18 -19 พฤศจิกายน 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมอบรมประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน ที่ป่าชุมชนประดู่งาม อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่อบรม อันได้แก่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ตัวแทนชุมชน ได้รับองค์ความรู้พื้นฐานเรื่องคาร์บอนเครดิต ตลอดจนการคำนวณเพื่อประเมินศักยภาพผืนป่าแต่ละแห่งที่หน่วยงานหรือชุมชนดูแล
ในการอบรมมีผู้เข้าแสวงหาความรู้จำนวน 30 คน ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบ้านประดู่งาม ชุมชนบ้านสระสวัสดิ์ ตัวแทนจากศูนย์ป่าไม้ จ.นครสวรรค์ ศูนย์การจัดการป่าชุมชน สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สามขานครสวรรค์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์
มีระวี ถาวร กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิต เป็นผู้นำการอบรมและถ่ายทอดกระบวนความรู้ ร่วมกับพรพันธุ์ เรืองวงษ์งาม เจ้าหน้าที่ GIS มูลนิธิสืบนาคะเสถียร วิทยากรผู้ช่วย นำเสนอองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และขั้นตอนการสำรวจประเมินสภาพพื้นที่ป่าและคาร์บอนในภาคปฏิบัติอย่างง่ายๆ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักของการอบรม
ในภาคปฏิบัติได้นำผู้อบรมสำรวจและประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่จริง โดยเลือกเอาป่าชุมชนประดู่งาม อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เป็นพื้นที่ศึกษา ด้วยเหตุผลว่าป่าชุมชนประดู่งามมีความเหมาะสมทั้งชนิดพันธุ์พืช พื้นที่ตั้ง ขนาดของป่า ตลอดจนความสะดวกของการเดินทางไปจัดอบรม
ในภาคปฏิบัตินี้ ได้แบ่งผู้อบรมออกเป็น 4 กลุ่ม ช่วยกันเก็บข้อมูลของป่าชุมชนแบ่งเป็นแปลงๆ โดยองค์ประกอบของสมาชิกของกลุ่ม จะมีทั้งผู้ชำนาญพื้นที่ ผู้รู้จักพันธุ์ไม้ ผู้วางแปลงสำรวจ ผู้ติดหมายเลขต้นไม้ ผู้วัดความโตและความสูงของต้นไม้ ผู้บันทึกข้อมูล ผู้บันทึกภาพถ่ายและจับพิกัดจีพีเอส
โดยวิทยากรนำตีแปลงพื้นที่ขนาด 1 ไร่ (40 x 40 เมตร) และแบ่งเป็นแปลงย่อยขนาดต่างๆ ตามรูปแบบการเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ คือ แปลงขนาด 10 x 10 เมตร สำหรับสำรวจต้นไม้ ไผ่ พันธุ์พืชอื่นๆ และสัตว์ป่า
แปลงขนาด 4 x 4 เมตร สำหรับสำรวจไม้หนุ่ม แปลงขนาด 1 x 1 เมตร สำหรับสำรวจลูกไม้
เมื่อตีแปลงครบแล้ว วิทยากรได้สอนวิธีการตรวจวัดต้นไม้ รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องในการสำรวจ เช่น การวัดความสูงของต้นไม้ การวัดความโต พร้อมวิธีการบันทึกข้อมูลเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประมวลผลต่อ โดยมีการติดหมายเลขประจำต้นไม้เพื่อใช้ในการระบุในฐานข้อมูลในระดับความสูง 130 ซม. เพื่อเป็นฐานข้อมูลและการติดตามการโตในอนาคต
เมื่อทุกกลุ่มได้ข้อมูลของพันธุ์ไม้ในพื้นที่แล้ว วิทยากรได้ให้ผู้เข้าร่วมอบรมนำข้อมูลที่ได้กลับมาคำนวณหาปริมาณคาร์บอนโดยใช้โปรแกรมขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่มีตารางสูตรการคำนวณสำเร็จให้เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ข้อมูลความสูงและความโตของต้นไม้บันทึกลงไป
ตัวอย่าง การประเมินการกักเก็บดูดซับคาร์บอนในป่าชุมชน ป่าชุมชนประดู่งาม มีเท่ากับ 6,540.627 (tCO2eq) จากพื้นที่ 385 ไร่
และหลังจากกิจกรรมในครั้งนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะขยายการประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชนภายใต้โครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตกเพื่อนำผลที่ได้ไปใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือเรียกว่าโครงการ LESS ภายใต้การดูแลของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ต่อไป
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก” ภายใต้การสนันสนุนของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ในเขตป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้ของชุมชนและป่าอย่างยั่งยืน
เรื่อง นางสาวสุธาสินี นุกูลกิจ