บันทึกเสวนา ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลก ในวันนี้

บันทึกเสวนา ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลก ในวันนี้

ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย คือ หนึ่งในผลงานสำคัญที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของคุณสืบ นาคะเสถียร เพื่อนพ้องน้องพี่นักอนุรักษ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามผลักดันให้ผืนป่าใหญ่ทั้งสองแห่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เพื่อเป็นเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่

โดยผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 หรือ 1 ปี หลังจากคุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิต ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก 3 ข้อ ได้แก่ 

(vii) – เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

(ix) – เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในการเป็นตัวแทนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางธรณีวิทยาหรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เช่น ภูเขาไฟ เกษตรกรรมขั้นบันได

(x) – เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความหนาแน่นของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

จากวันนั้น ปี 2534 จนมาถึงวันนี้ ปี 2567 เมื่อมองย้อนกลับไปยังเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ก็พบโจทย์ที่น่าสนใจว่า หลังผ่านมา 34 ปี คุณค่าความสำคัญของผืนป่ามรดกโลกยังครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ หรือในแง่ของการทำงานดูแลรักษาผืนป่า สัตว์ป่า และระบบนิเวศ จะยังสามารถต่อยอดจากสิ่งที่พัฒนามาแล้วไปในทิศทางใด มิติไหน ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 

คุณอรุณี อิ้วเจริญ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย (คณบดีคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.โดม ประทุมทอง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 

ดำเนินรายการโดย นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เสวนา ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มรดกโลก ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567