เพาะกล้า-ฟื้นฟูลำห้วยที่บ้านคลองแบ่ง ภารกิจเล็กๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

เพาะกล้า-ฟื้นฟูลำห้วยที่บ้านคลองแบ่ง ภารกิจเล็กๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและเจ้าหน้าที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ร่วมทำกิจกรรมเพาะกล้าและปลูกต้นไม้ ภายใต้โครงการ “ฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและการสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก” ณ บ้านคลองแบ่ง อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา 

พื้นที่บ้านคลองแบ่ง มีลำห้วยคลองแบ่ง เป็นลำห้วยสายสำคัญสาขาหนึ่งของลำน้ำแม่วงก์ ทว่าปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลำห้วยคลองแบ่งคือการกัดเซาะริมตลิ่ง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ความเสื่อมโทรมของหน้าดิน การเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ ตลอดจนทำให้ลำห้วยตื้นเขิน ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 

ในวันแรก (7 ตุลาคม) ได้ดำเนินการทำความเข้าใจพื้นที่บ้านคลองแบ่ง ตลอดจนจุดประสงค์และแนวทางในการฟื้นฟูริมห้วยคลองแบ่งถัดมาเจ้าหน้าที่ HSBC ได้ร่วมกันเพาะกล้าไม้สำหรับปลูกฟื้นฟูริมห้วยจำนวนกว่า 1,800 ต้น 

วันถัดมา (8 ตุลาคม) ได้พาเจ้าหน้าที่ HSBC ลงพื้นที่ดูป่าชุมชนและพูดคุยกันเรื่องการจัดการป่าชุมชนและแผนการอนุรักษ์ป่าชุมชน ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูริมห้วยคลองแบ่งกัน โดยต้นไม้ที่นำมาปลูกมีทั้งหมดสี่ชนิด ประกอบไปด้วย ไผ่ซางหมน ไผ่รวก เสลา และเพกา รวมทั้งหมด 300 ต้น 

การปลูกต้นไม้ริมห้วยคลองแบ่งครั้งนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ตลอดจนลดการกัดเซาะตลิ่งของลำธาร เมื่อต้นไม้เติบโต รากของต้นไม้ที่ร่วมกันปลูกนี้ จะช่วยทำหน้าที่เป็นกำแพงเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่หน้าดินริมตลิ่ง และช่วยสกัดกั้นน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำให้ไหลช้าลง 

นายอำนาจ สุขขวัญ เจ้าหน้าที่ประสานงานผืนป่าตะวันตก ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมปลูกต้นไม้ที่ผ่านมาว่า นอกจากช่วยส่งเสริมและยกระดับการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่าของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชนด้วย โดยชาวบ้านที่เสียพื้นที่ริมห้วยเพื่อปลูกไผ่นั้น ก็ได้รับผลผลิตจากไผ่ เช่น หน่อไม้ หรือไม้ไผ่ เพื่อนำไปสร้างรายได้จากการนำส่วนต่าง ๆ ของไผ่ไปขายได้ต่อ 

อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนได้ประโยชน์ ธรรมชาติก็ได้ประโยชน์ ดังนั้น ชุมชนจึงถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น  

อำนาจ สุขขวัญ เจ้าหน้าที่ประสานงานผืนป่าตะวันตก

โดยนายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ร่วมทำกิจกรรมปลูกต้นไม้และกล่าวถึงความสำคัญของป่าแม่วงก์ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ว่า ป่าแม่วงก์คือหนึ่งในผืนป่าสำคัญมากที่สุดของประเทศไทย ครั้งหนึ่งป่าแห่งนี้คือพื้นที่รองรับประชากรเสือโคร่งที่อพยพมาจากห้วยขาแข้ง และได้มาขยายพันธุ์จนประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าเรารักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งพันธุกรรมเอาไว้ให้ดี สัตว์ป่ามันจะขยายสู่ผืนป่าโดยรอบด้วยตัวของมันเอง หรือในอีกนัยหนึ่ง ถ้าเรารักษาไข่แดงเอาไว้ให้ดี ๆ เดี๋ยวไข่ขาวมันจะทำหน้าที่คล้ายไข่แดงในวันข้างหน้าเช่นกัน การที่มีหลายองค์กรเข้ามาสนับสนุนเรื่องของงานอนุรักษ์ในพื้นที่ ทำให้เรามีสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น 

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของพื้นที่แนวขอบไข่ขาว ที่มีชุมชนและชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ ที่สำคัญพวกเขาเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้เช่นกัน ที่สำคัญองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนเรายังเข้ามามีบทบาทและทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ทั้งในเรื่องของการหนุนเสริมเรื่องป่าชุมชน อาทิ การสนับสนุนการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่สำหรับการดูแลรักษาป่าชุมชน สิ่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับคือ แนวกันชนอีกชั้นหนึ่งสำหรับการดูแลผืนป่าใหญ่อย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพื่อเตรียมผลักดันสู่ผืนป่ามรดกโลกควบคู่กับทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งต่อไป 

ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ทางด้าน Mr. Giorgio Gamba  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HSBC ประเทศไทย ได้นำเสนอมุมมองและความคาดหวังต่อการร่วมทำกิจกรรมและโครงการฯ ในครั้งนี้ไว้ว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้มันจะต้องสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของพวกเราทุกคนต่างก็สนใจที่จะร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ โดยผมคิดว่าสาเหตุมาจากความพิเศษของสถานที่แห่งนี้และทีมงานของพวกเราหลายคนก็ไม่เคยมาที่นี้ด้วย ในขณะเดียวกันมันมีในส่วนของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การค้นพบสิ่งใหม่ ๆ การทำงานร่วมกันของแต่ละฝ่าย การตรวจจับคาร์บอน รวมถึงประเด็นเรื่องสภาพอากาศของประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นเรายังมีส่วนในการช่วยเหลือชุมชนรอบป่าด้วย ซึ่งหลายสิ่งที่กล่าวมานั้นมันมีความน่าสนใจมาก ๆ ดังนั้น ผมคิดว่าการร่วมมือกันในการทำโครงการฯ ครั้งนี้มันจะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคตแน่นอน 

Mr. Giorgio Gamba  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HSBC ประเทศไทย

การดำเนินการในกิจกรรมครั้งนี้ สอดคล้องไปกับแนวทางของประชาคมโลก ที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Solutions ซึ่งมุ่งเน้นจะจำกัดอุณหภูมิโลกให้ร้อนขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และ พยายามจำกัดให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยโลกจำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด ภายในปี 2593

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ