บันทึกกิจกรรม การเก็บข้อมูลทรัพยากร-ทรัพยากินในป่าชุมชน ปีที่ 2

บันทึกกิจกรรม การเก็บข้อมูลทรัพยากร-ทรัพยากินในป่าชุมชน ปีที่ 2

23 กันยายน – 4 ตุลาคม ทีมงานโครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก ลงพื้นที่มาราธอนต่อเนื่องสองสัปดาห์ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชุมชน 16 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และกำแพงเพชร

กิจกรรมนี้มีขึ้นเพื่อสำรวจทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน และลงรายละเอียดเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการอนุรักษ์และดูแลป่าชุมชนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีคณะกรรมการป่าชุมชนแต่ละแห่งเป็นผู้ให้คำตอบ

รายละเอียดของการเก็บข้อมูลนั้นรวบรวมจากทั้งพืชผักที่ถูกเก็บหา หน่อไม้ เห็ดไผ่ เห็ดน้ำหมาก เห็ดโคน เห็ดหอม เห็ดระโงก เห็ดหอม สมอไท ผักหวาน บุก ผักอีนูน ไปจนถึงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู กบ อึ่ง เขียด ตุ่น กระรอก กระแต รวมถึงน้ำผึ้ง ฯลฯ อะไรที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์จะถูกไล่เรียงใส่ไว้ในตารางเป็นลำดับ

ลงรายละเอียดเชิงปริมาณ จำนวนผู้เก็บหา ปริมาณเฉลี่ยที่เก็บ ความถี่ในการเก็บในช่วงระยะเวลา 3 เดือน นำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะใด รับประทาน หรือ ขาย เปรียบเทียบกับราคาขายต่อหน่วยอิงข้อมูลจากตลาดท้องถิ่น แล้วตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ

กิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลหนที่ 2 นับจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเริ่มดำเนินโครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2566

ซึ่งการเก็บข้อมูลครั้งแรกในปีที่ผ่านมา พบมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนทั้ง 16 แห่ง สูงถึง 75,925,666.25 บาท

สำหรับการเก็บข้อมูลประจำปี พ.ศ. 2567 ในเบื้องต้น พรพันธุ์ เรืองวงษ์งาม ผู้รับผิดชอบโครงการ สรุปโดยย่นย่อว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากป่าชุมชนทั้ง 16 แห่ง ต่างจากเมื่อปีก่อน เป็นผลมาจากเหตุและปัจจัยการใช้ประโยชน์ที่ต่างไปจากเดิม เช่น ผู้ใช้ประโยชน์บางรายเลิกเก็บหาทรัพยากรจากป่าชุมชน หันไปพึ่งพาจากตลาดแทน จึงเป็นเหตุให้ข้อมูลขาดหายและไม่สามารถนำมาประเมินมูลค่าได้

ส่วนมูลค่าในเชิงตัวเลขนั้นอยู่ระหว่างการเรียบเรียงและจัดทำข้อมูล

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ามูลค่าเชิงเศรษฐกิจของป่าชุมชนจะลดลงหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่ผลลัพธ์ของการเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการป่าชุมชนทั้ง 16 แห่ง ได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า การดูแลรักษาป่าชุมชนนั้นให้ผลตอบแทนด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างไร และสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้มากมายเท่าไหร่ ซึ่งมีส่วนต่อการสร้างแรงจูงใจในงานอนุรักษ์

หรือหากมองในภาพที่ใหญ่ขึ้น ตามชื่อโครงการที่ระบุว่า ‘การสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศ’ มูลค่าทางเศรษฐกิจเหล่านั้นก็สามารถตีความได้ว่า เป็นผลตอบแทนที่มากกว่าเรื่องเงินตรา

ยิ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจมีมากเท่าไหร่ ก็ย่อมหมายถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนได้มากเท่าๆ กัน และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพนั้นยังหมายถึงความสามารถในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ที่เกี่ยวเนื่องทางคุณประโยชน์มากกว่ารายได้หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล

สำหรับ โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ประกอบด้วย

1. เพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรักษานิเวศบริการที่ดี (ปริมาณและคุณภาพน้ำ คุณภาพดินและอากาศ การจัดหาไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ เช่น เห็ด หน่อไม้) สำหรับ 4,692 ครัวเรือนบริเวณรอบพื้นที่ป่า

2. รักษาและฟื้นฟูคุณภาพป่าชุมชน 16 แห่ง เพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนและส่งเสริมให้เกิดความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. จัดการป่าชุมชนให้เป็นแนวเชื่อมต่อป่าในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม