ผ่านมาครึ่งปี หลังมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่ทำกิจกรรมอบรมประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ ในป่าชุมชนบ้านประดู่งาม อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ แก่คณะกรรมการป่าชุมชน และตัวแทนชุมชนบ้านประดู่งาม
ถึงวันนี้ คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านประดู่งาม ได้รับใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในฐานะที่ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในป่าชุมชน
โดยการสำรวจตามหลักวิชาการ พบว่าพื้นที่ป่าชุมชนบ้านประดู่งามสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 6,863.586 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านประดู่งามแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ ก็ได้รับใบประกาศเกียรติคุณร่วม ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนองค์ความรู้และทุนทรัพย์ให้กับคณะกรรมการป่าชุมชนในกิจกรรมดูแลรักษาป่า
ที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องราวจาก “โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก” หนึ่งในภารกิจงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปี พ.ศ. 2567
ซึ่งเป้าหมายของโครงการ คือการสนับสนุนการดูแลป่าชุมชน 16 แห่งที่อยู่รอบๆ กลุ่มป่าตะวันตกในจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร พร้อมสร้างความตระหนักถึงการรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังกลืนกินโลกอยู่ในเวลานี้
พรพันธุ์ เรืองวงษ์งาม เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการอธิบายว่า ‘ป่าชุมชน’ คือผืนป่าอีกประเภทที่มีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เร่งเครื่องให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูง เพียงแต่ที่ผ่านมาบทบาทของป่าชุมชนในเรื่องนี้ มักไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเสียมากกว่า
เมื่อเห็นถึงศักยภาพจึงนำมาสู่การเติมเต็ม – “ภายใต้โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รับบทพี่เลี้ยงที่คอยเสิร์ฟองค์ความรู้ให้กับชุมชนในมิติที่ยังขาด” พรพันธุ์กล่าว
เช่นที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเทคนิคและมุมมองการบริหารจัดการป่าชุมชนของตัวเองในอนาคต จากที่เคยมองป่าชุมชนเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวทรัพยากรแบบหมุนเวียนตามฤดูกาล ก็ลองเพิ่มมิติใหม่ๆ เช่น ทำให้ป่าชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ หรือชูจุดขายในเรื่องการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ที่อาจพัฒนาเข้าสู่กลไกลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตข้างหน้า – ก็มีโอกาสทำได้
ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนความเข้มแข็งของคณะกรรมการป่าชุมชนในเรื่องของอุปกรณ์กับเงินทุนในการบริหารจัดการ เช่น งบประมาณด้านการป้องกันไฟป่า งานลาดตระเวน โดยมีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การช่วยเหลืออีกต่อ
ส่วนการรับใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกจากอบก. เป็นเรื่องราวอีกขั้นที่มาไกลเกินเป้าหมาย
พรพันธุ์ อธิบายว่า เป้าหมายของโครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก เดิมทีมีเพียงการตรวจสอบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของป่าชุมชนแต่ละแห่งว่าศักยภาพกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้เท่าไหร่ แล้วรายงานตัวเลขนั้นออกมา
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การตรวจวัดเป็นมาตรฐาน ได้ตัวเลขที่นำมาใช้อ้างอิงได้จริง และมีขั้นตอนการตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอนฯ เป็นไปตามหลักการวิชาการที่ถูกต้องจึงได้ขอใบรับรองไปกับทาง อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน และการทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อย การลด และการชดเชยก๊าซเรือนกระจก เพื่อยืนยันความถูกต้องทั้งเรื่องปริมาณตลอดจนขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบ
จนนำมาซึ่งการออกใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแสดงว่า คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านประดู่งาม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ ให้การสนับสนุนกิจกรรมสร้างความรู้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ป่าชุมชนบ้านประดู่งาม
โดยหลังจากนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะเริ่มดำเนินงานตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอนฯ ในป่าชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการต่อไป
สำหรับโครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
วัตถุประสงค์ของโครงการ นอกจากเรื่องรักษาและฟื้นฟูคุณภาพป่าชุมชน 16 แห่ง เพื่อเพิ่มการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ และส่งเสริมให้เกิดความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วยังมีเรื่อง เพิ่มความมั่นคงทางอาหารและรักษานิเวศบริการที่ดีสำหรับชุมชนรอบพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก
รวมไปถึงเรื่องการจัดการป่าชุมชนให้เป็นแนวเชื่อมต่อป่าในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานที่อยู่ในพื้นที่ติดกัน
อ้างอิง
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม