มูลนิธิสืบฯ จัดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนชมรมอนุรักษ์” พาน้อง ๆ 5 มหาลัย ลงพื้นที่สามร้อยยอด เรียนรู้การทำสื่อ เพื่อการอนุรักษ์เสือปลา
จากคำกล่าวที่ว่า “เด็กหรือเยาวชนคืออนาคตของชาติ” ทำให้การจะปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ควรจะเริ่มกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมกับหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการอนุรักษ์ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ก็ตาม
โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา อย่างมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ดำเนินการโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงได้พาน้อง ๆ จากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายนิสิต นักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ลงพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 9-11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาถึงระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือปลา สัตว์นักล่าสูงสุดของพื้นที่ชุ่มน้ำ
อย่างที่ทราบกันดีถึงสถานะของเสือปลาว่า พวกมันเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
ส่วนในประเทศไทยเสือปลาถูกจัดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สาเหตุหลัก ๆ ของการเสี่ยงสูญพันธุ์มาจากการถูกล่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสูญเสียที่อยู่ตลอดจนอาหารของเสือปลา
หากสงสัยว่าพวกมันสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร ก็คงต้องตอบว่าพวกมันนั้น เป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับเสือโคร่งในป่าที่เป็นผู้ล่าสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร
ถ้าเราสูญเสียสัตว์ผู้ล่าสูงสุดชนิดนี้ไปจากระบบนิเวศ บอกได้เลยว่าระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำวุ่นวายแน่นอน เนื่องจากพื้นที่จะมีสัตว์ที่เป็นเหยื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เสือปลากินสัตว์ขนาดเล็ก อย่าง ปลา นก หรือหนู ถ้าสัตว์อย่างหนูเพิ่มจำนวนขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล แต่มันจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน
จากความสำคัญดังกล่าวของเสือปลา โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาฯ ดำเนินการโดยมูลนิธิสืบฯ จึงอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เสือปลา ตลอดจนระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด
นอกจากนี้อีกหนึ่งหัวใจหลักของการอนุรักษ์ยุคปัจจุบันคือการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญของเสือปลา มูลนิธิสืบฯ เลยจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางด้านสื่อ ทั้งการเขียนบทความ การทำเกร็ดความรู้ การทำอินโฟกราฟิก และการทำวิดีโอสารคดี
อีกทั้งยังพาน้อง ๆ ทุกคนลงพื้นที่ติดตามร่องรอยเสือปลาในชุมชนโดยรอบ นั่งเรือศึกษาระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ กิจกรรมดูนก กิจกรรมจิตอาสาเก็บขยะรอบหาดสามพระยา และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
เป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้คือ น้อง ๆ จากชมรมอนุรักษ์ของทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จะเกิดความตระหนักต่อความสำคัญของการอนุรักษ์เสือปลา และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเสือปลา สำหรับการเผยแพร่ในช่องทางสื่อสารของชมรมฯ โดยคาดหวังให้สาธารณชนได้รับรู้เรื่องการอนุรักษ์เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ผลงานของน้อง ๆ แต่ละชมรมสามารถติดตามกันได้ที่เพจหรือช่องทางสื่อสารของแต่ละมหาวิทยาลัยได้เลย โดยจะทำการเผยแพร่พร้อมกันวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นี้
#กองทุนสิ่งแวดล้อม #มูลนิธิสืบนาคะเสถียร #เครื่อข่ายอนุรักษ์ #เสือปลา #สามร้อยยอด