เสือปลา สัตว์นักล่าสำคัญแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ ทว่าปัจจุบันมันกลับเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์/เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีที่ 2 ของอนุสัญญาการค้าระหว่างประเทศทั้งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและสถานะที่เสี่ยงสูญพันธุ์ของเสือปลา จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา อย่างมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดขึ้น เพื่อลดผลกระทบระหว่างคนกับเสือปลา ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากรเสือปลาในพื้นที่ ตลอดจนเพื่อสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ และนอกพื้นที่อื่น ๆ
นำมาสู่กิจกรรมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 266 ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้จัดกิจกรรม “ประชุมนิเทศโครงการเสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด” ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้ง องค์การแพนเทอรา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมนำเสนอข้อมูลและแผนการดำเนินงานแก่กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เบื้องต้นทางมูลนิธิสืบฯ ได้รายงานรายละเอียดแผนงานโครงการฯ ผลการหารือผลกระทบของเสือปลาที่มีต่อชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเสือปลาภายใต้โครงการฯ โดย นางสาวปารีณา ธนโรจนกุล เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่าย ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาปรับใช้ต่อกิจกรรมในโครงการฯ
นอกจากการรายงานความก้าวหน้าโดยมูลนิธิสืบฯ แล้ว ยังมีองค์การแพนเทอรา มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมรายงานความก้าวหน้างานวิจัยศึกษานิเวศวทิยาเสือปลาโดยการติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม (โดย องค์การแพนเทอรา) ความก้าวหน้างานวิจัยประชากรของเสือปลา (โดย มจธ.) และ แผนการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด (โดยอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน่วยงานที่ร่วมกับมูลนิธิสืบฯ ในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่และรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ถัดมามูลนิธิสืบฯ ได้พาตัวแทนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเสือปลา ณ บ้านเขาแดง บ้านดอนยายหนู บ้านเกาะไผ่-เกาะมอญ และลงพื้นที่บ้านหนองจอก ที่ได้ติดตั้งรั้วกั้นสำหรับป้องกันเสือปลาเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ทางองค์การแพนเธอรายังได้พามูลนิธิสืบฯ และกองทุนสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่บริเวณที่ติดตั้งกล้องเพื่อศึกษานิเวศวิทยาของเสือปลา ภายใต้โครงการอนุรักษ์และวิจัยประชากรเสือปลา (Prionailurus viverrinus)
ภายในกิจกรรมยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระว่างองค์กรต่าง ๆ กองทุนสิ่งแวดล้อม และตัวแทนชุมชน โดยประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อคิดเห็นจะถูกนำปรับใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการฯ ต่อไป
ช่วงสุดท้ายของกิจกรรม มูลนิธิสืบฯ ได้พากองทุนสิ่งแวดล้อมไปล่องเรือ ณ ท่าเรือชมทุ่ง เกาะไผ่แคมป์ปิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เขาสามร้อยยอด ผ่านการใช้เสือปลาเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาให้กับคนในชุมชนด้วย โดยการนั่งเรือชมทุ่งนั้นนอกจากจะได้ชมทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมของสามร้อยยอดแล้ว ยังได้เรียนรู้ระบบนิเวศและความสำคัญของพื้นที่โดยรอบเขาสามร้อยยอด ในฐานะพื้นที่ที่พบเสือปลามากที่สุดในประเทศไทยแล้ว และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย