แนวทางการจัดการพื้นที่แนวกันชนป่าห้วยขาแข้งอย่างมีส่วนร่วม

แนวทางการจัดการพื้นที่แนวกันชนป่าห้วยขาแข้งอย่างมีส่วนร่วม

หากมองแผนที่ของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เราจะพบผืนป่าที่อยู่โดยรอบของพื้นที่มรดกโลกแห่งนี้ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีพื้นที่อนุรักษ์อื่นเชื่อมต่อกัน แต่สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะมีพื้นที่แนวกันชน หรือ Buffer Zone ขนานไปกับพื้นที่อนุรักษ์ตลอดแนวกว่า 200 กิโลเมตร 

แนวกันชนที่ว่านี้ เปรียบเสมือนพื้นที่ลดแรงปะทะ ทั้งจากประชาชนที่เข้ามาเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ขณะเดียวกันบางจุดเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าออกมาใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่คุณสืบ นาคะเสถียร และเพื่อนๆ ได้เขียนไว้ในเอกสารวิชาการเพื่อเสนอพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในขณะนั้น และหากเทียบกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ของประเทศไทยจะพบว่ามีพื้นที่ชุมชนประชิดกับป่าอนุรักษ์เกือบทั้งสิ้น 

การจัดการป่ากันชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ถูกผลักดันดำเนินการหลังจากที่คุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิตลง และองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีคุณชัชวาลย์  พิศดำขำ เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งต่อจากคุณสืบ  นาคะเสถียร 

ความพยายามในครั้งนั้น ก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินงานหลัก 3 ส่วน คือ (1) การวิจัยและจัดทำข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ (2) การคุ้มครองดูแลพื้นที่ป่าทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ด้านนอก (3) การบูรณาการด้านการพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผืนป่าได้ แต่เนื่องจากโครงการขาดความต่อเนื่อง ทำให้ท้ายที่สุดแนวทางดังกล่าวต้องยุติการดำเนินการลง

กระทั่งปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม จึงได้กลับมาทำงานร่วมกับชุมชนบริเวณแนวเขตกันชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าโดยส่วนใหญ่ป่าแนวกันชนยังคงสภาพป่าสมบูรณ์อยู่ ในปี 2549 จึงร่วมกันชุมชนจัดทำโครงการป่าชุมชน 30 ป่า รักษาทุกโรค ร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อเร่งเสนอจัดตั้งป่าชุมชน และต่อมา ปี 2554 ได้ขยายการทำงานเพิ่มเป็น 64 ป่าชุมชน ตลอดแนวเขตกันชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และยังร่วมกับชุมชนตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ สุพรรณบุรี และบางส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้งป่าชุมชนตลอดแนวทิศตะวันตกของผืนป่าตะวันตก รวมจำนวน 152 ป่า พร้อมการสร้างเครือข่ายคณะกรรมการป่าชุมชนเพื่อการทำงานร่วมกัน

ปัจจุบันนี้ แม้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมสิ้นสุดลง เครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชน และหน่วยงานอนุรักษ์ในพื้นที่ลดบทบาทลง แต่ป่าชุมชนยังคงทำหน้าที่เป็นแนวกันชนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอยู่ 

ซึ่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม และ 1 กันยายน 2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดงานรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเถียร และในวาระดังกล่าวได้กำหนดให้มีการจัดเวทีเสวนาป่ากันชนห้วยขาแข้ง เพื่อเชิญชวนให้เครือข่ายป่าชุมชน หน่วยงานอนุรักษ์ และหน่วยงานราชการในพื้นที่ องค์กรประชาสังคม มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานและสถานการณ์ด้านงานอนุรักษ์ในพื้นที่ Buffer Zone ป่าห้วยขาแข้ง

จากเวทีเสวนาดังกล่าวก่อให้เกิดประเด็นและแนวทางการทำงาน 6 ด้าน ประกอบด้วย 

1. ควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เสมือนเป็น ‘ครอบครัว Buffer Zone’ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและป่ากันชนห้วยขาแข้งซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ที่กรมป่าไม้รับผิดชอบดูแลตามกฎหมาย เป็นป่าผืนเดียวกัน 

2. รวบรวมข้อมูลและถอดบทเรียน เช่น ข้อมูลป่าชุมชนและคณะกรรมการป่าชุมชน สถานการณ์และภัยคุกคามบริเวณแนวกันชน ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ตัวอย่างกลุ่มอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า ข้อเสนอแนวทางความร่วมมือในการทำงานบริเวณแนวกันชน ข้อมูลสถานภาพพื้นที่แนวกันชนและหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน

3. พิจารณาแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดใหม่ทดแทนได้ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเชื่อมโยงการทำงานกับป่าชุมชน และการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่าให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4. การทบทวนข้อมูลแผนการจัดการป่ากันชนที่เคยดำเนินการจัดทำในอดีต

5. หนุนเสริมการทำงานชุมชนในการปกป้อง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โอกาสที่มีตอนนี้คือ บันทึกความร่วมมือการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น (อปท.) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ และการจัดการไฟป่า

6. พัฒนาการจัดทำ ‘แผนการจัดการป่ากันชนห้วยขาแข้ง’ เพื่อเป็นเครื่องมือของครอบครัวป่ากันชนในการทำงานร่วมกัน

จากแนวทางการดำเนินงานที่กล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ตระเตรียมการประสานงานกับครอบครัวป่ากันชน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและถอดบทเรียนในพื้นที่ 

โดยในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะจัดเวทีประชุมร่วมกับครอบครัวป่ากันชน เพื่อกำหนดกรอบทำงานในการปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า เพื่อความยั่งยืนของทุกชีวิต

ผู้เขียน

+ posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร