การอนุรักษ์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เทรนด์อีกต่อไป อย่างที่ทุกคนเห็นโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น วันนี้งานอนุรักษ์จึงถูกผนวกรวมเข้าไปอยู่กับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์และการรักษาสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน
เวทีเสวนา ‘ธุรกิจ งานอนุรักษ์ ความยั่งยืน’ จึงว่าด้วยเรื่องของการส่งต่อเรื่องราวการสนับสนุนขององค์กรภายนอก ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการทำงานอนุรักษ์ อย่างไรก็ดี การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ นี้ไม่ใช่เพียงแค่การสนับสนุนงบประมาณ แต่ยังร่วมกับการสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้และวิธีการใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งเสริมงานอนุรักษ์
มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้เชิญบรรดาองค์กรธุรกิจที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิฯ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันถึงแรงบันดาลใจและมุมมองด้านงานอนุรักษ์ ประกอบด้วย คุณวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด, คุณรติยา จันทรเทียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด (พาซาญ่า), ดร.สดุดี สุพรรณไพ รองกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาล และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและการบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และคุณรสกมล วงษ์เชาวนาถ หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืน ประเทศไทย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์เปอเรชั่น จำกัด ดำเนินรายการโดย คุณประนอม บุญล้ำ อดีตบรรณาธิการบริหาร TNN 16
แรงบันดาลใจในการทำงานอนุรักษ์และการสนับสนุนมูลนิธิฯ : คุณวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์
บางทีเรานึกถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เราก็จะเห็นว่าเป็นองค์กรใหญ่โตมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วมีเพียงคนหนุ่มคนสาวเพียง 20-30 คน โดยพวกเขามีจิตมุ่งมั่นศรัทธาต่อการทำงานอนุรักษ์มาก ส่วนตัวเราเองก็มีคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นไอดอล ตอนที่คุณสืบจากไป เรารู้สึกเลยว่า “มีคนที่เสียสละสิ่งที่รักที่สุดในชีวิต ก็คือชีวิตเรา เพื่อที่จะรักษาป่าเอาไว้ให้กับลูกหลานในประเทศ” เราจึงอยากที่จะช่วยสนับสนุนมูลนิธิสืบฯ ช่วงแรก ๆ ในงานรำลึกแต่ละปีที่จะมีการจัดคอนเสิร์ต เราก็จะตามไปซื้อบัตรคอนเสิร์ต อุดหนุนของที่ระลึกของมูลนิธิสืบฯ
เราเริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2538 ทำงานมาได้ 13 ปี จึงได้มาช่วยงานมูลนิธิสืบยาวนานกว่า 18 ปี ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเองเราได้รับเลือกด้านธุรกิจจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ และได้รับเงินรางวัลมาก้อนหนึ่ง เราตั้งใจจะคืนกลับไปให้สังคม โดยการให้กับมูลนิธิที่เราศรัทธาทั้งหมด 2 แห่ง มูลนิธิแรก คือ มูลนิธิสมเด็จย่า (มูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ดูแลเรื่องทุนการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยเราไม่ได้มอบแค่เงินอย่างเดียว แต่เราจะขอเข้าไปทำจิตอาสาพร้อมกันทั้งตัวเราและคนในองค์กร
ถัดมาคือ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ตอนแรกนั้นเราไม่รู้จักใครเลยในมูลนิธิ แต่ช่วงนั้นเราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับโรงเรียนในพื้นที่อุ้มผาง ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เราได้รู้จัก อ.ศศิน เฉลิมลาภ ผ่านคุณครูที่ทำงานในโรงเรียนดังกล่าว พอได้เจออ.ศศิน ก็เล่าเรื่องการทำงาน แผนกลยุทธ์ ระบบระเบียบต่าง ๆ ให้ฟัง เรารู้เลยว่าพวกเขาตั้งใจทำงานนี่กันมาก ซึ่งมันทำให้เราประทับใจมาก ๆ แต่ด้วยความที่เราไม่ใช่นักอนุรักษ์โดยอาชีพ เราจึงอยากเข้ามาช่วยในส่วนที่เราสามารถช่วยได้ อย่างเรามีความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจ เราจึงอยากใช้ความรู้ในส่วนนี้เข้ามาช่วยแนะนำมูลนิธิฯ เช่น การขายของที่ระลึกออนไลน์ หรือ การขอพื้นที่ตามงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทางมูลนิธิได้ออกบูธขายของที่ระลึก เป็นต้น หลังจากนั้นทางอ.รตยา จันทรเทียร และอ.ศศิน ก็ได้ชักชวนเรามาตั้งเป็นอนุกรรมการ CSR กับคนอื่น ๆ มาเป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อแนะนำแผนการตลาด การเงิน การระดมทุน หรือด้านการบริหาร
แรงบันดาลใจจากคุณแม่และคุณสืบ: คุณรติยา จันทรเทียร
จริง ๆ คุณแม่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่เราเรียนมัธยม หลังจากนั้นพอเข้ามหาลัยจึงได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของชมรมอนุรักษ์ พอมาทำงาน เริ่มทำธุรกิจ ตรงกับช่วงที่มีเรื่องเขื่อนน้ำโจนพอดี คุณแม่ก็ต่อสู้มากๆ ตอนนั้น นอกจากนี้เรายังเริ่มรู้จักคุณสืบตั้งแต่ตอนนั้นด้วย ภายหลังพอคุณสืบเสียชีวิต บอกตรงๆ ว่าช็อค แล้วก็รู้สึกว่า “คุณสืบตาย เราตายดีกว่า” เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากเท่าสิ่งที่คุณสืบทำ จุดที่เป็นแรงบันดาลใจจริง ๆ ก็เลยมาจากทั้งคุณแม่และคุณสืบ
พอมูลนิธิฯ ตั้งขึ้น คุณแม่ก็รับเป็นประธานมูลนิธิ เลยมีโอกาสได้รับรู้ว่ามูลนิธิฯ ทำงานอะไรบ้าง ช่วง 10 ปี แรก เราก็วุ่นวายอยู่กับการทำธุรกิจของเราเองด้วย ตอนนั้นจึงทำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ อีกทั้งเราเองก็ไม่สามารถจะเข้าป่าหรือไปลงพื้นที่ได้ เลยหาเงินช่วยแทน ทางมูลนิธิฯ ขาดเหลืออะไร มีโปรเจ็คอะไร เราก็จะช่วยซัพพอร์ต อย่าง เรื่องการช่วยสร้างหน่วยพิทักษ์ป่าชั่วคราว ซึ่งเราเองก็ได้ร่วมทำมาหลายหน่วยแล้ว เป็นต้น ถัดมาตอนที่ อ.ศศิน ได้ขึ้นมาเป็นประธานมูลนิธิแทนคุณแม่ เราก็ได้เข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิ และมาอยู่ร่วมทีม CSR เพื่อช่วยหาทุนและคอยให้.คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ
จากคุณสืบสู่การทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม: ดร.สดุดี สุพรรณไพ
เราเรียนจบสิ่งแวดล้อมทั้งปริญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งก็เหมือนกับทุก ๆ ท่านที่มาร่วมวงเสวนาวันนี้ ในเรื่องของการมีคุณสืบเป็นแรงบันดาลใจ โดยตอนนั้นเราอยู่มัธยมและอยู่ชมรมสิ่งแวดล้อมด้วยในช่วงที่คุณสืบเสียชีวิตพอดี ส่วนนั้นมันคือแรงบันดาลใจแล้วก็อุดมการณ์ของเราในวัยเด็กเลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราตัดสินใจเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงอุดมศึกษา
หลังจากนั้นเราได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด หลังจากที่เราได้ทำงานอยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์มาพักใหญ่ เคยดูสิ่งแวดล้อมให้กับทั้งเครือฯ โดยในวันนี้เราได้มาดูเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่งและการบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ เราจึงต้องดูตั้งแต่เรื่องกระบวนการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร ส่วนที่เราทำกับมูลนิธิสืบฯ คือ “โครงการธรรมชาติปลอดภัย” อาจดูเป็นโครงการเล็ก ๆ แต่สิ่งที่เราเชื่อมั่น คือ มูลนิธิสืบฯ นั้นนี้มันมีพลัง ส่วนหนึ่งก็มาจากคุณสืบนี้แหละ หลังจากนี้มูลนิธิสืบฯ จะมีพลังในการทำเรื่องดี ๆ ให้กับประเทศนี้ต่อ โดยเครือฯ และเราก็จะร่วมทำโครงการตามยุทธศาสตร์ต่อไป
“ถ้าคุณสืบฟื้นมา ณ วันนี้ มาดูพวกเรา ท่านคงภูมิใจและคงจะชื่นชมกับพวกเรา”
เพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน: คุณรสกมล วงษ์เชาวนาถ
เริ่มต้นกันที่นโยบายของ HSBC ทั่วโลกเลย ว่าในทุก ๆ ประเทศที่เราเข้าไปทำธุรกิจ เราต้องไม่แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมด้วย โดยที่เราจะร่วมพัฒนาทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทักษะการเรียนรู้ และความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของชุมชน
ทั้งนี้ ทางธนาคารประกาศว่าตั้งเป้าหมาย NET Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งธนาคาร HSBC เป็นธนาคารแห่งแรก ๆ ของโลกที่ลงนามในสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 2015 ว่าเราจะเป็นธนาคาร NET Zero ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือก็คือเราจะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั่นเอง
เนื่องจากเราเป็นธนาคารที่ให้บริการทางด้านเครดิตการกู้เงินแก่เอกชน และรัฐบาลในบางประเทศ ดังนั้น การให้บริการทางการเงินของเรา ก็จะดูไปถึงเรื่องที่ว่า ลูกค้าที่มาใช้บริการมีหลักธรรมาภิบาล หรือดำเนินธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดผลเชิงทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ส่งผลกระทบในเชิงบวกด้วย
เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สามารถรับชมเวทีเสวนา “ธุรกิจ งานอนุรักษ์ ความยั่งยืน” ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง YouTube : Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010
ขอขอบคุณผู้สนับสนุน
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ