จากข้อมูลสถานการณ์ป่าไม้ปี 2565-2566 โดยกรมป่าไม้ฉบับล่าสุดระบุว่า พื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลือเพียงร้อยละ 31.47 ของพื้นที่ประเทศ หรือ 101,818,155.76 ไร่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นแค่เพียงปีเดียวพื้นที่ป่าของประเทศไทยกลับลดลงมากถึง 317,819.20 ไร่ และปี 2566 เป็นปีที่มีพื้นที่ป่าลดลงมากที่สุดในรอบสิบปีอีกด้วย
ในขณะที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติระบุให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) รายงานฉบับปี 2561 ที่พยายามกำหนดเป้าหมายพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ว่าควรมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566 จัดทำโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ระบุในเอกสารว่าค่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุในปี 2570 คือการมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 33 พื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 13 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมทั้งป่าในเมืองและชุมชนเพื่อการเรียนรู้พักผ่อนหย่อนใจ ร้อยละ 3 เท่ากับภายในครึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยต้องมีพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 48 ของพื้นที่ประเทศ
ในปีนี้ (2567) ประเทศไทยพบกับภัยธรรมชาติทั้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินสไลด์โคลนถล่ม ในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงชีวิตผู้คน ปัจจัยหนึ่งของปัญหาคือการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบุกรุกแผ้วถางที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แนวเขตป่าและการจำแนกการใช้ที่ดินไม่ชัดเจน ไฟที่เกิดจากการเผา เป็นต้น ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จึงเป็นที่ถูกเพ่งเล็งและถูกกล่าวโทษว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมคนอยู่กับป่าในพื้นที่อนุรักษ์อย่างยั่งยืนจากหลายองค์กร ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าหลายแห่งเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่าอย่างมีนัยยะสำคัญ มีการสร้างกฎ กติกา เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ฯ และเป็นที่มาของการปรับแก้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยประกาศบังคับใช้ในปี 2562
แต่ประเด็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้และการอยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ยังคงเป็นข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว ว่ามีความสอดคล้องและเหมาะสมในการเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ และควรมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้คน ป่า สัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งสองฉบับในหมวดบทเฉพาะกาลนี้ ตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และยอมรับสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการร่วมกับรัฐ รวมถึงการรับรองการเข้าถึงสิทธิการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์
ทั้งนี้ รัฐต้องจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันกับชุมชนและกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้ โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการบัญญัติกฎหมายอนุรักษ์ที่คำนึงถึงมิติทางด้านสังคม เป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการตราร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เกิดประเด็นถกเถียง วิพากษ์ และการคัดค้าน ต่อร่างกฎหมายลำดับรองทั้งสองฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยหลักการแล้วการบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง เป็นธรรม และเป็นไปได้ หากผิดไปจากนั้นอาจนําไปสู่การขยายความขัดแย้งและไม่สามารถรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ร่วมหาทางออกร่วมกันในงานเสวนาวิชาการ วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย กับการแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่า วันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี
วัตถุประสงค์โครงการ
1. วิเคราะห์ปัญหาสถานการณ์พื้นที่ป่าลดลงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย สร้างความเข้าใจ นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความตระหนัก
2. เกิดเวทีแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาต่อพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายประยงค์ ดอกลำใย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
- นายเดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
- ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อยู่ระหว่างประสานงาน)
- นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- นางสาวชฎาภรณ์ ศรีใส มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
- นายอานันท์ รัตนเจียเจริญ โทร. 094-346 9933
- นางสาวชฎาภรณ์ ศรีใส โทร. 065-518-2970
- นางสาวอรยุพา สังขะมาน โทร. 087-084-6570
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 140 ถ.ติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 โทร 0-2580-4381 อีเมล์ [email protected]