7 ข้อห่วงกังวลในการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลาน ตามมติ ครม. 14 มี.ค. 66

7 ข้อห่วงกังวลในการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลาน ตามมติ ครม. 14 มี.ค. 66

17 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมพิจารณาการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินและแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดปราจีนบุรี หลังจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้ายื่นจดหมายถึงกรรมาธิการการที่ดินฯ ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบและทบทวนขั้นตอนการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,000 ไร่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้แจ้ง 7 ข้อห่วงกังวลต่อที่ประชุม สำหรับการใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติ ครม. ดังนี้

1. เส้นปรับปรุงแนวเขตปี 2543 ยังไม่ได้มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกา อีกทั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติในปี 2556 ขอยกเลิกการดำเนินการจัดทำเส้นปรับปรุงแนวเขตในอดีต รวมถึงปี 2543 โดยให้เหตุผลถึงความไม่สมบูรณ์ในการจัดทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูลการถือครองที่ดินและให้ยึดเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ปี 2524 และในช่วงปี 2563 มีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานฯ ยังคงเห็นชอบให้ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินในป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

2. เส้นปรับปรุงแนวเขตปี 2543 มีข้อมูลห่างจากปัจจุบัน 23 ปี และสภาพความเป็นจริงพื้นที่ถูกระบุว่าเป็นป่าสมบูรณ์ที่ถูกผนวกเพิ่มเข้ามาตามมติคณะรัฐมนตรี 14 มีนาคม 66 สภาพปัจจุบันมีคนอยู่อยู่อาศัย ทำกิน และเป็นป่าชุมชนของกรมป่าไม้ จำนวน 3 ป่า โดยหลังจากที่มีการสอบถามข้อมูลจากกรมป่าไม้ พบว่ามีการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนตามกฎหมายแล้ว จำนวน 2 ป่า เท่ากับซ้ำเติมปัญหาอีกหรือไม่

3. มติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ไม่ให้นำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ส่งมอบให้เป็น ส.ป.ก. และมตินี้ยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด

4. การปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลาน จะมีผลต่อรูปคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และในขั้นการพิจารณาคดีของศาล หรือไม่

5. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ : ผืนป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งแห่งที่สองของประเทศรองจากผืนป่าตะวันตก เขาใหญ่ไม่มีเสือมาหลายปีแล้ว เรามีความคาดหวังว่าเสือจากฝั่งป่าทับลานจะเดินข้ามไปผืนป่าเขาใหญ่อีกครั้ง รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ที่มีข้อมูลงานศึกษาวิจัยที่ชัดเจนว่ามีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราบและตรงบริเวณที่เป็นแนวเชื่อมต่อผืนป่า

6. พื้นที่เพิกถอนบริเวณแนวเชื่อมต่อผืนป่า 304 เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน และเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า

7. ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ทางคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาและหาข้อมูลเพิ่มเติม ดูน้อยลง