วิสัยทัศน์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2567 – 2570 

วิสัยทัศน์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2567 – 2570 

“คงคุณค่าผืนป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และชุมชน พร้อมขยายสู่พื้นที่โดยรอบ รวมถึงเป็นองค์กรอนุรักษ์หลักในการเฝ้าระวังสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดภัยคุกคามและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศด้วยหลักวิชาการ” 

นับแต่วันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2533) เป็นต้นมา การดำเนินงานของมูลนิธิสืบฯ จะมีแผนงานรายปีกำหนดเป็นนโยบายจากคณะกรรมการองค์กร ใช้งบประมาณจากดอกผลของเงินทุนและเงินสนับสนุนจากองค์กร บุคคลต่างๆ เนื้อหาของการดำเนินงานจะครอบคลุมวัตถุประสงค์หลักขององค์กร 

ตัวอย่างเช่น ในปีแรกของการก่อตั้ง มูลนิธิสืบฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ส่งเสริมสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ รณรงค์ป้องกันรักษาผืนป่า สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ โดยดำเนินการเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร 

กระทั่งมูลนิธิสืบฯ ดำเนินงานมาครบ 9 ปี ในเดือนกันยายน 2542 กำลังย่างเข้า ค.ศ. 2000 หรือปีที่ 10 ของการทำงาน คณะกรรมการองค์กรได้พิจารณาและเห็นพ้องกันว่า มูลนิธิสืบฯ จำเป็นต้องมี ‘แผนยุทธศาสตร์’ และ  ‘วิสัยทัศน์’ เพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตให้ชัดเจน โดยลำดับความสำคัญของงานที่จะปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่า มูลนิธิสืบฯ​ จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผืนป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติที่มุ่งมั่นปกป้อง ทั้งยังช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่องค์กร ตลอดจนประชาชน และผู้มีอุปการคุณทั่วไปได้แจ่มแจ้งต่อบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

โดยการกำหนด ‘แผนยุทธศาสตร์’ จะมีวาระการจัดทำหรือปรับปรุงแผนฉบับใหม่ในทุกๆ 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปของยุคสมัย ตลอดจนภารกิจที่ต้องต่อยอดไปข้างหน้า และให้มีการทบทวนแผนงานอย่างสม่ำเสมอ ก่อนจะปรับปรุงหรือเขียนขึ้นใหม่เมื่อครบตามวาระ หรือแผนงานเดิมได้บรรลุเป้าหมายไปเป็นที่เรียบร้อย

สำหรับแผนงานปัจจุบันของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ได้เริ่มใช้และดำเนินงานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป จนถึง พ.ศ. 2570 มีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ 

หลักการ

ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม ในการทำงานที่ต้องตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่รอบด้าน หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องมีวิธีแก้ไขผลกระทบที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม สมควรคงระบบนิเวศตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งกระบวนการ และให้ดำเนินการบูรณะถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อมีความจำเป็นและเป็นไปได้

ปรัชญา

ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมถึงเพิ่มพูนความเข้าใจในการอนุรักษ์ให้พวกเขาเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันในการตัดสินใจต้องมีพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องเคารพสิทธิชุมชนที่จะดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับการสงวนความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุล ยั่งยืน มูลนิธิต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นเกรงต่อปัญหาใดๆ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่าที่จะดำรงตามวิธีธรรมชาติ

วิสัยทัศน์

คงคุณค่าผืนป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และชุมชน พร้อมขยายสู่พื้นที่โดยรอบ รวมถึงเป็นองค์กรอนุรักษ์หลักในการเฝ้าระวังสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดภัยคุกคามและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศด้วยหลักวิชาการ

พันธกิจ

1. สนับสนุนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ ให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และขยายการทำงานสู่พื้นที่โดยรอบ

2. เฝ้าระวังสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า ร่วมขับเคลื่อน และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

3. สร้างการรับรู้และความร่วมมือของเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

4. มุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล

ผู้สนใจสามารถอ่านเรื่องราวการทำแผนยุทธศาสตร์องค์กร และการทำงานอื่นๆ ได้จากหนังสือ ‘บนถนนงานอนุรักษ์’ เขียนโดย รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่