ก่อนเข้าป่าผมจะพูดเสมอว่า เคารพนอบน้อมด้วยใจที่แท้จริง แล้วสิ่งมหัศจรรย์มันจะเกิดขึ้น – ณรงค์ สุวรรณณรงค์

ก่อนเข้าป่าผมจะพูดเสมอว่า เคารพนอบน้อมด้วยใจที่แท้จริง แล้วสิ่งมหัศจรรย์มันจะเกิดขึ้น – ณรงค์ สุวรรณณรงค์

เรื่องราวการทำงานและชีวิตในผืนป่าของ คุณณรงค์ สุวรรณณรงค์ ถือเป็นเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความรักและการเสียสละตลอดเวลากว่า 30 ปี แต่ละภาพที่ออกมาช่างภาพผู้นี้ได้ทุ่มเทให้กับการถ่ายภาพสัตว์ป่าทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ความหลงใหลในธรรมชาติและความสงบสุขของป่าเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเริ่มออกสำรวจและบันทึกภาพสัตว์ป่าอย่างจริงจัง 

จุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพสัตว์ป่าของ ณรงค์ สุวรรณรงค์ เกิดขึ้นจากความชอบท่องเที่ยวตามแหล่งธรมชาติต่างๆ เป็นการส่วนตัว เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ทำงานพร้อมกับการถ่ายภาพบันทึกความทรงจำควบคู่ไปด้วย โดยมีหนังสือ National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษ และ BBC Wildlife ที่ตัวเองชอบอ่านเป็นเหมือนแรงบันดาลใจตั้งต้นให้หลงใหลงานรูปแบบนี้

คุณณรงค์ เล่าว่า หลังได้ไปถ่ายภาพที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวเป็นประจำ จนได้รู้จักกับ พี่หวอ คุณวรรณชนก สุวรรณกร (ช่างภาพสัตว์ป่าและเจ้าหน้าที่ป่าไม้) จนได้มาทำหนังสือ “เพื่อนไพรในภูเขียว” เพื่อให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ใช้เป็นสื่อการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวและโรงเรียนรอบๆ พื้นที่ และนับเป็นหนังสือรวมภาพสัตว์ป่าเล่มแรกที่มีชื่อ ณรงค์ สุวรรณณรงค์ ประดับอยู่บนปก และทำควบคู่ไปกับงานประจำ

ในงานถัดมา คุณณรงค์เล่าว่ามีโอกาสได้ติดตามนักวิจัยเข้าไปถ่ายภาพ ‘ค่างแว่นถิ่นเหนือ’ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้เรียนรู้เรื่องราวของสัตว์ป่าในเชิงลึก ทั้งเรื่องของพฤติกรรม วิถีชีวิตของสัตว์ป่า ตลอดจนเรื่องมารยาทของการเป็นช่วงภาพสัตว์ป่าที่ต้องไม่รบกวนสัตว์ป่า

“หนังสือหลายๆ เล่มผมเขียนจากประสบการณ์ตรง และคุยกับนักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย และอ่านเพิ่มเติม เพราะภาพที่ดีมันจะออกมาเมื่อเรารู้จักสัตว์ป่า เข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ป่า ภาพจึงจะออกมาเป็นธรรมชาติ”

หลังเดินทางถ่ายภาพในผืนป่าต่างๆ มาเป็นเวลา 20 ปี คุณณรงค์ก็เริ่มตัดสินใจออกมาทำงานเป็นช่วงภาพสัตว์ป่าอย่างเต็มตัว 

ในบทเรียนของการเป็นช่วงภาพสัตว์ป่านั้น การจะได้มาซึ่งภาพถ่ายสัตว์ป่าที่สมบูรณ์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความรักในธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรู้และการเตรียมตัวอย่างละเอียด ซึ่งมีขั้นตอนเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมตัวจากบ้าน และพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ อย่างกลมกลืนสภาพแวดล้อมหรือแบบที่เรียกว่า ‘การไร้ตัวตน’ 

ตัวอย่างเช่นเรื่องกลิ่น เพื่อไม่ให้สัตว์ป่าตื่นตัวจากกลิ่น หรือการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เช่น การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีกลิ่นอ่อนๆ เพื่อไม่ให้กลิ่นรบกวนสัตว์ป่า ซึ่งกลิ่นที่ติดตัวไปอาจทำให้สัตว์ป่าหนี เพราะสัตว์ป่ามีประสาทรับกลิ่นที่ดี จึงจำเป็นพรางตัว (ใช้บังไพร) และหลีกเลี่ยงการทำให้สัตว์รู้สึกถึงการคุกคามให้แนบเนียน 

อย่างไรก็ดี แม้จะเตรียมตัวพร้อมแค่ไหน แต่โอกาสพบเจอสัตว์ป่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งมันหมายถึง ‘โชค’ (กรณีที่ตั้งใจเข้าไปถ่ายสัตว์ชนิดใดสักชนิดแล้วเจอสัตว์ที่ต้องการทันที) บ้างอาจไปถึงการไหว้เจ้าไหว้ศาล โดยคุณณรงค์มีแง่คิดว่า “ก่อนเข้าป่าผมจะพูดเสมอว่า เคารพนอบน้อมด้วยใจที่แท้จริง แล้วสิ่งมหัศจรรย์มันจะเกิดขึ้น”

การถ่ายภาพสัตว์ป่ายังต้องการความอดทนและความตั้งใจ บางครั้งการเฝ้ารอสัตว์ป่าอาจใช้เวลาหลายวัน บางครั้งอาจไม่ได้เห็นสัตว์เลยตลอดการรอ 10 วัน แต่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้หมดกำลังใจ เพราะเชื่อว่าภาพถ่ายแต่ละภาพที่ได้มานั้นมีคุณค่าในตัวของมัน

ตลอดระยะเวลาการทำงานเป็นช่วงภาพสัตว์ป่า จวบจนถึงทุกวันนี้ คุณณรงค์ สุวรรณณรงค์ มีผลงานภาพถ่ายออกมามากมาย และตีพิมพ์หนังสือรวมภาพมาแล้วหลายเล่ม แต่หากถามถึงภาพที่ประทับใจมากสุด คุณณรงค์ หยิบยกเอาภาพ เสือดาวไล่เก้ง (หน้าปกสูจิบัตรนิทรรศภาพภ่ายสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) ซึ่งเจ้าตัวเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนที่เสือดาวย่องซุ่มอยู่บริเวณโป่ง กระทั่งมีเก้งโผล่มา และเสือดาวออกไล่

“ภาพนี้ทำให้ผมเพิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็น Wildlife Photographer หลังจากถ่ายภาพนี้ และพอนึกย้อนกลับไป มันอาจเป็นช็อตเดียวในชีวิตที่เราจะมีโอกาสถ่ายภาพแบบนี้”

แต่ถึงที่สุด สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการถ่ายภาพสัตว์ป่า คุณณรงค์ได้กล่าวยกความดีความชอบว่าเกิดมากจากงานอนุรักษ์ของหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การถ่ายภาพวัวแดง ที่เดิมหาถ่ายได้ยาก แต่ปัจจุบันพบโอกาสถ่ายภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น

“ภาพทั้งหมดเป็นผลงานของพวกท่านเหล่านั้น ผมทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ถ่ายทอด สาส์นจากป่าออกมาให้คนได้เห็นได้สัมผัส”

ถอดความและเรียบเรียงจาก เวที Talk ภาพถ่ายสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดย ณรงค์ สุวรรณณรงค์ สัมภาษณ์โดย วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม