จุดเริ่มต้นงานสืบทอดเจตนา สู่วาระ 34 ปี สืบ นาคะเสถียร

จุดเริ่มต้นงานสืบทอดเจตนา สู่วาระ 34 ปี สืบ นาคะเสถียร

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาของเดือนกรกฎาคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดให้ผู้สนใจสั่งจองของที่ระลึกในวาระ รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร A Journey throught Coordinates กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านของที่ระลึก ซีรี่ย์การเดินทางผ่านพิกัด (A Journey throught Coordinates) คือ รูปปั้นสืบนาคะเสถียร สัญลักษณ์สำคัญของงานอนุรักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้ง และเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

หรือกล่าวได้ว่าเป็นพิกัดเริ่มต้นของการเดินทาง ที่สร้างเรื่องราวต่อเนื่องมาถึงปีที่ 34

ในจุดเริ่มต้นนั้น มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ? ชวนหาคำตอบได้จากเรื่องราวต่อจากนี้

เมื่อแรกก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาจารย์รตยา จันทรเทียร ผู้รับตำแหน่งประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (คนแรก) ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการมูลนิธิสืบถึงการสร้างสัญลักษณ์บางอย่างให้จิตวิญญาณ อุมการณ์ของสืบ นาคะเสถียร ยังคงอยู่ ไม่ถูกลืมหายไปกับกาลเวลา

และเรื่องมาลงเอยที่การก่อสร้างอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร โดยมีรูปปั้นสืบนาคะเสถียรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนุสรณ์ 

แต่กว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ต้องผ่านการถกเถียงกันอยู่นาน

เริ่มจากประเด็นที่ว่า ควรตั้งอยู่ที่ใด ? ระหว่างที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเป็นพลังใจแก่ชาววนศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ว่ารุ่นพี่ได้เสียสละทุกอย่างเพื่อผืนป่าสัตว์ป่า

หรือตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้มีสิ่งเตือนใจว่าเราต้องช่วยกันรักษาผืนป่า รักษาทั้งกาย วาจา ใจ เช่นเดียวกับคุณสืบ

และอีกความเห็น คือ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ลึกจากถนนใหญ่เข้าไป 15 กิโลเมตร ตั้งอยู่ท่ามกลาง ห้วย ป่าเขา สัตว์ป่า ใกล้กับบ้านที่คุณสืบเสียสละชีวิต

ท้ายที่สุดได้ข้อสรุปกันว่า รูปปั้นจะตั้งอยู่ท่ามกลางห้วย ป่าเขา บ้านของสัตว์ป่า

อีกเรื่องที่ถกเถียงกัน คือ อิริยาบถของรูปปั้นและการแต่งกาย จะเป็นรูปก้าวย่าง เดิน นั่ง ยืน หรือต้องมีสัตว์ป่าประกอบอยู่ด้วยหรือไม่ ?

โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรปั้นเป็นรูปคุณสืบนั่งลูบหลังกวาง แต่อีกฝ่ายก็ท้วงว่านั่นคือ ‘สโนว์ไวท์’ ไม่ใช่คุณสืบ

จนท้ายที่สุดการถกเถียงก็มาเห็นพ้องตรงกันว่า รูปปั้นนี้ไม่ใช่รูปนั่งหรือยืนเฉยๆ แต่ควรเป็นอิริยาบถที่มีความหมาย ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกายเห็นตรงกันว่าให้แต่งกายตามแบบที่คุณสืบใช้ประจำวันและคุ้นตาของทุกคนจะเหมาะสมที่สุด

ซึ่งข้อสรุปก็เป็นดังที่ทุกท่านได้เห็นว่า…

คุณสืบกำลังก้าวเดิน ใบหน้าและดวงตามองตรงเข้าไปยังผืนป่าตะวันตก ถ้าลากเส้นตรงตามสายตาไปอีก 100 กิโลเมตร จะเป็นป่าและป่าและป่า บ้านหลังใหญ่ที่สุดของสัตว์ป่าในประเทศไทย

คุณสืบแต่งตัว เช่นที่คุ้นตาของลูกน้อง คือ ชุดลุยป่า แบกเป้และเครื่องนอน ในกระเป๋ากางเกงข้างหนึ่งมีซองบุหรี่ มือหนึ่งถือสมุดบันทึก อีกมือหนึ่งถือปากกา มีกล้องดูนกคล้องคอ และสะพายกล้องถ่ายรูปพร้อมบันทึกข้อมูลต่างๆ ตามประสานักวิชาการ

ผู้ออกแบบและปั้น คือ อาจารย์เสวต เทศน์ธรรม อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

มีทีมกรรมการมูลนิธิสืบฯ ช่วยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด คือ คุณนพรัตน์ นาคสถิตย์ คุณวีรวัธน์ ธีระประสาธน์ (ทั้งสองเป็นเพื่อนขณะเรียนคณะวนศาสตร์) คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (บรรณาธิการสารคดี เพื่อนรุ่นน้องที่ติดตามสืบไปช่วยงานอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน) และคุณเบลินดา สจ๊วต-ค็อกซ์ (ผู้เขียนรายงานเสนอให้ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย) ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนสนิทของคุณสืบ

รูปปั้นคุณสืบแล้วเสร็จและนำไปติดตั้งที่ห้วยขาแข้งในวันที่ 12 สิงหาคม 2536 มีพิธีบวงสรวงและพิธีทางศาสนา ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 3 ของการจากไปของคุณสืบ นาคะเสถียร

รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร
A journey through coordinates
การเดินทางผ่านพิกัด
14-15 กันยายน 2567 
ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร