ภาณุเดช เกิดมะลิ – เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ใช่คำตอบของการแก้อุทกภัย

ภาณุเดช เกิดมะลิ – เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ใช่คำตอบของการแก้อุทกภัย

‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง หลังพื้นที่ภาคกลางตอนบนหลายจังหวัดประสบเหตุอุทกภัย โดยมีการอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องมีเครื่องมือจัดการแม่น้ำยม ต้องหาที่อยู่ให้น้ำในแม่น้ำยม ไม่ใช่ปล่อยน้ำมากมายไหลลงมาท่วมพื้นที่ต่ำได้อย่างปัจจุบันอีกต่อไป แม้จะต้องแลกกับการสูญเสียป่าประมาณแสนไร่ก็ตาม

เรื่องเก่าที่ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่นี้ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคม ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ตลอดจนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการนำเสนอแง่มุมความคุ้มค่าด้านต่างๆ ว่าการสร้างเขื่อนจะได้หรือเสียมากกว่ากัน 

ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แสดงความคิดเห็นต่อการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ในประเด็นต่างๆ โดยสรุปไว้ดังนี้ 

การศึกษาความคุ้มค่า การประเมินผลกระทบ 

เขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เป็นโครงการที่ถูกนำกลับมาพิจารณาอยู่เป็นระยะๆ เคียงคู่โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เนื่องจากรัฐบาลในแต่ละยุค มองว่าการแก้ปัญหาอุทกภัยจำเป็นต้องใช้โครงสร้างขนาดใหญ่ในการกักเก็บน้ำ กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นต้องมีกระบวนการศึกษาเรื่องความเหมาะสม เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการสร้าง และความคุ้มการลงทุน ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นผ่านความพยายามในการศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแล้วหลายครั้ง แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณาและให้ความเห็นว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่มีความคุ้มค่า 

ขณะเดียวกัน ชุมชนในพื้นเล็งเห็นว่าการหากมีการจัดการน้ำที่เหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยได้มีการศึกษาหาทางออก และเคยยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลไปแล้ว หากรัฐบาลนำมาทบทวนอย่างจริงจัง อาจพบแนวทางที่เป็นทางออก และสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับคนในพื้นที่ และลดอุทกภัยที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เหนือน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำได้ด้วย

การแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องเสียป่า

โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้สูญเสียป่าสักทองผืนใหญ่เป็นพื้นที่ประมาณ 40,000 – 60,000 ไร่ รวมถึงระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติมีคุณค่ามากกว่าขนาดพื้นที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์จึงคัดค้านโครงการนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

ประเด็นต่อมา ทางชุมชนมีความคิดเห็นว่า ถ้ามีมาตราการจัดการน้ำที่ชัดเจน จะแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมทั้งระบบได้จริง และตอบโจทย์ได้ดีกว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะปริมาณการเก็บน้ำของเขื่อนแก่งเสือเต้นสูงสุดอยู่ที่ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มวลน้ำมีปริมาณมากกว่า 10,000  ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอ 

ประเด็นสำคัญ คือ ข้อเสนอของชุมชนในเรื่อง ‘สะเอียบโมเดล’ ซึ่งศึกษาโดยมหาวิทาลัยนเรศวร ร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน พบว่าถ้าเราจัดการน้ำทั้งระบบจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ โดยต้องเริ่มตั้งแต่การดูแลพื้นที่ต้นน้ำ รักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งป่าต้นน้ำรายล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม จึงไม่มีแหล่งดูดซับน้ำ เมื่อฝนตกหนักน้ำทั้งหมดก็จะไหลลงสู่ลำน้ำ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยให้ชุมชนเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรเพื่อเอื้อต่อการรักษาพื้นที่ต้นน้ำ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักและไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายเข้าไปส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ต้องบูรณาการงานร่วมกับหลายหน่วยงาน และต้องผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศ 

ส่วนเรื่องการจัดการน้ำ จำเป็นต้องฟื้นฟูศักยภาพจุดตัดน้ำต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงกลางน้ำ ทั้งใน จ.แพร่ จ.น่าน จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก

แม้ที่ผ่านมา โครงการสะเอียบโมเดล ไม่ถูกรัฐบาลนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง แต่ว่าท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามดำเนินการอยู่ บางพื้นที่ดำเนินการไปแล้ว แต่ระบบยังไม่สมบูรณ์พอสำหรับแก้ปัญหาทั้งหมด ที่ต้องดูทั้งระบบเส้นเลือดว่าจะทำอย่างไรจึงสามารถระบายน้ำหลากได้ทันในช่วงที่มีน้ำหลากเข้ามา นอกจากนี้ ยังต้องมองถึงแหล่งรับน้ำจุดใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่หลายจุด ทั้งในพิษณุโลก บางระกำ ที่เป็นตัวช่วยระบายน้ำออกมาได้ ปัจจุบันเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่รองรับน้ำเหล่านี้ 

รวมถึงต้องมองถึงความพร้อมของชุมชนในการรับมือ ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการด้านต่างๆ เช่น การแจ้งเตือนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร การเยียวยาที่เหมาะสม และการระบายหรือเบี่ยงน้ำไปยังจุดรองรับต่างๆ 

ประเด็นเรื่องระบบการแจ้งเตือนก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังที่เห็นว่าเรายังขาดระบบการแจ้งเตือนที่ดี หรือเมื่อถึงเวลาจริงระบบกลับไม่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทบทวนหาทางทำให้ระบบเหล่านี้มีประสิทธิภาพ 

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางที่สะเอียบโมเดลพยายามนำเสนอ และเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาทบทวนรูปแบบการจัดการน้ำ เพราะการสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น วันนี้ไม่ใช่คำตอบแล้ว

การแก้ไขด้วยเขื่อนขนาดเล็กกระจายตามจุดต่างๆ

ต้องพิจารณาไปทีละจุด เพราะแต่ละจังหวัดมีทุ่งรับน้ำอยู่ แต่ไม่ถูกจัดการให้ดี และพบว่าบางจังหวัดไปสร้างแหล่งรับน้ำใหม่โดยไม่ได้มองบริบทของนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญของเรื่องนี้ นอกจากหน่วยงานท้องถิ่น หรือกรมชลประทานแล้ว หน่วยงานที่มีความรู้ในด้านของวิศวกรรมก็ต้องมาช่วยกันพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา

แนวคิดเรื่องเขื่อนในต่างประเทศ

ปัจจุบัน กระแสของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แทบไม่ถูกพูดถึงแล้ว มีเพียงการปรับปรุงเพิ่มเติมประสิทธิภาพของเขื่อนเก่าที่ยังใช้งานได้และก่อประโยชน์อยู่ ขณะเดียวกันหากพบว่าเขื่อนใดก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศอย่างรุนแรงก็จะทำการกำจัดเขื่อนเหล่านั้นไป เพื่อให้แม่น้ำได้ไหลอย่างเสรี เอาระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ดังจะเห็นว่ามีการรื้อเขื่อนหลายแห่งในทวีปยุโรป

แต่ประเทศไทยยังมีประเด็นปัญหากับเรื่องเขื่อน ส่วนหนึ่งเพราะในเอเชียอาคเนย์ยังมีการสร้างเขื่อน เช่น ในประเทศลาวที่ตั้งปณิธานเป็นแบตเตอรี่ สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้าขาย หรือการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงของประเทศจีน แต่ก็จะเห็นว่าส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น เรื่องน้ำท่วมที่เชียงรายที่ไม่สามารถระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้ เพราะเขื่อนจากจีนปล่อยน้ำลงมาพอดี 

กรณีของเขื่อนในแม่น้ำโขง นอกจากการวางกรอบกติการ่วมกันในประเทศตลอดสายน้ำแล้ว ประเทศไทยควรมีการตรวจสอบ หรือสร้างแนวทางการใช้แหล่งผลิตพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ถ้าหากเรามีความมั่นคงในพลังงานของเราเอง โดยเฉพาะจากพลังงานสะอาด การพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภายนอกก็จะลดลง และมีส่วนสำคัญต่อการรักษาระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขงเอาไว้ได้ด้วย