เป็นเวลากว่า 12 ปี ที่นายเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หรือที่รู้จักกันในนาม ผอ.จอม ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน (หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 แม่กะสี) ได้ผ่านการทำงานมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยอย่างไม่ละทิ้งหน้าที่ จนสามารถทำให้หน่วยฯ ได้รับเลือกให้เป็นให้เป็นหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ต้นแบบ
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทางมูลนิธิสืบนาคาเสถียร ร่วมกับกรมป่าไม้ ได้จัดเวทีส่งมอบโมเดลหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ต้นแบบ ซึ่งได้รับเงินจากโครงการเครือข่ายลุ่มน้ำโขง MeKong Connections – Pact โดยมีหน่วยฯ แม่เปินเป็นต้นแบบ มีนายอนันต์ชัย ทับทิม ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ เป็นประธาน และมีนายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นผู้ส่งมอบคู่มือ
นอกจากเป็นเวทีส่งมอบแล้ว ยังมีการนำเสนอและเสวนาแนวทางหน่วยป่าไม้ต้นแบบพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางบริหารพื้นที่ป่าสงวนในบริบทปัจจุบัน
โดยเวทีในช่วงแรกจะเป็นการบอกเล่าถึงควาามสำเร็จของด้านการทำงานของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน โดยนายเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าไม้ และหัวหน้าหน่วยฯ
“เวลาเราจะตั้งหม้อแล้วก่อไฟเนี่ย แล้วเราจะต้องใช้ก้อนหินเส้ามาตั้งเอาไว้ซึ่งขนาดมันไม่เท่ากันกันหรอก ต้องหันเหลี่ยมที่เท่า ๆ กันเข้าหากัน เพื่อให้ได้ความสูงที่มีระดับเดียวกัน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถวางหม้อได้ หากเปรียบกับการทำงานขององค์กร คือแต่ละองค์กรต้องมีบทบาทที่เท่าเทียมกันไม่มีใครที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะถ้าหินมันชิดกันเกินไปไฟมันก็จะดับ หรือติดสักแป๊ป ต้องเปิดช่องว่างเอาอากาศเข้าหน่อย ซึ่งถ้าห่างไปก็ตั้งหม้อไม่ได้ หลักการสามก้อนเส้านี้มันก็เหมือนกับการทำงานของเราสามองค์กร ซึ่งต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมและหันเหลี่ยมเข้าหากันในการทำงาน” ผอ.จอม ได้นิยามแนวคิดการทำงานแบบสามก้อนเส้าที่ทำให้เป้าหมายการทำงานด้านการป้องกันป่าแม่เปินที่ถือว่าเป็น ‘หน้าต่าง’ สู่ป่าอนุรักษ์กว่า 11 ล้านไร่ ที่ประสบความสำเร็จ
ในปี 2559 ความสำเร็จของหน่วยฯ ได้แสดงออกมาอย่างเด่นชัด เช่น การทำหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมการป่าไม้-กรมอุทยาน และมูลนิธิที่เป็นภาคเอกชนภายใต้เนื้อหาการเข้า-ออกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยฯ ได้มีโอกาศการทำงานที่ดีมากขึ้น
ด้วยการสนับสนุนฐานข้อมูล และเทคโนโลยีจากองค์กรเอกชนที่ทำให้หน่วยฯ สามารถแก้ไขปัญหาข้อมูลเจ้าของที่ดินที่สูญหาย หรือไม่ทราบเจ้าของ จนสามารถยื่นรายชื่อเจ้าของที่ดินต่อกรมป้าไม้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินภาในเขตป่าแม่เปิน และยังนำมาช่วยในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมด้านการลาดตระเวนของหน่วยฯ กับชุมชนจนปัญหาการบุกรุกป่าลดลง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของจำนวนประชากรสัตว์ป่า
เมื่อสามารถร่วมมือกับองค์กรขนาดใหญ่ได้แล้วนั้น การร่วมมือกับคนในท้องถิ่นก็จะเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เช่นกัน โดยทางนายเธียรวิชญ์ ได้มีการจัดตั้งโครงการมากมายที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานและการปลูกฝั่งจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ของชุมชน อย่างเช่น ปลูกงานป่าคืนชีวิต จัดขึ้นเพื่อให้คนในพื้นที่และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการรักษาป่า และงานปลูกไม้ให้สี ที่เป็นงานสนับสนุนกลุ่มทอผ้าในพื้นที่ เพื่อลดการเข้าไปใช้เปลือกไม้ในเขตป่าอนุรักษ์
ก่อนที่จะจบการนำเสนอนายเธียรวิชญ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “หน่วยฯ ของผมก็เหมือนรถเทรลเลอร์ ตัวผมเองเหมือนหัวรถที่เป็นผู้นำทางทีม จะพาทีมไปในแนวทางไหนก็ขึ้นอยู่กับคนขับ แต่ลูกน้องของผมก็เหมือนช่วงล่างรถที่เป็นส่วนที่ลองรับน้ำหนักของงานที่บรรทุกเอาไว้ ที่ทำงานหนักกว่าแต่ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่เหล่านี้ภารกิจงานที่มีอยู่ก็ไม่อาจจะสำเร็จลุล่วงได้”
เวทีการเสวนารูปแบบการบริหารจัดการป่าสงวนฯ
การหารือรูปแบบการบริหารจัดการป่าสงวนฯ ร่วมกันทั้งชุมชน และราชการ ให้ได้ประเด็นคำถามจากชุมชนในการส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนฯ และจากหน่วยงานในพื้นที่ที่มาร่วมการหารือในครั้งนี้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประเด็นหลักคือกลุ่ม การจัดการพื้นที่คทช. การจัดการพื้นที่ป่าสงวนฯ การจัดการพื้นที่ป่าชุมชน และความยั่งยืนด้านการใช้พื้นที่ป่าไม้
การจัดการพื้นที่ในพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐฯ (คทช.)
สรุปปัญหาได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทราบกระบวนการจัดทำคทช. ของหน่วยงานรัฐ และยังมีปัญหาในด้านของผู้ถือครองที่ดินที่ไม่ตรงกับพื้นที่ทำกินที่ตนเองอยู่ โดยปัญหาที่กล่าวมาคือต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ต้องการทราบถึงพื้นที่ที่ตนเองสามารถหาประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงทุกคน
เรื่องการจัดการพื้นที่ป่าชุมชน
จะเน้นไปในด้านของการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นการทำคาร์บอนเครดิต ทางชุมชนเขาเขียวได้มีการสำรวจคาร์บอนเครดิต ที่ได้ทุนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการจัดทำแปลง ให้มีการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อเพิ่มในอนาคต โดยขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต้องการให้กรมป่าไม้เข้ามาเป็นศูนย์กลางช่วยบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถนำเสนอขายได้จริง รวมไปถึงในพื้นที่อื่นที่มีการสำรวจด้วย นอกจากนี้ต้องการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานในพื้นที่ร่วมทำงานกับคณะกรรมการป่าชุมชนอย่างเข้มข้น มีการสนับสนุนกล้าพันธ์ุไม้ที่เป็นพืชอาหารอย่างทั่วถึง และมีการอบรมเรื่องกฎหมายป่าชุมชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง
การจัดการพื้นที่ป่าสงวนฯ
ได้นำเสนอในปัญหาที่สัตว์ป่าเข้ามาบุกรุกพื้นที่ของชาวบ้าน และค่อนข้างหนักในช่วงหน้าแล้ง ที่ควรมีวิธีสร้างขอบเขตที่คนสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้ ซึ่งปัญหาที่กล่าวมายังเป็นปัญหาเก่าที่ยังรอการแก้ไข และต้องการให้มีการพูดคุยกันในเวทีเสวนาที่ใหญ่กว่านี้เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น
ความยั่งยืนด้านการใช้พื้นที่ป่าไม้
พูดคุยกันในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่คทช. และจะสามารถนำไปใช้ต่อในด้านเศรฐกิจได้อย่างไร และการจัดการของพื้นที่ป่าชุมชนร่วมกับพื้นที่นันทนาการที่อาจมีการจัดสรรเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ทำคาร์บอนเครดิต อีกทั้งยังมีการพูดคุยเรื่องการจัดทำหนังสือบันทึกข้อตกลงระหว่างองค์กร (MOU) ของกรมป่าไม้อย่างเดียวได้หรือไม่ มีการบูรณาการงบประมาณของหน่วยงาน ที่ไม่ใช่แค่หน่วยงานเอกชนเพียงหน่วยงานเดียวอย่าง จะมีรูปแบบการจัดการในรูปแบบใด และจะมีการจัดทำแผนต่อไปอย่างไร และจะใช้หลักการใดมาอนุญาต คำถามเหล่านี้จะนำไปพูดคุยและพิจารณาต่อไป
จากการประชุมหารือทั้งหมด นายอนันต์ชัย ทับทิม ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ ได้กล่าวสรุปว่า ปัญหาที่แต่ละภาคส่วนนำมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นสิ่งที่จะสามารถนำไปเสวนาต่อไปได้ในอนาคตเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างทั่วถึง โดยผ่านตัวกลางที่เป็นภาคเอกชนอย่างมูลนิธิสืบฯ ที่จะเป็นส่วนประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชนไว้ด้วยกัน ที่ผลักดันการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จได้ในองค์รวม ซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้สามารถขยายออกไปได้ในระดับประเทศ เพื่อจะเป็นการสร้างความมั่นคงของภาคชุมชนสะท้อนขึ้นไปจนถึงภาครัฐ
“เราอยากพูดให้ผู้ใหญ่รู้ว่าวันนี้ข้างล่างฐานพีระมิดเขาทำอะไร เราไม่ต้องการให้ยอดพีระมิดสั่งลงมาให้ทำ” ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 กล่าว
ข้อมูลที่ได้จากการหารือเวทีเสวนาของแต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐและประชาชน ที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่สำคัญของทุกภาคฝ่าย และความต้องการพัฒนารูปแบบการใช้พื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งทุกข้อเสนอและปัญหาที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจะถูกนำไปเป็นหัวข้อในการพัฒนาเพิ่มอีกในอนาคต
บทความโดย : นายศุทธา ศิธรวัฒนะ นิสิตฝึกงานจากคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร