มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นหนังสือต่อ ‘พูนศักดิ์ จันทร์จำปี’ ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาตรวจสอบและทบทวนขั้นตอนการเพิกถอนพื้นที่กรณีพิพาท ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ จำนวน 265,000 ไร่
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้บรรจุหัวข้อการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพร้อมกับเครือข่ายและพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 265,000 ไร่ เนื่องจากการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตดังกล่าว กระเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและอาจก่อให้เกิดบรรทัดฐานการแก้ปัญหาพื้นที่ซ้อนทับในเขตอนุรักษ์อื่น ต่อเนื่องกันไปทั่วประเทศ การเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติ แต่กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ตามมา
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงขอให้เกิดการทบทวนการแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าของประเทศชาติต่อไป
‘ภาณุเดช เกิดมะลิ’ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ในประเด็นที่ทางเครือข่ายอนุรักษ์ เป็นกังวลอยู่ ณ ขณะนี้
1. กลไกในการแก้การพิจารณาปัญหาในพื้นที่ ไม่ได้ใช้วิธีที่ถูกต้อง จึงอยากให้ทางกรรมาธิการที่ดิน ช่วยตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว
2. ในส่วนพื้นที่ 2.6 แสนไร่ ทางมูลนิธิสืบฯ พบว่าในพื้นที่มีความหลากหลายของปัญหา ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีความหลากหลายทางด้านปัญหา ดังนั้นจึงไม่ควรเหมาเข่งในการแก้ไขปัญหา โดยใช้วิธีการเพิกถอนให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ในลักษณะเดียว
โดยกลุ่มที่ 1 เป็นราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติฯ ทับที่ดิน ควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก โดยการหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการ
ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่อยู่หลังการประกาศอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปี 2557 ก็มีการผ่อนปรนให้สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
แต่สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มทุน ที่ดินที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ เปลี่ยนแปลงพื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ และคนที่บุกรุกพื้นที่หลังปี 2557
“ถ้าเราเหมาเข่งปัญหาทั้ง 3 พื้นที่ มารวมกันแล้วเพิกถอนจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นลักษณะของการนิรโทษกรรมหมู่ โดยที่ยังคงมีผู้กระทำผิดในพื้นที่ และทำให้กระบวนการการดูแลจัดการพื้นที่อนุรักษ์จะได้รับผลกระทบทั่วประเทศ” ภาณุเดช กล่าว
ข้อกังวลสุดท้าย คือพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ในกลุ่มป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ ซึ่งหากมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เฉพาะการเพิกถอนที่ดินอนุรักษ์ จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าสัตว์ป่า และคุณค่าความสำคัญของการเป็นมรดกโลกอย่างแน่นอน ดังนั้นหากกลไกในการดำเนินเรื่องเหล่านี้ไม่เป็นไปอย่างชอบธรรม ส่วนตัวมองว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่อื่นต่อไป