ติดตามและประเมินผล โครงการส่งเสริมโดยกระบวนการอนุรักษ์เสือปลา ปี 2565 – 2567

ติดตามและประเมินผล โครงการส่งเสริมโดยกระบวนการอนุรักษ์เสือปลา ปี 2565 – 2567

14 พฤษภาคม พ.ศ.2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดประชุมติดตามและประเมินผล โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด ปี 2565 – 2567 พร้อมกับเครือข่ายโครงการจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์การแพนเทอรา (THAILAND), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน), กลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เนื่องในโอกาสที่ คุณภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม เยี่ยมชมติดตามผลการดำเนินงาน ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 

นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ให้ความเห็นในช่วงต้นของการประชุมว่า “กระบวนการทำงานต้องสร้างกลไกของชุมชนเพื่อจัดการกับปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ การอบรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การจัดทำนโยบายสาธารณะ เพื่อให้โครงการมีคุณภาพตามตัวชี้วัดที่ตั้งเอาไว้”

พงศธร พร้อมขุนทด

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ในด้านต่างๆ อาทิ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา ดำเนินการขับเคลื่อนแก้ปัญหาความขัดแย้ง การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนที่เป็นมิตรต่อเสือปลา เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่อสัตว์ป่า และเห็นคุณค่าเพื่อให้ชุมชนกับสือปลาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เรื่องราวของเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอด

ผลการหารือการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสือปลา ตลอดจนความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเสือปลา พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากกองทุนสิ่งแวดล้อมและผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาปรับใช้ในกิจกรรมโครงการฯ ต่อไป

ทางด้านขององค์การแพนเทอราได้ให้ข้อมูลลักษณะทั่วไปของเสือปลา ความสำคัญของการอนุรักษ์และเหตุผลการมีอยู่ของเสือปลาในระบบนิเวศที่เปรียบเสมือนผู้ล่าสูงสุด (Apex predator) ของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wet land) โดยภัยคุกคามที่สำคัญที่ส่งผลต่อจำนวนประชากร คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการกระจายตัวและวงรอบการเดินของเสือปลา 

จุดมุ่งหมายหลักขององค์การแพนเทอราจะเป็นในส่วนงานวิจัยด้านการกระจายตัว หน้าที่หลักจึงเป็นในเรื่องของ การสำรวจการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การติดปลอกคอวิทยุ การประเมินผลกระทบแนวรั้วทางรถไฟที่กั้นการกระจายตัวของเสือปลา การสำรวจการกระจายตัวเสือปลาบริเวณลำคลอง (พื้นที่ไม่ถูกล้อมรั้ว) ของเสือปลาเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ระหว่างพื้นที่ และเก็บข้อมูลเชิงนิเวศวิทยาของเสือปลา 

ภาวินี ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

อีกทั้งในที่ประชุมยังได้มีการนำเสนองานวิจัยจากนักศึกษาปริญญาโท คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ร่วมกับองค์การแพนเทอรา ประเทศไทย ในการศึกษาชนิดเหยื่อของเสือปลาและรูปแบบการใช้พื้นที่ของเสือปลา เพื่อหาแนวทางป้องกันผลกระทบต่อชุมชนและแผนการอนุรักษ์เสือปลาในอนาคต รวมถึงสถานภาพของจำนวนประชากรในพื้นที่รอบๆ เขาสามร้อยยอดในปัจจุบัน

ในส่วนของชุมชนนั้นก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ส่วนบุคคลเพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือกล้องดักสัตว์ป่า เพื่อใช้เป็นข้อมูลยืนยันว่ามีเสือปลาเข้ามาในพื้นที่ ทำการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นในขั้นตอนต่อไปและเพื่อศึกษาข้อมูลพฤติกรรมของเสือปลา ชุมชนมีทัศนคติที่ดีขึ้น มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่ ในอนาคตจะนำเสือปลามาเป็นสัญลักษณ์ของทุ่งสามร้อยยอดและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อเพิ่มรายได้และการอนุรักษ์เสือปลาโดยชุมชน 

ในช่วงสุดท้ายของการประชุม คุณภาวินี  ณ สายบุรี ผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาโครงการ โดยในภาพรวมแล้วโครงการเสือปลานั้นมีความน่าเชื่อถือในข้อมูลเชิงวิชาการเนื่องจาก ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและทีมนักวิจัยที่มีองค์ความรู้ตามมาตรฐานสากล การมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง จะเป็นรากฐานสำคัญของการทำงานในพื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืน  

นอกจากนี้ หากสิ้นสุดโครงการในอนาคตก็อยากจะให้ระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินงานต่อยอดจากตัวโครงการบนพื้นฐานของ ‘การกระจายอำนาจ’ กองทุนสิ่งแวดล้อมพร้อมที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและความยั่งยืนในการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับเสือปลา  

นอกจากการประชุมแล้ว ทางผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ยังเดินทางไปยังพื้นที่ทำงานในส่วนต่างๆ เช่น จุดตั้งกล้องถ่ายสัตว์ป่าขององค์การแพนเทอรา ดูงานวิสาหกิจชุมชน และในโอกาสนี้ทางโครงการยังได้รับเกียรติจากคุณภาวินี  ณ สายบุรี เป็นผู้มอบ เงินเยียวยาและรั้วตาข่ายเหล็กสำหรับทำแนวกั้นเสือปลาบริเวณคอกเป็ดที่โดนเสือปลากัดให้แน่นหนายิ่งขึ้น ให้กับคุณพิภพ หมู่บ้านดอนยายหนู อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา

โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia