20 – 21 มิถุนายน 2567 โครงการพญาแร้งคืนถิ่นฯ จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพญาแร้ง แก่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อสร้างการรับรู้และเตรียมความพร้อมในเรื่องข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ด้านงานสื่อสาร เพื่อทำหน้าที่สื่อความหมายเรื่องราวความสำคัญของพญาแร้ง สัตว์ป่าที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กำลังจะฟื้นคืนกลับมาทำหน้าที่ทางระบบนิเวศอีกครั้งในอนาคต
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ดำเนินการโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยความคาดหวังสูงสุดของโครงการ คือการเพาะพันธุ์พญาแร้งให้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อที่จะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในบริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และร่วมสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องพญาแร้ง
จึงเป็นที่มาของกิจกรรม สร้างการรับรู้เรื่องพญาแร้งในครั้งนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพญาแร้งคืนถิ่นมีวิธีการสื่อสารเกี่ยวกับพญาแร้งได้อย่างเข้าใจง่าย และมีข้อมูลที่ถูกต้อง
กิจกรรมครั้งนี้ มีวิทยากรร่วมให้ความรู้ ประกอบด้วย พี่กฤษณ์ มงคล ส่งเสริมเจริญโชติ จากสถาบันบริหารจัดการสัตว์ องค์การสวนสัตว์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับหมอใหญ่ สพ.ญ. เสาวภางค์ สนั่นหนู จากสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ หัวหน้าศูนย์เนื้อเยื่อสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ให้ข้อมูลในเรื่องนิเวศวิทยาของพญาแร้ง
พี่กบ ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ จากสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน 6 ให้ข้อมูลเรื่องสถานการณ์พญาแร้งที่มีอยู่ในประเทศไทย พี่ไม้เอก สมนึก ซันประสิทธิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียว สร้างความรู้เกี่ยวกับการสื่อสารในเรื่องของพญาแร้ง เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อให้กับเจ้าหน้าที่ และพี่ทราย ชฎาภรณ์ ศรีใส จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ข้อมูลในเรื่องสื่อที่สามารถนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ต่อได้ โดยมีหัวหน้าโครงการ
กิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การให้ความรู้นิเวศวิทยาโดยหมอใหญ่ และให้ความรู้เรื่องสถานการณ์พญาแร้งในประเทศไทยโดยพี่กบ และพี่กฤษณ์ สร้างความเข้าใจตั้งแต่การมีอยู่ของแร้งในโลก ซึ่งมีสถานะเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินซาก วิทยากรทั้งสามท่านได้เห็นที่ตรงกันว่าพญาแร้งเป็นเทศบาลประจำป่าที่ช่วยกำจัดซาก ลดการติดเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
หมอใหญ่ได้เน้นย้ำถึงประโยชน์ของการปล่อยพญาคืนสู่ธรรมชาติ เช่น การรักษาความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินซากจึงช่วยกำจัดซากสัตว์ที่ตายไม่ให้ส่งกลิ่นเน่าเหม็นจะและช่วยควบคุมโรคระบาดจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ หรือในอีกด้านยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในพื้นที่ เช่น นักท่องเที่ยวเดินทางมาดูพญาแร้งที่เขตพื้นที่รักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้า ที่พักอาศัย ได้รับรายได้จากนักท่องเที่ยวไปด้วย
กิจกรรมที่ 2 เป็นการนำผู้ร่วมอบรมขึ้นยังหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ที่ตั้งกรงพญาแร้ง การเดินทางเต็มไปด้วยหนทางที่ขรุขระพื้นถนนต่างระดับตามแนวถนนที่ตัดผ่านป่าเป็นเส้นทางที่เล็กพอเหมาะให้รถยนตร์สี่ล้อพอเคลื่อนที่เข้าไปได้ในพื้นที่รอบ ๆ รายล้อมไปด้วยป่าเต็งรังสลับกับป่าเบญจพรรณ สองข้างทางสามารถพบเจอสัตว์ป่าออกมาอาหารได้ในทุกช่วงเวลา เนื่องจากกรงพญาแร้งจำเป็นต้องมีสภาพคล้ายกับธรรมชาติให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความคุ้นชินและเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต เพราะฉะนั้นกรงของพญาแร้งจึงมีลักษณะคล้ายกับป่ารอบ ๆ ที่มีโครงเหล็กถูกครอบคลุมไว้ด้วยตาข่าย
และตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่ลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงใช้หน่วย 51 ณ ป่าซับฟ้าผ่าเป็นที่ตั้งของกรงเพาะเลี้ยง
เมื่อขึ้นไปถึง ณ ที่หมาย กิจกรรมได้แบ่งผู้เข้าอบรมเป็นสองกลุ่ม สลับกันฟังเนื้อหาบรรยาย โดยกลุ่มแรกรับฟังความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่กรงพญาแร้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรายงานเพื่องานวิชาการในเรื่องของการให้อาหาร พญาแร้งในทุกวันที่ปฏิบัติการโดยลุงแก่น (อดีตเจ้าหน้าที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) และมีผู้ช่วยคือพี่แฮ็ค (เจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) แนะนำระบบดูกล้อง CCTV ที่ถูกติดตั้งอยู่ภายในกรงของพญาแร้งเพื่อติดตามพฤติกรรม และเฝ้าระวังการบุกรุกของกรงพญาแร้งให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับทราบ
ส่วนกลุ่มที่สองนำทีมโดยหมอใหญ่ พาขึ้นไปชมพญาแร้งที่อยู่ในกรง ณ ป่าซับฟ้าผ่า และให้ความรู้เกี่ยวกับครอบครัวพญาแร้งที่ประกอบไปด้วย มิ่ง ป๊อก และลูกที่พึ่งเกิดใหม่ได้ 4 เดือน เจ้า‘ห้าหนึ่ง’ นับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์การเดินทางที่น่าภูมิใจของโครงการพญาแร้งคืนถิ่น เพราะเป็นการฟักไข่โดยธรรมชาติ โดยปัจจุบันลูกของมิ่งและป๊อกบินได้สูงถึง 10 ซม. จากพื้นดินนับเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่คาดว่าอาจเพราะเกิดจากการเรียนรู้พฤติกรรมของพ่อและแม่ที่อยู่ในกรงเดียวกัน
หมอใหญ่กล่าวถึงแผนการเพาะพันธุ์ในอนาคตว่า โครงการพญาแร้งคืนถิ่นมีแผนที่จะสร้างกรงใหม่ที่ใกล้กรงเดิม เพื่อแยกลูกออกจากกพ่อแม่ เพื่อให้มิ่งผู้เป็นแม่ฝักไข่ใบถัดไปในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างไร 51 ก็ยังจะได้อยู่กรงใกล้ ๆ เพื่อที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของพ่อและแม่ต่อไป
กิจกรรมที่ 3 กระบวนการสื่อความหมายเรื่องพญาแร้ง โดยใช้ชื่อว่า THE SUBJECT MATTER EXPERT’S WORKSHOP (SME) โดยพี่ไม้เอก ในขั้นตอนแรกของกิจกรรม พี่ไม้เอกให้เจ้าหน้าที่ทำกิจกรรมผ่อนคลายความตึงเครียด และได้กล่าวว่า ‘นี่คือส่วนหนึ่งของการนำเสนองานในรูปแบบการอบรม เป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ฟังเปิดรับข้อมูลจากผู้ให้ได้เป็นอย่างดี’ โดยกลยุทธ์ของการฝึกอบรมนำมาจากทฤษฎีจิตวิทยาลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ เพื่อประเมินความต้องการของผู้รับสารที่เราต้องการสื่อ ผ่านการทำแบบสำรวจ
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ทำแบบประเมินความต้องการการฝึกอบรม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการสร้างความรู้ในวันที่สองของกิจกรรม
กิจกรรมที่ 3 ได้จัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 20 และช่วงเช้าของวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันออกแบบสื่อความรู้เรื่องพญาแร้ง โดยใช้ข้อมูลจากวันที่ผ่านมาเพื่อประกอบการแผนทำสื่อ เมื่อร่วมออกแบบสื่อแล้ว ทุกคนจึงได้รับหน้าที่ส่งมอบสารผ่านการพูดและฟัง สลับกลุ่มกันไปเพื่อทดสอบความรู้และความเข้าใจของเจ้าหน้าที่
ในช่วงสุดท้ายพี่ทรายตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ช่องทางเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารประกอบกับความรู้ความเข้าใจเดิมเพื่อให้ผู้รับสารเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้นผ่านช่องทางเพจเฟสบุ๊ค พญาแร้งคืนถิ่น Thailand Red-headed Vulture Project เว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเว็บไซต์องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภาพรวมกิจกรรมตลอดสองวันที่ผ่านมา มีจุดมุ่งหวังว่าในอนาคตของการปล่อยพญาแร้งคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม จะได้รับความเข้าใจต่อตัวพญาแร้ง และรับรู้ถึงประโยชน์ในการมีชีวิตอยู่ของพญาแร้ง ลดความเสี่ยงการสูญพันธุ์จากการกระทำของมนุษย์ ไม่เกิดการซ้ำรอยอย่างในเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันพญาแร้งในประเทศไทยมีอยู่ 8 ตัว ในกรงเพาะพันธุ์ภายใต้การดูแลของโครงการ ‘โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ จุดมุ่งหวังสูงสุดของการคือการเพาะพันธุ์ประชากรพญาแร้งให้ได้ปริมาณมากพอต่อการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม ณ ตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในด้านวิธีการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต
ร่วมสนับสนุนโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยโดยตรงได้ที่ ชื่อบัญชี โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธ.กรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ เลขบัญชี 679-6-72119-5
และสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและเข้าร่วมเรียนรู้เรื่องพญาแร้งผ่านช่องทางการสื่อสารของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับโครงการพญาแร้งคืนถิ่น ได้ที่
บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน