ประเด็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่เกิดใหม่ทดแทนได้และการอยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ยังคงเป็นข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ว่ามีความสอดคล้องและเหมาะสมในการเป็นพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ และควรมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไรเพื่อให้คน ป่า สัตว์ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 จึงได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ประเด็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเกิดใหม่ทดแทนได้และการอยู่อาศัยทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อันเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่อยู่ในหมวดบทเฉพาะกาลของกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายในหมวดบทเฉพาะกาลนี้ ตราขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และยอมรับสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการร่วมกับรัฐ รวมถึงการรับรองการเข้าถึงสิทธิการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายทั้งสองฉบับ ทั้งนี้ รัฐต้องจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันกับชุมชนและกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้
การตราบทเฉพาะกาลดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าในการตรากฎหมายอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติที่คำนึงถึงมิติทางด้านสังคม และยังถือเป็นการให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
เนื้อหาในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดบางส่วน เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับได้กำหนดให้โครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวมีระยะเวลาการบังคับใช้คราวละไม่เกินยี่สิบปี จึงมีความจำเป็นต้องจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ผู้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกินในเขตพื้นที่อนุรักษ์สามารถเข้าถึงสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ตลอดจนถึงการรับรองสิทธิในลักษณะที่เป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (ซึ่งมิใช่ที่ดิน) ให้ตกเป็นของประชาชนที่ได้อยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีการออกกฎหมายลำดับรองในรูปแบบของพระราชกฤษฎีกาซึ่งจะกำหนดรายละเอียดและขยายความหลักการที่เป็นสาระสำคัญของบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ เพื่อทำให้กฎหมายมีผลเป็นรูปธรรม ซึ่งในการออกกฎหมายลำดับรอง รัฐย่อมไม่สามารถกำหนดให้มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้ง รวมทั้งจะบัญญัติเนื้อหาที่เกินไปกว่าขอบเขตของพระราชบัญญัติที่เป็นกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้ไม่ได้ด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พยายามจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อห่วงกังวลต่อเนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการฯ ดังกล่าว เนื่องจากโดยหลักการแล้ว การบัญญัติกฎหมายควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง เป็นธรรม และเป็นไปได้ แต่เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดและเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว หากดำเนินการแล้วเสร็จ อาจจะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ อีกทั้งกลไกการมีส่วนร่วมที่กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาย่อมจะเป็นการสูญเปล่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้ขอให้มีการทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว และขอให้เร่งกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมพื้นที่ที่ได้มีการสำรวจไว้แล้วไม่ให้มีการขยายเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป
จากกรณีดังกล่าว ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้ทำการยื่นจดหมายเพื่อแจ้งข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะต่อ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้มีการทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วย และในการประชุมรับฟังความคิดเห็น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ยื่นเอกสาร “ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนเนื้อหาและปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาตามดังกล่าวตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้มีการเสนอไป (รายละเอียดเอกสารแนบ 1, 2, 3)
สุดท้ายนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำกฎหมายไปถือปฏิบัติและบังคับใช้ได้จริงและเกิดความเป็นธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติหรือนันทนาการของประชาชน และเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานแห่งชาติ เป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืนและสอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศตามพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกต่อไป
- เอกสารแนบ 1 ยื่นปธ.กรรมธิการที่ดิน วันที่ 25 กันยายน 2567
- เอกสารแนบ 2 ยื่นปธ.กรรมธิการที่ดิน วันที่ 3 ตุลาคม 2567
- เอกสารแนบ 3 ร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่ชาติ พ.ศ. …. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) โดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรื่อง อรยุพา สังขะมาน และ อานันท์ รัตนเจียเจริญ