์ที่ถูกล่ามากที่สุดในโลก
คุณค่าและความสำคัญของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ’
ทุ่งนามอญ บริเวณทุ่งนามอญอยู่ทางด้านทิศเหนือของทุ่งสลักพระ ลักษณะเป็นหุบที่ราบสูงกว้างใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 700 เมตร เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยแม่ละมุ่น ห้วยสะด่อง และลำอีซู เป็นต้น มีน้ำตกและลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีโดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของตัวทุ่ง บริเวณนี้มีโป่งธรรมชาติอยู่หลายแห่งเช่นเดียวกับทุ่งสลักพระ จึงทำให้สัตว์ป่าจำนวนมากสามารถเคลื่อนย้ายหากินและหลบภัยระหว่างทุ่งสลักพระและทุ่งนามอญได้
อ่านบทความ คุณค่าและความสำคัญของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ’
สรุปประเด็น “เบื้องหลังเพิกถอน 2.6 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติทับลาน”
นายภาณุเดชได้ชี้แจงให้เห็นว่า อุทยานแห่งชาติทับลานมีปัญหาในเรื่องของการทับซ้อนของพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยที่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่เองก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน โดยแก่นของปัญหาหลัก ๆ คือ แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง นอกจากนี้เรายังมองว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ควรจะบริหารจัดการตามสภาพปัญหาในแต่ละจุด ซึ่งแท้จริงแล้วแต่ละหน่วยงานควรจะมาช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตลอดจนพัฒนาการทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อเป็นโมเดลสำหรับใช้ในการทำงานกับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ด้วย
อ่านบทความ สรุปประเด็น “เบื้องหลังเพิกถอน 2.6 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติทับลาน”
บทเรียนราคาแพงของ ‘ปลาหมอคางดำ’
ตามแนวทางสากลทั่วโลก ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งทางกรมประมงมีงบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องบริหาร งบจึงไม่เพียงพอสำหรับจัดการปัญหาปลาหมอคางดำระบาด “กรมประมงได้ให้วิธีการแก้ไขกับปัญหาไปในทุกขั้นตอน ถ้าหากว่าเลี้ยงแล้วไม่ประสบผลสำเร็จควรจัดการอย่างไร แต่อาจเกิดการละเลยของผู้ที่นำเข้า หรือว่าเกิดความผิดพลาดของผู้ทดลองเลี้ยง ปัญหาเลยเกิดขึ้น”
อ่านบทความ บทเรียนราคาแพงของ ‘ปลาหมอคางดำ’
จดหมายปิดผนึกกรณีป่าทับลาน ความในใจของคนทำงานต่อการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 265,000 ไร่
“ความเห็นของผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนไทย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และกฎหมายของคนส่วนรวมทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยที่จะยกที่ดินป่าอนุรักษ์ไปให้ ส.ป.ก. ดูแล เพราะเป็นช่องทางที่นายทุนจะใช้เป็นกระบวนการในการครอบครองที่ดินของคนทั้งประเทศได้แน่นอนในอนาคต” ส.ป.ก. ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะใช้แก้ปัญหาราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่าโดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ เพราะไม่ใช่การเกิดขึ้นของกฎหมาย ส.ป.ก. นี่รึ ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องรีบเร่งประกาศป่าอนุรักษ์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติทับลาน
อ่านบทความ จดหมายปิดผนึกกรณีป่าทับลาน ความในใจของคนทำงานต่อการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 265,000 ไร่
ชวนรู้จัก ‘ป่าทับลาน’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?
ลาน หรือ ต้นลาน จัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม (Palmae) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 10 – 26 เมตร ในประเทศไทยสามารถพบต้นลานได้ 2 ชนิดที่เป็นชนิดท้องถิ่น คือ ลานป่า (Corypha lecomtei) และลานพรุ (Corypha utan) ด้วยลำต้นและช่อดอกที่มีขนาดใหญ่ของต้นลาน จึงต้องอาศัยพื้นที่ในการเจริญเติบโต ดังนั้นการที่เรายังพบเห็นป่าลานในธรรมชาติ นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ป่าที่ยังมีความเหมาะสมและเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติทับลานในปัจจุบัน
อ่านบทความ ชวนรู้จัก ‘ป่าทับลาน’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?
หมายเหตุ ผลงานเรียงลำดับยอดการเปิดเข้าชม และไม่นับรวมเนื้อหาเชิงกิจกรรมประชาสัมพันธ์