มูลนิสืบนาคะเสถียร และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดเวทีเสวนา “ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา” ซึ่งเป็นเวทีที่จะร้อยเรียงเรื่องราวการศึกษาและงานอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแนวร่วมงานอนุรักษ์กวางผา โดยเวทีเสวนาจะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง
เวทีเสวนาช่วงที่หนึ่ง ภายใต้ชื่อ “ยุคแรก : ภาพอดีต จุดเริ่มต้นกวางผาในยุคสืบนาคะเสถียร” เป็นเวทีเสวนาว่าด้วยยุคสมัยแรกของการทำงานอนุรักษ์กวางผา ร่วมสมัยกับคุณสืบ นาคะเสถียร ตลอดจนจุดเริ่มต้นงานศึกษาเกี่ยวกับกวางผาในช่วงแรก
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เชิญ น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว มาเป็นผู้ดำเนินรายการในเวทีเสวนาครั้งนี้ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการอนุรักษ์กวางผา กับ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.กฤษณ์ เจริญทอง อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย นอกจากนี้ยังมี รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ หนึ่งในบุคคลสำคัญของงานอนุรักษ์กวางผา มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการสำรวจและอนุรักษ์กวางผาในยุคบุกเบิกด้วย
จุดเริ่มต้นการสำรวจกวางผา
อย่างที่ทราบกันดีว่ากวางผาเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย ทว่ามีน้อยคนนักที่จะได้เห็นมัน แม้แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในอดีต ครั้งที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังอยู่ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้อยู่ ก็ไม่เคยได้เห็นมันเลยสักครั้ง ตามที่ รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ กล่าวไว้ว่า กวางผาเริ่มเป็นที่รู้จักจากหนังสือ Mammals of Thailand ของ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (คุณหมอบุญส่ง) และ Jeffrey A.Mc Neely ที่ได้มีภาพกวางผา 2 ภาพ ภาพหนึ่งมาจากในยุโรป ส่วนอีกภาพมาจากสวนสัตว์ในซานติอาโก เป็นสายพันธุ์พม่า ซึ่งคาดว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในประเทศไทย
อีกทั้งคุณหมอบุญส่งยังได้กล่าวเพิ่มเติมในหนังสือถึงจุดที่พบกับกวางผาในประเทศไทย บริเวณด้านตะวันตกของต้นน้ำแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยข้อมูลดังกล่าวถูกนำเสนอในสัมมนาสัตว์ป่าเมืองไทยด้วย หลังจากข้อมูลกวางผาจากหนังสือ Mammals of Thailand ได้เผยแพร่ออกไป ทำให้อาจารย์และนักวิชาการด้านสัตว์ป่าเริ่มหันมาให้ความสนใจและลงพื้นที่สำรวจกวางผากันมากขึ้นด้วย
ในปี 2526 รศ.ดร.นริศ ได้ไปขึ้นไปสำรวจกวางผาที่ดอยม่อนจอง กับ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ โดยทั้งคู่ได้ขึ้นไปถึงบริเวณสันเขาของดอย บริเวณที่มีหน้าผาที่สูงชัน จนได้มีโอกาสพบเห็นกวางผาบริเวณสันดอยในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยกวางผาที่พวกเขาเห็นนั้นมีอยู่ประมาณ 5 ตัว พวกมันกำลังเล็มกินยอดหญ้าอ่อนบริเวณสันเขาอยู่ ซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาระมาณบ่ายสี่โมงกว่า ๆ แล้ว รศ.ดร.นริศจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการถ่ายภาพกวางผาเหล่านั้นและได้นำไปเผยแพร่แก่อาจารย์ท่านอื่น ๆ ต่อไป
รศ.ดร.นริศ กล่าวว่า การศึกษาและวิจัยกวางผายังมีเพียงการลงพื้นที่สำรวจเท่านั้น ยังไม่ได้มีการศึกษาเป็นงานวิชาการแต่อย่างใด นั่นจึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมากพอที่จะทำความเข้าใจและเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบ โดยสาเหตุที่ทำให้ยังไม่มีงานศึกษากวางผานั้น รศ.ดร.นริศกล่าวว่า เป็นเพราะตอนนั้นยังไม่มีทุนมากพอสำหรับการศึกษาเฉพาะด้านนี้ อีกทั้งยังไม่มีนิสิตที่สนใจจะเข้ามาศึกษาในตรงนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี ดร.กฤษณ์ เจริญทอง ได้กล่าวเพิ่มเติมในเรื่องขององค์ความรู้เรื่องกวางผาว่า นอกจากข้อมูลที่ได้มาจากการลงพื้นที่สำรวจแล้ว ยังมีข้อมูลที่มาจากชาวบ้านบริเวณโดยรอบถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาด้วย โดยชาวบ้านเหล่านี้เป็นผู้ที่พบเจอและมีประสบการณ์กับกวางผาอย่างแท้จริง จนสามารถชี้จุดที่กวางผาออกมาหากินได้ ดร.กฤษณ์ ก็ได้ยกตัวอย่างชาวบ้านบริเวณแม่เลา-แม่แสะ ที่รู้ข้อมูลกวางผาที่แม่นยำที่สุด เนื่องจากเป็นทั้งที่อยู่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของกวางผา เนื่องด้วยช่วงเวลานั้นยังไม่มีข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการมากนัก ทำให้ชุดข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเรียนรู้เรื่องกวางผา
การสำรวจกวางผา ของ สืบ นาคะเสถียร
เรื่องราวการสำรวจกวางผาของสืบ นาคะเสถียรนั้น ทางดร.กฤษณ์ ผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์การสำรวจในครั้งนั้นมาเล่าให้ฟังว่า ทีมสำรวจตอนนั้นจะประกอบไปด้วย ดร.ชุมพล สืบ นาคะเสถียร ดร.แซนโดร โลวารี ผู้เขียนหนังสือ The Biology and Management of Mountain Ungulates ดร.กฤษณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าม่อนจอง และคำนึง ณ สงขลา ผู้ช่วยดร.กฤษณ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานปกป้องรักษาผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ทั้งหมดได้เดินทางมาสำรวจและเก็บภาพกวางผาที่ดอยม่อนจอง โดยได้เดินเท้าตามทางเดินภูเขาไปจนถึงยอดของดอยม่อนจอง ใช้เวลากว่า 6-7 ชั่วโมง
โดยทีมสำรวจได้คาดการณ์ว่าจะพบร่องรอยของกวางผาบริเวณแง่หินหน้าผาดอยม่อนจอง ทั้งหมดจึงต้องการที่จะไปสำรวจและเก็บตัวอย่างหญ้าหรือพืชที่กวางผากินเพื่อนำกลับไปศึกษาต่อ ก่อนที่จะได้ลงไปบริเวณแง่หินดังกล่าว คุณสืบได้ย้อนกลับไปเอาฟิล์มถ่ายรูปที่แคมป์ ส่วน ดร.กฤษณ์ขึ้นมารออยู่บริเวณสันเขาแทน คนที่ลงไปในบริเวณใกล้กับแง่หินมากที่สุดคือ ดร.ชุมพล และ คำนึงตามลำดับ
ดร.กฤษณ์ เล่าต่ออีกว่า หลังจากที่ทั้งคู่ลงไปบริเวณดังกล่าวได้ไม่นานควันจากไฟป่าเริ่มหนาขึ้นจนทำให้มองไม่เห็นทั้งสองที่ลงไป ด้วยความที่ควันหนามาก ทำให้ทั้งสองที่ลงไปมองไม่เห็นไฟป่าที่ไหม้ขึ้นมาจนดึงบริเวณที่อยู่ และเมื่อรู้ตัว ดร.ชุมพลได้ก้มหมอบติดไปกับหิน โดยไฟได้ไหม้อย่างรวดเร็ว และมอดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
หลังจากที่ไฟป่าสงบลงดร.กฤษณ์ได้ลงไปช่วยเหลือดร.ชุมพล และตะโกนหาคำนึงที่ยังอยู่ด้านล่าง ทว่ากลับไม่มีเสียงตอบกลับมาแต่อย่างใด ทางคุณสืบที่ได้ตามมาที่หลังได้พบกับขี้เถ้าหมวกของคำนึง ส่วนดร.กฤษณ์ก็ได้ลงมาตามหาคำนึงต่อที่ข้างล่างหน้าผา แต่ก็ไม่ได้พบร่างของคำนึง
วันถัดมาดร.กฤษณ์จึงได้ตามชาวบ้านบ้านแม่ตื่นมาช่วยกันตามหา เป็นเวลาร่วมเดือนกับภารกิจตามหาคำนึง จนสุดท้ายได้พบกับร่างอันไร้วิญญาณของคำนึงอยู่บริเวณกลางหน้าผา ทว่าทีมค้นหากลับไม่สามารถกู้ร่างของคำนึงลงมาได้ กระทั่งมีอยู่วันหนึ่งฝนได้ตกลงมา จึงทำให้ศพร่วงลงมา ทุกคนที่ได้รู้ว่าร่างของคำนึงร่วงลงมาแล้ว จึงได้ช่วยกันนำร่างของคำนึงกลับมาที่หน่วยพิทักษ์ป่าได้ในที่สุด
งานวิจัยและงานศึกษากวางผาในยุคเริ่มต้น
การสำรวจกวางผาในยุคของสืบ นาคะเสถียร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการศึกษาและอนุรักษ์กวางผาในยุคหลัง รศ.ดร.รัตนวัฒน์คืออีกหนึ่งคนที่ได้รับอิทธิพลจากการสำรวจกวางผาของคุณสืบ โดย รศ.ดร.รัตนวัฒน์ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิสืบฯ และโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) เพื่อมาศึกษาเรื่องกวางผาที่จังหวัดเชียงใหม่และตาก ท้ายที่สุด รศ.ดร.รัตนวัฒน์ได้จัดพิมพ์งานวิจัยในหัวข้อ “นิเวศวิทยาของกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และตาก”
การวิจัยครั้งนี้ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนดอยม่อนจอง 15 วันต่อเดือน เป็นเวลา 12 เดือน เพื่อศึกษาพฤติกรรมกวางผาอย่างใกล้ชิด การศึกษากวางผาในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากมีงานศึกษากวางผาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดียังมีหนังสือ “พฤติกรรมของกวางผา (Naemorhedus griseus) ในสภาพกรงเลี้ยง” ของ สำเริง การบรรจง และ “Mountain Sheep” ของ Valerius Geist ที่ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ใช้เป็นตัวตั้งต้นในการศึกษาวิจัยกวางผา
ระยะแรกของการสำรวจ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ได้ทำแผนที่ด้วยมือเพื่อศึกษาขนาดพื้นที่ของดอยม่อนจอง อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา เพื่อศึกษาจำนวนประชากรของกวางผาบนดอยม่อนจอง ต่อมา รศ.ดร.รัตนวัฒน์ได้รับมอบหมายให้สำรวจพื้นที่ที่กวางผาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ตนจึงได้รวบรวมเอกสารร่วมกับการลงพื้นที่สำรวจ จนได้พบถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาเพิ่มเติม ทั้ง ดอยหลวงเชียงดาว ดอยอินทนนท์ แม่เลา-แม่แสะ ดอยพ่อหลวง แม่ปิง ลุ่มน้ำปาย
นอกจากเรื่องการกระจายตัวของกวางผาตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว งานวิจัยกวางผาของ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ยังชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมและข้อมูลทางชีววิทยาของกวางผาด้วย อาทิ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของกวางผาที่จะใช้เวลาเกือบทั้งวันไปกับการกินและนอน พฤติกรรมการลับกิ่งไม้และถูต่อมใต้ตาเพื่อแสดงอาณาเขตของตัวผู้ และพฤติกรรมการหากินแบบตัวเดียวมากกว่าการหากินเป็นฝูง เป็นต้น
งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานบุกเบิกชิ้นสำคัญของการศึกษาเรื่องกวางผาในประเทศไทย โดยหลังจากที่ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ได้เผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ออกไป ได้ถูกใช้เป็นอ้างอิง รวมถึงถูกนำไปตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศอีกหลายครั้ง ในปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวก็ยังคงถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงและศึกษาอยู่
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ