ภาพสะเทือนใจจากการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นบทเรียนที่ทำให้ สืบ นาคะเสถียร เปลี่ยนบุคลิกภาพจากนักวิชาการ สู่นักอนุรักษ์อย่างเต็มตัว และการก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภารกิจสำคัญ คือสร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่รอบห้วยขาแข้งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน และนับเป็นก้าวแรกของการบ่มเพาะกล้าพันธุ์เครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์
ก้าวแรกการบ่มเพาะกล้าพันธุ์เครือข่ายเยาวชนนักอนุรักษ์
ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ขณะที่ สืบ นาคะเสถียร เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหัวยขาแข้ง หนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปจากนักวิชาการ สู่การเป็นนักอนุรักษ์ คือ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของป่า สัตว์ป่า โดยวิธีการตระเวนไปในโรงเรียนรอบ ๆ ห้วยขาแข้ง พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องฉายภาพ เพื่อบรรยายความสำคัญของสัตว์ป่า ให้แก่เด็กและเยาวชนได้รู้ได้เห็น
เบญจมาศ บุญศรี อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ หนึ่งในนักเรียนชั้น ม. 4 โรงเรียนบ้านไร่วิทยา อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และเป็นเยาวชนที่ได้รับฟังคำบรรยายจาก สืบ นาคะเสถียรในขณะนั้น ได้กล่าวว่า “จำได้ว่า ตอนนั้นอยู่ ม. 4 พี่สืบแกมากับลุงกาหลง นำรูปภาพสัตว์ป่าที่อพยพจากเขื่อนเชี่ยวหลานมาให้ดูแล้วก็บรรยายว่าตัวไหนเป็นตัวอะไรเราต้องสูญเสีย และภาพสัตว์ป่าที่น่ารักบ้าง น่าสงสารบ้าง บรรยายตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง”
“ตอนนั้นรู้สึกทึ่ง และสงสารสัตว์ที่พี่สืบถ่ายภาพสไลด์เอามาโชว์ เพราะมีทั้งสัตว์ที่ตายและตัวที่รอดแต่ส่วนใหญ่จะตาย พี่สืบจะเล่าถึงพฤติกรรมสัตว์ต่างๆให้ฟังด้วยว่าแต่ละตัวมีพฤติกรรมยังไงน่ารักยังไงและน่าชังอย่างไร”
การที่สืบ นาคะเสถียร เลือกกลุ่มเด็ก และเยาวชน ในพื้นที่สถานศึกษารอบห้วยขาแข้งนั้นเพราะเชื่อมั่นว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นฐานกำลังสำคัญในการรักษาป่าต่อไปในอนาคต จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวจึงเป็นการต่อยอดภารกิจ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์กล้าพันธุ์เครือข่ายนักอนุรักษ์ ของมูลนิธิสืบฯ ในช่วงเวลาต่อมา
ภายหลังจากการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร เพื่อนพ้องน้องพี่ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรขึ้น เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของคุณสืบและยังคงสานต่อแนวคิดการเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเขียนไว้ในตราสารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจว่า “ส่งเสริม และสนับสนุน การก่อให้เกิดความรู้ ความคิดเห็น และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม” โดยในช่วงแรกนั้นมูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ให้คำแนะนำเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการสื่อสารต่อสาธารณชน
เริ่มต้นที่ ‘ครู’ สู่ ‘เครือข่ายเยาวชน’ ทั่วประเทศ
ช่วงทศวรรษแรกของงานด้านการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น มูลนิธิสืบฯ ได้มุ่งเน้นไปที่กระบวนการสร้างการเรียนรู้ และการพัฒนาเนื้อหาวิธีการสอนมิติการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับสถานบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น กลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเน้นไปที่บุคลากรที่ให้ความรู้ คือ ครู
กิจกรรมแรก คือ การอบรม ‘ครู’ และ ‘ศึกษานิเทศก์’ ในสังกัดกรมสามัญศึกษาจากทั่วประเทศกว่า 100 คน ผ่านโครงการฝึกอบรมเทคนิคและกระบวนการจัดกิจธรรมชาติให้กับคุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูอาจารย์ที่เข้าร่วมอบรมสามารถพัฒนาเนื้อหาสิ่งแวดล้อมและดำเนินการสอนเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่นักเรียนได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
ต่อมาได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมเป็น ‘การเรียนรู้นอกห้องเรียนในพื้นที่ธรรมชาติ’ ผ่านโครงการเผยแพร่งานอนุรักษ์ในโรงเรียนที่อยู่รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับกลุ่มและองค์กรเครือข่าย เช่น กิจกรรมแสดงหุ่นมือนิทานบอกเล่าเก้าสิบกับกลุ่มตา กับยาย โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนในพื้นที่รอบป่าอนุรักษ์โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
กับกลุ่มเยาวชน มูลนิธิสืบฯ ได้ริเริ่มโครงการอบรมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทั้งเยาวชนในเขตเมืองและเยาวชนในท้องถิ่น โดยจัดสัมมนาเครือข่ายเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสระบุรี กลุ่มเด็กรักษ์บ้านเพชรบุรี กลุ่มเยาวชนอาสาดับไฟป่าโรงเรียนจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอุทัยธานี และกลุ่มเยาวชนพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้่จัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิสืบฯ จัดประชุมเครือข่ายเยาวชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านการอนุรักษ์ทั่วประเทศ ซึ่งผลผลิตที่ได้ในยุคนั้นคือเกิดเครือข่ายเยาวชนด้านการอนุรักษ์ทั่วประเทศโดยมีมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้เชื่อมร้อยเครือข่าย
งานเครือข่ายเยาวชนในยุคโซเชียลมีเดีย
ทศวรรษที่สอง รูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลง การสื่อสารมีช่องทางและเครื่องมือเพิ่มมากขึ้น โซเชียลมีเดีย เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสื่อสาร ด้วยรูปแบบที่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้ง่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานผ่านหน้าจอมือถือ ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เป็นองค์กรสื่อสารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ส่วนงานด้านเครือข่ายได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกับเครือข่ายเยาวชน โดยเพิ่มช่องทางในการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งจัดการอบรมที่เรียกว่า ‘เครือข่ายเยาวชนเฟสบุ๊ครอบผืนป่าตะวันตก’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และนำเสนอเรื่องราวการทำงานอนุรักษ์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเยาวชนทั้งในและนอกผืนป่าตะวันตก ทั้ง 6 จังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก หรือ Jompa
งานเครือข่ายเยาวชนกับบทบาทการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์
กันยายน พ.ศ. 2556 มูลนิธิสืบฯ ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ จากอุทยานฯ แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ – หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ กรุงเทพฯ ใช้เวลา 13 วัน ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร การเดินเท้าครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายนักอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะนักศึกษา และชมรมอนุรักษ์จากหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ
บทบาทที่สำคัญของเครือข่ายนักศึกษา และชมรมอนุรักษ์ คือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดีย สังคมออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ และได้รับการตอบสนองจากสื่อกระแสหลัก นำไปสู่การรวมตัวของคนจำนวนมากตั้งแต่มหาวิทยาลัยรังสิตจนกระทั่งถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ เป็นผลให้โครงการเขื่อนแม่วงก์ ต้องชะลอการอนุมัติออกไปในที่สุด
และในส่วนของเครือข่าย ชมรมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้ร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว ก็ได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ โดยมีมูลนิธิสืบฯ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมด้านอนุรักษ์ภายใต้แผนงานเครือข่าย (NETWORK) ในปัจจุบัน
การดำเนินภารกิจเครือข่ายเยาวชนด้านการอนุรักษ์ ดำเนินเรื่อยมาภายใต้ยุทธศาสตร์ NETWORK โดยเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายเยาวชนกับสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียน และชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เช่น ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒประสานมิตร. ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RUMTT) สำหรับโรงเรียนจะทำกิจกรรมกับโรงเรียนในพื้นที่มูลนิธิสืบฯ ดำเเนินโครงการอนุรักษ์
สำหรับกิจกรรมในโรงเรียน เช่น กิจกรรมค่ายเยาวชนโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี กิจกรรม “School tour” โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ส่วนกับชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัยการจัดค่ายเยาวชน การจัดงานรำลึกของสืบ นาคะเสถียรของแต่ละชมรม การร่วมเป็นจิตอาสาในการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ตลอดระยะเวลา 32 ปี มูลนิธิสืบฯ ได้ดำเนินการบ่มเพาะกล้าพันธุ์เครือข่ายนักอนุรักษ์ ตามเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหล่าเมล็ดกล้าพันธุ์เหล่านี้ ๆ ที่ได้ถูกบ่มเพาะจะผลิดอกออกผล แพร่กิ่งก้านใบ และเป็นกำลังสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศไทยตามปนิธานของสืบ นาคะเสถียร ต่อไป
อ้างอิง
- สัมภาษณ์ นางสาวปารีณา ธนโรจนกุล เจ้าหน้าที่แผนงานเครือข่าย “กิจกรรมเครือข่าย (NETWORK) ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พ.ศ. 2563- 2565″ วันที่ 23 /1 / 66
- นิตยสารสารคดี ฉบับ 186 สิงหาคม 2543
- รายงานผลการดำเนินงานครบรอบ 6 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (พ.ศ. 2533 – 2539)
- หนังสือบนถนนงานอนุรักษ์ รตยา จันทรเทียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk