หลายปีที่ผ่านมา รอบผืนป่าห้วยขาแข้ง พบการกระจายตัวของสัตว์ป่าออกมาหากินนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนที่ตั้งรกรากอยู่ไม่ห่างจากผืนป่ามรดกโลกอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะช้างป่า หมูป่า วัวแดง กวาง ลิง หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ
ด้านหนึ่งของผลนั้นตามมาซึ่งภาพความเสียหายของพื้นที่ เรือกสวนไร่นาที่ลงทุนและแรง ไม่สามารถให้ผลตอบแทนคืนสู่เจ้าของ ทั้งบางครั้งยังขยายไปสู่การสูญเสียทรัพย์สิน และเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คน
ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบ สัตว์ป่าถูกมองเป็นภัย (ไม่ได้น่ารักเหมือนอย่างหมูเด้ง) และบางคราวก็เกิดเป็นพาดหัวข่าวเศร้า – “วัวแดง” ป่าห้วยขาแข้ง ถูกตัดหัว-ขา ทิ้งซากในไร่ข้าวโพด – ที่แสดงออกถึงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า
เพื่อลดทอนความรุนแรงที่อาจทวีทับถม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีส่วนร่วมกับงานแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ห้วยขาแข้ง ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการธรรมชาติปลอดภัย จ.อุทัยธานี ลดความขัดแย้ง ลดความสูญเสีย เพิ่มโอกาส ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่
รวมถึง โครงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพื่อลดผลกระทบจากสัตว์ป่าใน 139 ครัวเรือน โดยกระบวนการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับป่า ผสมรวมองค์ความรู้จากหลายๆ ด้าน บูรณาการจนออกมาเป็นแผนงานและกิจกรรม ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นแผนภาพจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เริ่มตั้งแต่งานศึกษา แลกเปลี่ยนเก็บข้อมูลปัญหากับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จนเกิดฐานข้อมูลแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ (ดำเนินงานในพื้นที่บ้านเขาเขียว บ้านไผ่งาม และบ้านห้วยร่วม) และฐานข้อมูลความถี่ที่พบสัตว์ป่าเข้ามาหากินในพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน
อันนำมาสู่แผนงานที่ดำเนินการควบคู่กัน ทั้งงานเฝ้าระวัง ผลักดันสัตว์ป่าออกจากพื้นที่เกษตรกรรม และการปรับเปลี่ยนอาชีพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีสัตว์ป่าออกมา
ในด้านงานเฝ้าระวัง ได้เกิดชุดเฝ้าระวัง ที่ผ่านงานอบรมความรู้การจัดการสัตว์ป่าอย่างถูกวิธี เช่น แนวทางในการผลักดันช้างป่าอย่างปลอดภัย แนวทางในการเข้าไปเก็บหาของป่าอย่างปลอดภัย (ในพื้นที่ป่าชุมชน)
มีงานสนับสนุนงบประมาณสำหรับติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือน หอสังเกตการณ์สัตว์ป่า และอุปกรณ์ผลักดันสัตว์ป่าออกจากพื้นที่โดยไม่ทำร้ายให้สัตว์ป่าบาดเจ็บ โดยมีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเข้าร่วมลาดตระเวนในท้องที่
ขณะเดียวกัน ยังเกิดเวทีการจัดการแนวกันชนผืนป่า เช่น พื้นที่ป่าขุมชน แลกเปลี่ยนการบริหารจัดการพื้นที่รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ร่วมกับชุมชน กรมป่าไม้ เพื่อสร้างแนวทางและข้อเสนอไปสู่การจัดการพื้นที่แนวกันชนผืนป่าด้านสัตว์ป่าอย่างมีส่วนร่วม
นอกจากงานเฝ้าระวังแล้ว ยังมีกิจกรรมสนับสนุนแหล่งอาหารสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ดำเนินตามหลักวิชาการโดยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มูลนิธิสนับสนุนงบประมาณ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งอาหาร และเกิดการจัดการแหล่งอาหารแก่สัตว์ป่า
รวมถึงงานผลักดันในเชิงนโยบาย จนเกิดเป็นแผนการจัดการช้างป่าและวัวแดงนอกพื้นที่อนุรักษ์ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดทำโดย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ส่วนด้านการปรับเปลี่ยนอาชีพ สร้างรายได้เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ มีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ มาวิเคราะห์การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ การออกแบการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามกรอบกฎหมาย ชดเชยความสูญเสียตามความต้องการของชุมชน
งานส่งเสริมอาชีพได้เน้นไปที่การปลูกไม้ล้มลุกอย่างพืชสมุนไพร (แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ถูกทำลาย) อาทิ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และดอกอัญชัญ และเป็นการปลูกในลักษณะของปลูกพืชสมุนไพรอินทรีย์
ไม่เพียงแต่การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่อย่างรวมงานพัฒนาด้านการขาย ที่นำไปสู่การรวมกลุ่มวิสาหกิจสมุนไพรอินทรีย์ ตลอดจนการต่อยอด นำผลผลิตที่ได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ เช่น สบู่ ยาสระผม น้ำยาบ้วนปาก
ผลการดำเนินการที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมด้วยความสมัครใจในปี 2565 จำนวน 37 ราย คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับผลกระทบ และในปี 2566 มีผู้เข้าร่วมเพิ่มอีกจำนวน 9 ราย หรือ 6 เปอร์เซ็นต์ ก่อให้เกิดรายได้แก่สมาชิกรวม 239,000 บาท และ 138,000 บาท ตามลำดับ
ส่วนปี 2567 ได้วางเป้าหมายการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพื่อลดผลกระทบจากสัตว์ป่าใน 139 ครัวเรือน โดยกระบวนการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับป่า
กิจกรรมด้านการปรับเปลี่ยนอาชีพ บางกิจกรรมเป็นการนำองค์ความรู้ที่เคยดำเนินงานมาทั้งจากโครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก โครงการวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่าตะวันตก ตลอดจนโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาบูรณาการให้เกิดกระบวนการที่สมบูรณ์
ที่กล่าวมาเป็นภาพรวมของงานที่ดำเนินงานมาแล้ว แต่หลังจากนี้ยังมีงานที่ต้องทำต่อ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคอีกหลายข้อที่ต้องปรับปรุงและแก้ไข
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กำลังเริ่มต้นดำเนินกิจกรรมการสร้างแนวทางการจัดการพื้นที่แนวกันชนป่าห้วยขาแข้งอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้าง ‘ครอบครัวป่าห้วยขาแข้ง’ ให้เกิดการดูแลรักษาทรัพยากรของผืนป่ามรดกโลกอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน และงาน ‘สนับสนุนการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่’ ก็เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่เขียนไว้ในร่างแนวทางการจัดการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาแผนดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานในที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แนวกันชนป่าห้วยขาแข้ง
เพื่อหวังว่าในอนาคต คน กับ สัตว์ป่าที่ออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขอย่างแท้จริง
ลำดับเหตุการณ์เครื่องมือการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่
พ.ศ. 2559 เสนอปัญหาสัตว์ป่าจากการสูญเสียรายได้เกษตรกร
1. พืชไร่ถูกทำลาย สูญเสียรายได้
2. ไม่มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
3. เกิดการสูญเสียโอกาสในการสร้างคุณภาพชีวิต
4. สัตว์ป่าถูกล่าหรือทำร้าย
พ.ศ. 2562 – 2564 เริ่มพัฒนาอาชีพเพื่อลดผลกระทบสัตว์ป่า เป้าหมาย พัฒนาวิธีชดเชยรายได้และสูญเสียโอกาสทางอาชีพ พัฒนาการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อนำไปสู่วิสาหกิจชุมชน
1. พัฒนาองค์ความรู้ การผลิต การจัดการ
2. พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือทางการตลาด
3. ประสานความร่วมมือหน่วยงานอื่น
พ.ศ. 2565 – 2566 บูรณากระบวนการในการส่งเสริมอาชีพที่ชัดเจนเรื่องสมุนไพร
1. ภาครัฐเอกชนร่วมสนับสนุน
2. ยุทธศาสตร์อุทัยธานีเมืองสมุนไพร
3. วิสาหกิจท่องเที่ยว
พ.ศ. 2567 สร้างแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
1. สนับสนุนชุมชนในการนำชมทริปการเรียนรู้สัตว์ป่า
2. คืนบ้านให้กับสัตว์ป่า
3. สร้างแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่า
4. ปรับเปลี่ยนการทำเกษตรเคมีเป็นการลดและเลิกใช้สารคเมี ปลูกพืชผัก สมุนไพรอินทรีย์
5. เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งเสริมการเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า
6. ส่งเสริมอาชีพทางเลือกทางรอดของการทำเกษตรเพื่อลดความเสียหายจากสัตว์ป่า
7. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นมิตรกับผืนป่า
หมายเหตุ โครงการธรรมชาติปลอดภัยฯ และโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพ เพื่อลดผลกระทบจากสัตว์ป่าฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินกิจกรรม จากธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม