ปลายนี้ปี ‘51’ ลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดกลางไพรห้วยขาแข้งในรอบกว่า 30 ปี จะได้ย้ายไปอยู่ในกรงที่สร้างใหม่
เป็นกรงขนาด 5×10 เมตร สูง 6 เมตร อยู่ไม่ห่างจากบ้านหลังเก่ามากนัก (ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี)
เหตุที่ต้องย้ายเจ้า 51 ไปอยู่ในกรงใหม่ เนื่องมาจากทางคณะทำงานของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ต้องการให้ ‘ป๊อก’ กับ ‘มิ่ง’ พ่อและแม่ของ 51 มีโอกาสผสมพันธุ์และวางไข่รอบใหม่ได้เร็วขึ้น
เพราะหาก 51 ยังอยู่ร่วมกรงเดียวกับพ่อแม่ ทั้งคู่ก็จะหมดเวลาไปกับการดูแลลูก ทิ้งช่วงการผสมพันธุ์วางไข่ออกไปอีกปี
ในธรรมชาติ นกกลุ่มแร้งจะใช้เวลาเลี้ยงลูกนานหลายเดือนกว่าจะบิน ประมาณหนึ่งปี เหตุที่ใช้เวลานานกว่านกกลุ่มอื่นๆ เป็นเพราะแร้งเป็นนกขนาดใหญ่และทรัพยากรมีอย่างจำกัด จึงต้องใช้เวลาในการเรียนรู้พฤติกรรมนานกว่านกขนาดกลางหรือเล็ก ที่ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ก็โผบินออกจากรังได้สบายๆ
ส่วนข้อมูลของ ‘พญาแร้ง’ ในธรรมชาติของประเทศไทยโดยตรงนั้นยังมีการศึกษาไม่มากพอสำหรับลงรายละเอียดพฤติกรรมการเลี้ยงลูกเฉพาะชนิดได้
โดยภารกิจสร้างกรงชั่วคราวเพื่ออนุบาลลูกพญาแร้ง เดิมไม่มีในแผนของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ มาก่อน
งานนี้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน (เรียนรู้และพัฒนาระหว่างดำเนินโครงการ) โดยได้รับคำแนะนำจากหน่วยงานสวนสัตว์ในต่างประเทศที่กำลังเพาะเลี้ยงพญาแร้งอยู่เช่นกัน ว่าควรแยกลูกแร้งออกมาจากกรงของพ่อและแม่ ไม่เช่นนั้นพ่อแม่จะใช้เวลาในการดูแลลูกทิ้งช่วงการผสมพันธุ์ออกไปอีกปี และเสียพลังงานไปกับการเลี้ยงลูกจนสภาพร่างกายไม่พร้อมสำหรับผสมพันธุ์
ต่างจากการจับคู่ในสวนสัตว์ที่จะผสมพันธุ์วางไข่กันทุกปี (ในสวนสัตว์เมื่อพญาแร้งวางไข่ ไข่จะถูกแยกออกมาดูแลโดยเจ้าหน้าที่ ทำให้พญาแร้งไม่เสียพลังงานไปกับการเลี้ยงลูก)
ซึ่งก็ตรงกับพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้จากทั้งพ่อป๊อกและแม่มิ่งให้ความสนใจกับลูกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะป๊อกที่เฝ้าเมียงมอง 51 ไม่ห่าง – แทบไม่เหลียวหาคู่ของตัวเองเลย
ขั้นตอนการสร้างกรงตอนนี้ ผ่านการจัดทำแบบแปลนสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมสถานที่และก่อสร้าง
ตามแผนงานจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 แล้วเดือนถัดไปจะเริ่มทำการตรวจสุขภาพ 51 ก่อนพาลูกพญาแร้งตัวแรกที่เกิดกลางป่าห้วยขาแข้งไปพำนักยังกรงใหม่
สำหรับ 51 เป็นลูกพญาแร้งที่เกิดจาก ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ในร่วมกันในกรงใหญ่กลางป่ามาเป็นเวลา 2 ปี ก็ได้วางไข่ในวันที่ 17 ธันวาคม 2566
กระทั่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา – 51 ก็ได้เจาะเปลือกไข่ออกมามองไพรกว้าง
ตอนนี้ 51 กำลังโตวันโตคืน มีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่ในช่วงพัฒนากล้ามเนื้อปีกให้แข็งแรงจากการฝึกกระโดดขึ้นบนคอนไม้ในความสูงระดับต่างๆ ที่เตรียมไว้ในกรง
และเพิ่งผ่านการเจาะเลือดตรวจสอบเพศ (จะมีประกาศให้ทราบเร็วๆ นี้ว่าเป็นเพศอะไร)
ขณะเดียวกันก็เริ่มมีท่านอนเหมือนตัวเต็มวัยมากขึ้น (ยืนนอน) จากที่ก่อนหน้านี้จะนอนในท่าราบลงกับพื้น (เป็นพฤติกรรมระวังภัยอย่างหนึ่งของพญาแร้ง)
รวมถึงเริ่มพัฒนาหาอาหารจิกทึ้งเนื้อกินเองมากขึ้น
และที่สำคัญ 51 สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศของห้วยขาแข้งได้เป็นอย่างดี ถือเป็นสัญญาณบวกของฟื้นฟูประชากรแร้งในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติอย่างมีความหวัง
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม