โครงการเชื่อมผืนป่า – หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ กำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ คือ ‘งานจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’
หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘โครงการเชื่อมผืนป่า’ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564
เป้าหมายใหญ่ คือ เสริมพื้นที่ป่าให้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เติมสะพานระบบนิเวศให้ป่าที่ขาดจากกันกลับมาเชื่อมถึงกัน เพื่อเป็นเส้นทางให้สัตว์ป่าจากพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแห่งได้ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างกัน
ผ่านกิจกรรมปลูกไม้ใช้สอยแซมในที่ดินทำเกษตรของชุมชน
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โครงการได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง สะพานแห่งความหวังของสัตว์ป่าก่อร่างสร้างเสร็จไปแล้วแค่ไหน – ‘มูลนิธิสืบนาคะเสถียร’ ชวนทุกท่านที่สนับสนุนการทำงานขององค์กรมาติดตามความคืบหน้า ร่วมกับ ‘อำนาจ สุขขวัญ’ ผู้รับผิดชอบโครงการ ถึงภารกิจที่ผ่านมา ปัจจุบัน และอนาคต
– 1 –
ท้าวความไปที่ปีแรกของงาน ภารกิจของอำนาจ คือ การสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หากจะดำเนินกิจกรรมใดๆ จำเป็นต้องสำรวจพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูล และขออนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ถูกต้องเสียก่อน
โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขนโยบายการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชน ของคณะกรรมการนโยบายที่ดิน หรือ คทช.
ภารกิจขั้นตอนนี้ผ่านไปด้วยดี มูลนิธิสืบฯ ชุมชน และกรมป่าไม้ ร่วมกันสำรวจที่ดินและรูปแบบการใช้ประโยชน์ (ทำมาหากิน) ในพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย 4 แห่ง ได้แก่ ชุมชนบ้านไร่พิจิตร ชุมชนหนองบัว ชุมชนหนองแดน และชุมชนปางขนุน จังหวัดกำแพงเพชร จนสำเร็จครบ 100 เปอร์เซ็นต์
จากนั้นจึงเริ่มทำกระบวนการหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการ และเริ่มส่งเสริมปลูกไม้ใช้ประโยชน์ เพื่อเติมความเขียวให้กับผืนป่าที่ถูกตัดขาด
การชักชวนให้พี่น้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการเป็นอีกหนึ่งงานที่ดำเนินการได้รวดเร็ว เพราะอำนาจเป็นคนทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรมานาน มีความคุ้นเคยกับชุมชนที่นี่เป็นอย่างดี เคยทำกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรร่วมกันหลายงาน มีงานเด่นอย่างการทำกระบวนการจัดตั้ง ‘ป่าชุมชน’ ให้กับหลายๆ ชุมชน
โดยปีแรกของโครงการเชื่อมผืนป่า อำนาจชักชวนพี่น้องเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจได้ 46 ราย
เรื่องต่อมา ในข้อตกลงที่ได้หารือร่วมกันว่าจะปลูกอะไร ? – ชุมชนเลือก ‘ไผ่’ มาเป็นไม้ใช้ประโยชน์ และเป็นพืชตัวแทนการเชื่อมระบบนิเวศผืนป่าทั้งสองแห่ง
เหตุผลที่เลือกไผ่ เพราะเป็นไม้ที่ชุมชนใช้ประโยชน์อยู่แล้ว โดยครอบครัวส่วนใหญ่ที่มีอาชีพทำสวนลำไย จะใช้ไผ่เป็นไม้ค้ำยันกิ่ง แต่ที่ผ่านมาการหาไผ่เป็นการไปตัดเอาตามป่าชุมชนหรือในป่าสงวน และไม่ได้มีกระบวนการปลูกทดแทนอย่างเป็นระบบ
ไผ่จึงตอบโจทย์การใช้งานตามความต้องการของชุมชนเป็นเหตุผลแรก
ขณะเดียวกัน ไผ่เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายในดินทุกประเภท โตไว นำมาใช้งานได้เร็ว รอไม่นานก็เห็นผลตรงหน้า
ในทางระบบนิเวศ ไผ่ยังมีประโยชน์กับสัตว์ป่า เป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่าหลายชนิดได้ใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น หมูป่า เม่น อ้น เก้ง กวาง กระทิง ชอบกินรากไผ่ ส่วนใบไผ่และยอดอ่อนเป็นหนึ่งในเมนูโปรดของช้างป่า
ซึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงมีทั้งประชากรหมูป่าและเก้ง เมื่อมองในระยะยาว สัตว์ป่าทั้งสองก็สามารถใช้ประโยชน์จากไผ่ที่ปลูกได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ว่า ไผ่สามารถนำไปแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ได้หลากหลาย มีประโยชน์มากมายสารพัน สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายทาง เป็นปัจจัยที่ตรงตามท้ายชื่อของโครงการ “สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจะเป็นแผนงานลำดับต่อไปของโครงการเชื่อมป่า
สำหรับไผ่ที่ใช้ปลูก มูลนิธิสืบฯ เป็นผู้จัดหาให้ก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นการให้เปล่า สมาชิกที่รับไปจะต้องตอนกิ่งจากต้นที่โตแล้วนำกลับมาคืนโครงการ เพื่อลดต้นทุนการจัดหา (ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) เพื่อสร้างกระบวนการจัดการต้นทุนทรัพยากรโดยกลุ่มสมาชิกเอง และเพิ่มจำนวนกล้าไผ่สำหรับการปลูกในอนาคต
– 2 –
“พอเข้ามาปีที่สองเรามีสมาชิกเพิ่มอีก 20 คน” อำนาจเล่าถึงผลงานที่เกิดขึ้นในปี 2565
แม้โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนัก แต่อำนาจได้ขยายความในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“สมาชิกที่เพิ่มเข้ามา ผมไม่ได้เป็นคนเอ่ยปากชวนเลยนะ สมาชิกใหม่ทั้งหมดมาจากสมาชิกในปีแรกได้นำเรื่องราวไปพูดคุยกันเองในหมู่เพื่อนฝูงเครือญาติ จากปากต่อปาก จนมีพี่น้องของเขาสนใจมาเข้าร่วมโครงการ”
สิ่งที่เกิดขึ้น อำนาจมองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการสานต่อโครงการในปีต่อๆ ไป เป็นการเติบโตที่ผู้รับผิดชอบโครงการใช้คำว่า “เห็นอนาคตด้วยกันจากรูปธรรมที่เกิด” เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานฉบับย่นย่ออย่างมีความหวัง
ที่สำคัญมากไปกว่านั้น ชุมชนเริ่มมองหาแนวทางการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของไผ่ที่ได้มาด้วยตัวเอง เช่น จะนำผลผลิตที่ได้จากหน่อหรือลำไผ่ไปขายที่ไหน
“เขาคิดกันเอง โดยไม่ต้องมาปรึกษาหรือถามเราเลย ผมคิดว่านั่นคือความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยตัวชุมชนเอง” อำนาจเล่าด้วยภูมิใจที่มีต่อชุมชน
ในเรื่องเชิงปริมาณ นอกจากสมาชิกจะเพิ่มแล้ว พื้นที่ปลูกไผ่ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
จากเดิมมีพื้นที่ปลูก 60 ไร่ ก็เพิ่มเป็น 120 ไร่ ทั้งจากสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่าที่รับไผ่ไปปลูกเพิ่ม
และไผ่ที่ปลูกไว้ในปีแรกก็ค่อยๆ เติบโตสูงชะลูดขึ้นเรื่อยๆ
หรือหากนับเป็นจำนวนต้น ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีรากไผ่ฝังดินไปแล้วกว่า 8,000 ต้น
…ทว่า 8,000 ต้น เพียงพอแค่ไหนกับการเชื่อมป่า ?
คำตอบ คือ ยังไม่พอ
เหตุผลประการแรก เพราะโครงการเชื่อมผืนป่าเป็นโครงการระยะยาวที่ถูกวางแผนไว้ว่าอาจต้องใช้เวลาเกือบครบทศวรรษ
เหตุที่ต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นการปลูกทั้งเพื่อตัดไปใช้ และเพื่อระบบนิเวศไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น ความร่มรื่นของผืนป่าที่เกิดใหม่จากการใช้ไผ่เป็นไม้เบิกนำคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันเร็วนัก
เหตุผลข้อสอง เนื่องจากพื้นที่ปลูกไผ่ยังกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ไม่ได้เชื่อมร้อยเรียงกันทั้งหมด
เรื่องนี้มีเหตุผลขยายต่อว่า แม้การสำรวจพื้นที่เพื่อขออนุญาตให้ชุมชนสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตามกฎหมายจะดำเนินการครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขั้นตอนการอนุญาตโดยกรมป่าไม้ไม่ได้เสร็จครบพร้อมกันทุกพื้นที่ บางครอบครัวยังอยู่ระหว่างรอเอกสารอนุมัติอนุญาต
เหตุที่อนุญาตไม่พร้อมกัน เพราะรูปแบบการใช้ประโยชน์ตลอดจนช่วงเวลาการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินมีความแตกต่างกัน ขั้นตอนการตรวจสอบและอนุญาตจึงไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จพร้อมกัน
รวมถึงวิธีการปลูกที่ใช้รูปแบบ Stepping stone (หรือการสร้างหย่อมถิ่นที่อยู่อาศัยตั้งแต่หนึ่งหย่อมขึ้นไป โดยแต่ละหย่อมจะมีการจัดเรียงตัวอย่างเหมาะสม และเอื้อต่อการเคลื่อนที่ของสัตว์ป่า) ก็ยังไม่ได้มีการเรียงตัวที่สมบูรณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
และเหตุผลที่สาม เป็นตัวชี้วัดเชิงรูปธรรมที่ยังไม่พบสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์
ในส่วนนี้ต้องท้าวความอีกหน่อยว่า ภารกิจของโครงการนอกจากสำรวจพื้นที่และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมผืนป่าแล้ว ยังประกอบด้วยงานด้านวิชาการอีกหนึ่งอย่าง
งานวิชาการของโครงการแบ่งแยกย่อยเป็นการเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชน พันธุ์พืช ตลอดจนข้อมูลร่องรอยสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ขอบป่าทั้งในส่วนของป่าอนุรักษ์ที่ดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในพื้นที่ป่าสงวนของกรมป่าไม้ และพื้นที่ชุมชน
และเป็นการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างทั้งสองหน่วยงานกับภาคประชาชน
จากผลงานการลาดตระเวนที่ผ่านมา ยังไม่พบร่องรอยของสัตว์ป่าในพื้นที่แปลงปลูกไผ่
แต่อำนาจก็หวังว่าในอนาคตจะพบร่องรอยที่วาดฝัน อันหมายถึงการเดินทางข้ามสะพานระบบนิเวศเพื่อแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสองแห่ง
ท้ังจากเขาสนามเพรียงไปคลองวังเจ้า และจากคลองวังเจ้าเดินทางไปสนามเพรียง
ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามและคิดหาวิธีจัดการกันต่อในอนาคต
– 3 –
สำหรับการทำงานในช่วงเข้าสู่ปีที่สาม อำนาจอธิบายว่า ภารกิจหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องการเพิ่มจำนวนสมาชิกและพื้นที่ปลูกไผ่เป็นหลัก อย่างน้อยๆ อำนาจคาดหวังว่าจะปลูกไผ่ได้อีกเท่าหนึ่งของที่ปลูกไปแล้ว (ตามแผนการดำเนินงานโครงการ)
ตามด้วยงานติดตามเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงแปลงเพาะปลูกเดิม เพื่อทราบถึงการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้และเสียไปเท่าไหร่ สำหรับนำไปวิเคราะห์แก้ไขปัญหา
และในปีนี้ อำนาจตั้งใจหาบทสรุปเบื้องต้นในเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้กับไผ่ที่ปลูก
“ถึงแม้ชุมชนจะมีไอเดียเรื่องการขายลำไผ่หรือการขายหน่อ แต่มูลค่าของไผ่ยังสามารถแปรรูปได้มากกว่านั้น จะเป็นไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบลูกชิ้น ทำเป็นธุรกิจขนมข้าวหลามส่งขายร้านสะดวกซื้อ หรืออาจทำเฟอร์นิเจอร์ที่ชุมชนมีความถนัดอยู่แล้ว ในส่วนนี้คงต้องปรึกษาหารือร่วมกับสมาชิกให้ชัดเจน”
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์เรื่องการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องกระบวนการกลุ่ม เช่น การตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้สมาชิกสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง และบริการจัดการทรัพยากรชุมชนอย่างเป็นระบบต่อไปในอนาคต โดยไม่ต้องพึ่งมูลนิธิสืบฯ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสะพานระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน
เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้
เหล่านี้เป็นโจทย์ที่กำลังรอคำตอบอย่างท้าทายอยู่ทั้งตลอดปี 2566
ขอขอบคุณ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม