ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสaนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างมาก เนื่องมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 สูงเกินมาตรฐานหลายวัน จนส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนในเมืองหลวง ปฏิรูปที่ดิน ทวงคืนผืนป่า ปัญหาที่ดินที่มีความทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐและที่ดินของชาวบ้าน ซึ่งสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราเกิดความตระหนักถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของภาคประชาชนที่ต้องจัดการเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาครัฐบาลเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
เวทีเสวนา “ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่” จึงว่าด้วยเรื่องของแนวทางการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมของภาครัฐในแง่มุมต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละหน่วยงานที่ได้มาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ ประกอบไปด้วย อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center, คุณช่อแพร ทิพพรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ, อาจารย์ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถานบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, คุณอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคุณสิรินาฏ ศิริสุนทร จาก สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้
สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย: อรยุพา สังขะมาน
จากการได้ศึกษานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน สามารถแบ่งแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องความแปรปรวนของสภาพอากาศ สภาวะอากาศสุดขั้ว ภาวะเอลนีโญ ตลอดจนการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน กลุ่มที่สอง ว่าด้วยเรื่องของพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน อันสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมแนวทางการสร้างรายได้จากพื้นดินและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
ในส่วนของแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของนายพัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวไว้สี่ประเด็นที่สำคัญที่ทางรัฐบาลจะเร่งดำเนินการจัดการให้เร็วที่สุด ประกอบไปด้วย (1) การเร่งแก้ไขปัญหากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานตำรวจ (2) การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย (3) การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และ (4) การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อันเป็นปัญหาหลักที่ประชาชนเกือบทุกคนได้รับ
ปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่รวบรวมได้ทั้งหมด 94 โครงการ แต่สามารถหาข้อมูลพื้นที่ป่าที่หายไปจริง ๆ ได้แค่ 58 โครงการเท่านั้น เท่ากับว่าป่าหายไป 83,662 ไร่ สูญเสียการกักเก็บคาร์บอน 2,175,315 ตัน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ 7,961,653 ตัน ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นมันไปขัดแย้งต่อกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งประเทศไทยได้เคยไปให้คำมั่นสัญญาไว้ต่อเวทีโลกในสัญญาต่าง ๆ
นโยบายป่าไม้แห่งชาติ: ช่อแพร ทิพพรรณ์
ประเด็นสำคัญ คือ ตัวเลขร้อยละ 40 ที่ปรากฏอยู่ในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และร้อยละ 55 ที่จะปรากฏอยู่ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยตัวเลขที่มีความแตกต่างกันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจคาดเคลื่อนได้ว่า การกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาตินั้นไม่สอดคล้องกันหรือเปล่า อย่างไรก็ดี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 กำหนดให้ประเทศไทยมีแผนแค่ 3 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่ง มีเพียงแผนเดียวคือยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะใช้กรอบใหญ่นี้ในการขับเคลื่อนสำหรับการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ระดับที่สอง ประกอบด้วย 4 แผน ดังนี้ (1) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (2) แผนปฏิรูปประเทศ (3) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และ (4) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแผนระดับที่สองทั้งหมดนี้เป็นการถ่ายทอดแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อน และสุดท้าย ระดับที่สาม ว่าด้วยการถ่ายทอดแผนระดับที่หนึ่งและสองเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ โดยนโยบายป่าไม้แห่งชาติจัดเป็นแผนระดับที่สามตามมติรัฐมนตรี
เพราะฉะนั้นการจัดทำนโยบายป่าไม้แห่งชาติจะต้องร้อยเรียงมาจากแผนระดับที่หนึ่งและสอง ทั้งนี้ ตัวคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติได้มีการศึกษายุทธศาสตร์และแผนแม่บท มาประมวลรวมกับสถานการณ์ป่าไม้ในมิติต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จากการวิเคราะห์แล้ว ทางคณะกรรมการได้กำหนดนโยบายออกมาทั้งหมด 24 ข้อ โดยจะมีหนึ่งข้อที่สำคัญคือ ควรจะมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ในตัวยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดกรอบกว้าง ๆ เอาไว้ว่า เราต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถัดมาแผนแม่บทระดับที่สอง กำหนดว่าการมีพื้นที่สีเขียวจะต้องทำอย่างไรบ้าง ตลอดจนแตกรายละเอียดออกมาว่าประเทศไทยควรมีสัดส่วนร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยแบ่งพื้นที่สีเขียวออกเป็นสามประเภท คือ ป่าธรรมชาติร้อยละ 35 ป่าเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่ป่าชนบทร้อยละ 5
วิเคราะห์แนวทางการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลใหม่: ธนพร ศรียากูล
กล่าวตามตรงว่า ภายใต้รัฐบาลผสมแบบนี้ ไม่คิดว่าเราจะมีความหวังในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ เนื่องจากรัฐบาลกำลังไปให้ความสำคัญกับโครงการอื่น ๆ มากกว่า เช่น โครงการดิจิตอลวอลเล็ท เป็นต้น หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีโครงการในลักษณะที่คล้ายกัน มันพ่วงมาด้วยปัญหายิบย่อยตามมาเรื่อย ๆ จนทำให้นโยบายอื่นหายไปเลย นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของเป้าหมายที่เราตั้งไว้ ต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนเช่นกัน ทว่ากระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ได้มีอำนาจมากพอในการต่อรองเพื่อที่จะได้เงินสนับสนุนตรงนั้นมา ด้วยเหตุนี้เองผมจึงมองว่านโยบายทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างเท่าไหร่
ระเบิดเวลาลูกหนึ่งคือการแย่งกันดูเรื่องน้ำ เพราะแผนแม่บททรัพยากรน้ำกำลังจะถูกเห็นชอบ ซึ่งในแผนฯ กำหนดตัวชี้วัดมาเลยว่า จะมีโครงการขนาดใหญ่ 10 โครงการ และขนาดกลางอีก 100 โครงการ แปลว่าจะต้องมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นแน่ ๆ 110 โครงการ โดยผมกล้าฟันธงเลยว่าร้อยละร้อยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แน่นอน เพราะผมมองไม่เห็นทางอื่นเลยว่าจะเอาพื้นที่ไหนมาทำโครงการได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศแน่นอน
มุมมองด้านสิ่งแวดล้อมผ่านคนทำงานการเมือง: เดชรัตน์ สุขกำเนิด
จากการได้ศึกษานโยบายของรัฐบาลใหม่แล้ว พบว่าสิ่งที่อยากชวนคุยและตั้งคำถามอันดับแรกเลยคือ เป้าหมายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพียงแค่น้อยเท่านั้น แต่ตัวชี้วัดของการดำเนินงานนั้นไม่ค่อยชัดเจน จากส่วนนี้ผมจึงมองว่า เราควรระบุเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ภายใต้ระยะเวลาเท่าไหร่บ้าง
อีกประเด็นคือ รัฐบาลพูดเรื่องคาร์บอนเยอะมาก อย่างเรื่องการควบคุมเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน แต่รัฐบาลที่แล้วกลับพูดถึง Net Zero ซึ่งมันถอยหลังกลับมาได้อย่างไร รวมถึงเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตอย่างยุติธรรม ทำให้เกิดคำถามที่ว่า “กระบวนการเหล่านี้จะบิดเบี้ยวเหมือนกระบวนการอนุรักษ์หรือเปล่า เพราะป่าที่เรากำลังจะพูดถึงมันอาจจะกลายเป็นป่าคาร์บอน เพราะมันมีนโยบายที่ชัดเจนตามนโยบายรัฐบาล”
ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ขอทวงรัฐบาล: อรยุพา สังขะมาน
ฝากทวงรัฐบาลและฝ่ายค้าน ยังอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ เพราะในระดับโลกมันส่งผลแล้วว่ามันแก้ไขไม่ได้ มันได้แค่ชะลอเท่านั้น เพราะมันไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว
สิ่งที่อยากจะทวงอย่างที่สองคือ 110 กว่าโครงการ ที่อ.ธนพรเชื่อว่ามันจะอยู่ในป่า นักอนุรักษ์เราคุยกันตลอดว่าเราไม่ได้ปฏิเสธทุกโครงการ แต่เราขอให้ระบบกฎหมายและกลไกการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องและเป็นธรรม บางครั้งข้อมูลในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมันผิดแล้วมันส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินการ อย่างที่กล่าวไป บางพื้นที่ที่มันสูญเสียไปแล้วมันไม่ที่ทางเลยที่จะได้กลับมา
อีกอย่างปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า ช้างกับคน หรือสัตว์อื่น ๆ ปัญหาพวกนี้มันควรเป็นนโยบายระดับประเทศไม่ใช่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง เลยอยากให้แก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สุดท้ายคือเรื่องผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญมากในการรักษาผืนป่าเอาไว้ กล่าวคือ การเพิ่มสวัสดิการและการอบรมให้กับพวกเขา คือส่วนสำคัญที่อยากฝากถึงทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน
เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สามารถรับชมเวทีเสวนา “ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่” ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง YouTube : Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010
ขอขอบคุณผู้สนับสนุน
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ
One comment
Comments are closed.