ภาคที่ 1 ของงานพัฒนาศักยภาพหน่วยป้องกันรักษาป่า

ภาคที่ 1 ของงานพัฒนาศักยภาพหน่วยป้องกันรักษาป่า

นับจากช่วงต้นปี ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดการฝึกอบรมโครงการ ‘พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ’ ให้กับหัวหน้าและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกันรักษาป่า ของกรมป่าไม้ จำนวน 24 หน่วย ทั่วประเทศ 

เป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของหน่วยป้องกันรักษาป่า ของกรมป่าไม้ ให้มีมิติการทำงานในเชิงพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าภารกิจดั้งเดิมอย่างการจัดการทรัพยากรเพียงอย่างเดียว

ภารกิจลำดับต่อมา คือ การจัดอบรมในลักษณะเดียวกันไปยังหน่วยป้องกันรักษาป่า ตามพื้นที่ต่างๆ 

โดยในแผนงานปีนี้ มีเป้าหมายการฝึกอบรมให้กับหน่วยป้องกันรักษาป่า 5 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.5 (ซองกาเลีย) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.2 (บ้าน กม.53) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 แม่กะสี หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กพ.3 (ไตรตรึงษ์) และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กพ.4 (เพชรนิยม)

อบรมพัฒนาศักภาพเจ้าหน้าที่ ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กพ.3 (ไตรตรึงษ์)

ก่อนเริ่มงาน มูลนิธิสืบฯ ได้ร่วมหารือกับ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก) สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยป้องกันรักษาป่าแต่ละแห่ง เพื่อกำหนดทิศทางเป้าหมายของหน่วยป้องกันรักษาป่าแต่ละแห่ง

เช่น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 ตาก วางเป้าหมายให้หน่วยป้องกันรักษาป่าบริการประชาชนตามบริบทของพื้นที่ เช่น บริการ คทช. พี่เลี้ยงป่าชุมชน ดำเนินโครงการพระราชดำริ

สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ ตั้งเป้าให้หน่วยป้องกันรักษาป่า ศูนย์เรียนรู้ในการบริหารจัดการป่าไม้หน่วยต้นแบบจัดการแนวกันชนและเป็นประตูสู่มรดกโลก

ส่วนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี มองในเรื่อง เป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารภายในองค์กร การบริหารจัดการป่าสงวนอย่างมีส่วนร่วม

ประชุมร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก)

เมื่อได้แนวทางครบแล้ว มูลนิธิสืบฯ เริ่มทยอยจัดอบรมให้กับหน่วยป้องกันรักษาป่าที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งตอนนี้ดำเนินการครบทั้ง 5 แห่ง

ผ่านกิจกรรม การร่วมออกแบบวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวางยุทธศาสตร์ ว่าจะดำเนินการในด้านใดบ้าง แล้วแต่ละยุทธศาสตร์มีแผนการอะไร การออกแบบรูปแบบการบริหารจัดการภายในหน่วยให้ตรงกับกำลังพลและภารกิจงานที่ต้องทำในอนาคต

ซึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ นอกจากจะได้แนวทางจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดแล้ว ยังถูกวิเคราะห์ต่อจากบริบทของพื้นที่ สถานภาพสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้แผนการทำงานที่เหมาะสมออกมา

ตัวอย่างเช่น หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.5 (ซองกาเลีย) ดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าคงสภาพรวม 261,065.88 ไร่ ในพื้นที่ ต.หนองลู ต.ปรังเผล  ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ได้กำหนดวิสัยทัศน์หน่วยว่า 

พัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์พื้นที่อย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นการป้องกันรักษาป่าผืนใหญ่ รอบหน่วยป้องกันรักษาป่าที่กจ.5 (ซองกาเลีย) ให้คงเป็นป่าสมบูรณ์ สนับสนุนงานป่าชุมชนและการมีส่วนร่วมในพื้นที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.4 (อู่ล่อง) ให้สามารถเป็นพื้นที่การจัดการทรัพยากรป่าไม้ต้นแบบในปี 2570

มียุทธศาสตร์ 4 ข้อประกอบด้วย (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน งานป้องกัน  ดูแล  รักษาทรัพยากรป่าไม้ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ (2) การบริหารจัดการหน่วยป่าไม้ต้นแบบทองผาภูมิ – สังขละบุรี (3) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย  ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และ (4) การส่งเสริมสวัสดิภาพ สวัสดิการเจ้าหน้าที่

อบรมพัฒนาศักภาพเจ้าหน้าที่ ที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.5 (ซองกาเลีย)

เมื่อลองลงลึกต่อไปในแผนงาน เช่น ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งขยายความได้ว่า เป็นแผนงานเพื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากร โดยการสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ของหน่วยป้องกันรักษาป่า ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน สนับสนุนให้เกิดคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่ป่าสงวนในระดับอำเภอ เพื่อเข้ามีส่วนร่วมให้คำแนะนำ คำปรึกษา และร่วมพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้คงอยู่ของสภาพป่าและระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

มีแผนงานและกิจกรรมทั้งหมด 3 แผน ได้แก่ (1) สำรวจและประกาศจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ / อำเภอสังขละบุรี ปีละ 1 ป่าชุมชน (2) จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาและบริหารจัดการป่าสงวนแห่งชาติ (Protected Area Committee : PAC) พร้อมกำหนดบทบาทหน้าที่ในการทำงานให้คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ และ (3) การฟื้นฟูแปลงตรวจยึด เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าแบบมีส่วนร่วม

โดยตัวอย่างของแผนงานดำเนินนั้น ปัจจุบัน หน่วยป้องกันรักษาป่าแต่ละแห่งกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำเป็น ‘เอกสารแผนการจัดการหน่วยป้องกันรักษาป่า’ ให้ออกมาเป็นรูปเล่ม มีบางหน่วยจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว บางแห่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงเอกสารให้เกิดความสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนการดำเนินงานทั้งหมดลุล่วงไปได้ เพียงแค่การจัดทำแผนงานของหน่วยป้องกันรักษาป่าเองอาจยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดอย่างกรมป่าไม้ ซึ่งศศิน เฉลิมลาภ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยให้ความเห็นไว้ว่า 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ ต้องปรับโครงสร้างการทำงานภายในกรมป่าไม้ขึ้นก่อน โดยกรมป่าไม้จะต้องเห็นว่าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่มีอยู่กว่า 400 หน่วย เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย ควรกระจายบุคลากรและงบประมาณลงไปให้เพียงพอ และให้ขึ้นตรงกับสำนักงานจัดการป่าไม้ระดับภูมิภาค และมอบหมายภารกิจให้คนไปจัดการพื้นที่ ซึ่งต้องปรับ Mindset และต้องมีนโยบายของกระทรวงออกมาอย่างเร่งด่วน 

สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีเป้าหมายการจัดอบรมให้ได้ 100 หน่วยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแผนงานระยะยาว 4 ปี กิจกรรมที่เกิดขึ้นในปีนี้ เป็นเพียงภาคแรกของเรื่องราวทั้งหมด

และระหว่างนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการหางบประมาณสำหรับใช้การดำเนินงานกิจกรรมที่เหลืออีก 95 หน่วยในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ เป็นหนึ่งในงานตามแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2567-2570 ขององค์กร ในแผนงานยุทธศาสตร์ที่ 2 ขยายการทำงานสู่พื้นที่โดยรอบห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ เพื่อปกป้องผืนป่าสัตว์ป่า มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยกรอบแนวคิดการเชื่อมต่อป่าที่เหมาะสม และรักษาป่ากันชนผืนป่าตะวันตกมรดกโลก แม่วงก์ – คลองลาน ลดปัญหาคนกับสัตว์ป่า ด้วยการสร้างอาชีพที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและผลักดันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ส่งเสริมพัฒนาหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ 

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม