ปรีดา เทียนส่งรัศมี รางวัลนักอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร

ปรีดา เทียนส่งรัศมี รางวัลนักอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร

1

“วันนี้ผมมาในฐานะตัวแทนชาวบ้านบูโด”

‘ปรีดา เทียนส่งรัศมี’ เอ่ยประโยคนี้ออกมาเป็นข้อความแรกหลังขึ้นรับรางวัลนักอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร และกล่าวต่อว่า

“ชาวบ้าน และเด็กๆ ให้ความร่วมมือกับผมเยอะมาก หากเขาได้ชมอยู่ก็คงประทับใจและดีใจ ที่มีคนเห็นถึงคุณค่าและงานที่พวกเราทำ ต้องขอขอบคุณมากๆ”

“ชาวบ้านบูโดใจดีทุกคน ผมไปสำรวจนกเงือกที่บูโดครั้งแรกปี 2539 และเริ่มทำงานฝังตัวในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2541 ใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาตลอด และผูกพันกับชาวบ้านมาโดยตลอด”  

“ต้องขอขอบคุณพวกเขามากๆ ทุกคนที่ช่วยผมทำงานเขาทำด้วยหัวใจโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน (ค่าตอบแทนในการเฝ้าโพรงนกเงือกไม่ได้สูงมาก) แต่สิ่งที่พวกเขาทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาล”

“เพราะนกเงือกหนึ่งตัวสร้างประโยชน์ให้กับเรามากมาย ตลอดอายุขัย 40 ปีในธรรมชาติ นกเงือกเป็นสัตว์ตื่นเช้า เราไม่เคยเห็นนกเงือกนอนตื่นสาย เขาลุกขึ้นมาปลูกป่าตลอดทุกวัน ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง เพราะสัตว์ในป่าได้ถูกคัดสรรสายพันธุ์มาแล้ว”

“นกเงือกยังปลูกต้นไม้ไปทั่วป่า ไม่สนว่าเป็นที่ของใคร ผลที่ได้ใครจะกินก็เชิญ ไม่หวงไม่ห้าม สัตว์นานาชนิดหมูป่า นกลิง ค่าง เชิญรับประทานได้เลย”

“แล้วนกเงือกก็ไม่เคยสร้างปัญหาให้กับป่าหรือหรือสังคมเลย แม้แต่บ้านที่เขาอยู่ก็เป็นต้นไม้ที่ไม่ตาย ถ้าเป็นคนต้องตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน แต่นกเงือกอาศัยโพรงรังต้นไม้ที่ยังไม่ตายเป็นบ้าน สถานที่ที่นกอยู่ต้องมีลำธาร อากาศที่บริสุทธิ์ ต้นไม้เขียวชอุ่ม ถ้ามีเสียงของมนุษย์อยู่นกเงือกก็ไม่อยู่แล้ว” 

“ผมอยากใช้ชีวิตอย่างนกเงือก” 

2

ปรีดา เริ่มต้นเล่าเรื่องราวการทำงานว่า “ผมเป็นคนไม่มีพื้นฐานทางชีววิทยา” แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้ 

“ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ได้เรียนรู้วิธีการทำงานต่างๆ และนำมาปรับใช้ในการทำงานอนุรักษ์นกเงือก”

“ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรก็ต้องไปหาคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดร.พิไล ก็เป็นตัวอย่างของคนที่มีความรู้เรื่องนกเงือก” 

“และที่สำคัญผมอยากเรียนรู้สิ่งที่ ‘กูเกิ้ล’ ไม่มีคำตอบ นั่นคือเรื่องธรรมชาติ” 

ที่นัยความหมาย คือ การได้สัมผัสประสบการณ์จริง

“ที่ผมตัดสินใจไปบูโด (อุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี) ​เพราะบูโดมีเขาสูงชัน ถ้าผมตัดสินใจเรียนหน้าคอมพิวเตอร์ ผมก็จะไม่มีโอกาสได้เดินขึ้นเขา โชคดีที่ผมตัดสินใจได้ทันว่าต้องไปอยู่นราธิวาสตอนอายุยี่สิบกว่าๆ ผมจึงได้เห็นความงามและได้เรียนรู้เยอะมาก” 

“เทือกเขาบูโดเป็นป่าดิบชื้นที่มหัศจรรย์ที่สุด ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย ผมอยากให้ทุกคนได้ออกไปเรียนรู้แบบเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องที่บูโดก็ได้ ป่าทุกแห่งล้วนมีความหมาย มีเรื่องราวที่น่าเรียนรู้ และเมื่อได้สัมผัสเราก็จะมีใจอยากดูแลธรรมชาติให้อยู่นานๆ”

3

อย่างที่เขากล่าว “ผมเป็นคนไม่มีพื้นฐานทางชีววิทยา” เพราะพื้นฐานเดิมทีนั้จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง แต่ศาสตร์ทั้งสองถูกนำมาผสมไว้ด้วยกันในงานอนุรักษ์

“ผมมีพื้นฐานทางศิลปะ ผมรู้ว่าศิลปะมีต้นทุนที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ ‘เวลา’ ทำ ทำวันเดียวอาจจะไม่เสร็จ งานวิจัยก็เช่นกัน ขณะที่ผมอยู่กับนกเงือกมาเกือบ 30 ปี ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ผมไม่รู้เกี่ยวกับนกเงือก คำถามบางเรื่องต่อให้ใช้ทั้งชีวิตก็อาจหาคำตอบไม่ได้” 

“ตอนเรียนศิลปะ ผมเรียนภาพพิมพ์ ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการซับซ้อน มันเหมือนการเก็บข้อมูลนกเงือก เราเก็บไปทำไม เก็บเพื่อจะรู้ว่าอยู่อย่างไร มันกินอะไร พฤติกรรมเป็นแบบไหน ทำรังอย่างไร เราสามารถช่วยอะไรมันได้ หากว่าสิ่งนี้หายไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับนกเงือก”

และแม้บทบาทจะถูกเรียกว่านักวิจัย แต่ปรีดาก็ไม่เคยทิ้งสิ่งที่ร่ำเรียนมา

“ผมมีเป้าหมายของผมชัดเจน คือดูแลป่า ดูแลนกเงือก ดูแลธรรมชาติให้ดีที่สุด เพื่อถ่ายทอดและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน จะด้วยวิธีไหนก็ได้ ทุกคนต่างก็มีวิธีการเป็นของตัวเอง”

“ผมใช้ศิลปะสอนเด็กๆ เพราะว่าศิลปะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะสอนผู้ใหญ่ยากหน่อย แต่เด็กๆ ที่ยังบริสุทธิ์อยู่สอนง่ายกว่า ให้เด็กถ่ายทอดความงามออกมา เพราะศิลปะกับธรรมชาติเป็นของคู่กัน”

“ผมทำสถิติเด็กที่มาเรียนศิลปะกับผมพบว่าไม่มีใครเกเรหรือติดยาเลยสักคน ทุกคนเป็นคนมีคุณภาพหมด เติบใหญ่เป็นครูอาจารย์ ตั้งชมรมอนุรักษ์ มันป็นความสำเร็จและความภูมิใจที่เราได้สร้าง” 

“เด็กที่เรียนบางคนมาช่วยงานผม มาช่วยแบกเป้แบกกระเป๋าขึ้นเขา เพียงเท่านี้ผมก็ปลื้มใจแล้ว”

4

ความเข้าใจและความรักอันบริสุทธิ์ คืออีกบทเรียนที่นักอนุรักษ์ผู้นี้ได้ถ่ายทอดไว้

“ผมเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีหัวใจรักธรรมชาติ ไม่ใช่คนพิเศษอะไร มีสองมือสองเท้า กินข้าวทีละคำเหมือนกัน แต่ถ้าเรารักธรรมชาติด้วยหัวใจจริงๆ เราจะรู้วิธีการปกป้องดูแลธรรมชาติ” 

“อย่างผมชอบนกเงือก ผมคงไม่เอาตัวไปขวางปืนของผู้ล่า แต่ผมต้องเรียนรู้ตรงนั้นก่อน เรียนรู้ว่านกเงือกป็นแบบไหน อยู่อย่างไร กินอะไร ผสมพันธุ์แบบไหน นกเงือกไปไหนมาไหนในฤดูทำรังและนอกฤดูทำรัง ผมต้องรู้ให้เยอะที่สุดก่อน” 

“อย่างเมื่อมีนกเงือกอพยพ ผมก็ต้องรู้ว่าอพยพไปเส้นทางไหนบ้าง ที่ไหนไปแล้วถูกล่า ตรงนี้คนชอบ ตรงนี้คนเกลียด เราต้องไปทำความเข้าใจกับหมู่บ้านต่างๆ เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยเหลือธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาติมีความงาม เมื่อเราพบความงามเราจะรู้สึกประทับใจและหวงแหน” 

“ผมคิดว่าการดูแลธรรมชาติเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะมันเป็นการทำเพื่อทุกคน ทุกคนต้องดื่มต้องกิน ต้องหายใจ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่าง ถ้าเราดูแลเขา รักษาเขาดีๆ เขาคุ้มครองเราเอง ไม่ต้องห่วง ว่าเขาจะทำร้ายเรา” 

“ผมมีความประทับใจหนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องอาจารย์ประดับ เต็มดี ครูผู้สอนศิลปะให้แก่ผม อาจารย์เป็นคนมมถะและมีเมตตามากๆ ครั้งหนึ่งผมเคยเห็นอาจารย์ช่วยชีวิตแมลงวันที่ตกอยู่ในถังน้ำ อาจารย์ใช้ช้อนตักแมลงวันตัวนั้นขึ้นมา หยิบกระดาษทิชชู่มาซับน้ำ จนแมลงวันบินอีกครั้ง อาจารย์ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ‘มันก็มีชีวิตนะ’ สั้นๆ แค่นั้น”

“เพราะทุกชีวิตมีความหมาย”

ถอดความ เรียบเรียงจาก เวทีสัมภาษณ์ ปรีดา เทียนส่งรัศมี รางวัลนักอนุรักษ์ สืบ นาคะเสถียร รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร A journey through coordinates วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2567

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม