นับจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และนโยบายป่าไม้แห่งชาติมาจัดการคนที่อยู่ในป่าโดยการอพยพคนออกจากป่า ก่อให้ชุมชนเริ่มลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสร้างรูปธรรมการดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้มติครม.ใหม่ ในการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาชุมชน ซึ่งชุมชนต้องดูแล แบ่งแนวเขต และกฎกติกาที่ชัดเจน ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่
เวทีเสวนา “คนกับป่า จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างไร” จึงจะว่ากันด้วยเรื่องของแนวทางการทำให้คน ชุมชน และป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยเวทีเสวนาครั้งนี้เราได้เชิญชวนบุคคลที่ทำงานอนุรักษ์ในพื้นที่ และอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันว่า คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และมีวิธีใดบ้าง
ผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย มนตรี กุญชรมณี เจ้าหน้าที่ประสานงานผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร วันชัย สุดก้องหล้า ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตกาแฟตำบลไล่โว่ และศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โดยมี ภาคภูมิ ประทุมเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ก่อนและหลังประกาศใช้ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484: วันชัย สุดก้องหล้า
ก่อนจะมีกฎหมาย พ.ร.บ. เข้ามา ชาวบ้านที่ทำการเกษตรหรือทำไร่ในป่าก็จะมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ บางครั้งก็โดนเจ้าหน้าที่จับกุม บางครั้งก็โดนยึดเครื่องไม้เครื่องมือทำการเกษตร ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกไปเจอเจ้าหน้าที่ ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่เองก็กลัวในการเข้ามาเจอชาวบ้านเช่นกัน จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่
ในส่วนการขายเมล็ดกาแฟของชาวบ้าน ต้องท้าวความว่า กาแฟมีมาตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว แต่ชาวบ้านเขาไม่ได้สนใจ แล้วก็ปล่อยกาแฟทิ้งไป จนบางครั้งมีนายทุนเข้ามาซื้อเมล็ดกาแฟเหล่านี้ แล้วความที่ชาวบ้านเองก็ไม่ได้สนใจกาแฟตั้งแต่ต้นทำให้ชาวบ้านถูกนายทุนกดราคา
อย่างไรก็ดี หลังจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องกาแฟ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการปลูกและการจัดการกาแฟ อธิบายว่าควรจะทำอย่างไรให้กาแฟได้คุณภาพดีกว่าเดิม เราก็เรียกชาวบ้านมาร่วมตัวและประชุม ตั้งเวทีพูดคุยอย่างจริง จนกระทั่งเราสามารถจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจกาแฟไล่โว่ขึ้นมาได้ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจดังกล่าวก็ยังดำเนินการมาจนทุกวันนี้
ว่าด้วยเรื่องกฎหมายและการมีส่วนร่วมกับชุมชนในป่า: ศุภฤกษ์ กลั่นประเสริฐ
ทุกป่าอนุรักษ์จะต้องมีข้อกฎหมายในการดูและควบคุมเหมือนกันหมด โดยเรามี พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครงสัตว์ป่าที่ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เพื่อดูแลพื้นที่ป่า อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งมันมีการปรับปรุงกฎหมายนี้มาเรื่อย ๆ แต่กล่าวตามจริง ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ดูในเรื่องของชุมชนหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า เราไม่ได้มองว่าเขาจะอยู่ในป่านั้นได้อย่างไร
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องอยู่ จะให้เอาพวกเขาออกไปที่ไหน หรือต่อให้เอาพวกเขาออกไปข้างนอก มันก็มาสู่คำถามต่อไปว่าเรามีที่ให้เขาอยู่หรือเปล่า เราเลยต้องมาดูกันว่าจะให้พวกเขาอยู่ได้อย่างไร โดยที่พวกเขาเองก็จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อผืนป่าเช่นกัน ตัวกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการดูแลคุ้มครองพื้นที่ ชาวบ้านจึงต้องเคารพกฎหมายนั้นด้วยถึงจะอยู่ร่วมกันได้
ตัวอย่าง เรื่องการไม่ลงรอยกันที่เห็นได้ชัด คือ เจ้าหน้าที่จะต้องดูแลในข้อกฎหมายและทรัพยากรป่าไม้ ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เองก็มีการพึ่งพิงทรัพยากรในพื้นที่ป่าเหมือนกัน อาทิ การเก็บหาของป่า การนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในครัวเรือน การตัดไม้มาปลูกบ้าน หรือการล่าสัตว์ป่าเพื่อดำรงชีพ ล้วนเป็นสิ่งที่ผิดทั้งนั้น กิจกรรมเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เจ้าหน้าที่กับชาวบ้านขัดแย้งกัน
ในส่วนของภาพการร่วมมือกัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปัญหามันถูกสั่งสมมาตั้งแต่เริ่มต้น ต่างฝ่ายต่างมีข้อจำกัดของตัวเอง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้ามาเจรจาและพูดคุยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน และนำกิจกรรมต่าง ๆ เข้ามาช่วยมาเสริม อย่างการนำชาวบ้านเข้ามาร่วมในข้อกฎหมายและดูแลรักษาป่า ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่เองก็ต้องเข้าร่วมกับฝั่งชาวบ้านด้วย กล่าวง่าย ๆ ว่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นเหมือนสื่อกลางในการพูดคุยกันของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะตัวกลางในการประสานทั้งสองฝ่าย: มนตรี กุญชรมณี
มันมีประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งเรื่องที่ดินในทุกชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ทุกป่า เราทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไปคุยกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ เพื่อต้องการที่จะลดความขัดแย้งเรื่องปัญหาที่ดินลง ในด้านชาวบ้าน เขาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าพื้นที่ไหนทำได้หรือไม่ได้
พอเราเข้าไปพูดคุยเรื่องจัดการที่ดินกับชาวบ้าน เราจึงได้ชักชวนพวกเขาให้มาร่วมทำตัวกิจกรรมนี้กัน เพื่อที่จะได้ไม่มีความขัดแย้งกันของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้ความขัดแย้งมันหายไปนั้น มันค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร เราก็ต้องเข้าไปอาศัยอยู่กับเขา ซึ่งสภาพพื้นที่ที่เข้าไปมันก็ไม่ได้สบาย เวลาเราเข้าไป เราก็ไปคนเดียว ในส่วนชาวบ้านจะมีคณะกรรมการพื้นที่ของพวกเขา เมื่อเข้าไป เราจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องขอบเขตกับเขา เพื่อที่จะได้ลดความขัดแย้งและการใช้ทรัพยากรของชุมชนลง
สำหรับการลงไปในพื้นที่ทุกครั้งเราจะประสานพี่ ๆ ที่อยู่หน่วยพิทักษ์ป่าในการเข้าชุมชน เพื่อไปคุยกับชาวบ้านร่วมกัน เข้าใจว่าต่างฝ่ายไม่อยากจะขัดแย้งหรือมีปัญหากัน แต่ด้วยตัวบทบาทหน้าที่พวกเขาก็ต้องรักษาข้อกฎหมายเขา ทางด้านชาวบ้าน เมื่อพวกเขามีข้อกำหนดและขอบเขตชัดเจน เขาก็เข้าใจในระดับหนึ่งว่ามันทำได้ถึงแค่ตรงนี้ ซึ่งมันก็สามารถช่วยลดความขัดแย้งในส่วนของเรื่องที่ดินทำกินไปได้เช่นกัน
นอกเหนือจากได้ตัวขอบเขตมาแล้ว เรายังสนับสนุนให้เกิดการร่วมดูแลรักษาป่าและการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้วย ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายและตัวบทลงโทษ เพื่อที่จะให้พวกเขาไปคุยกันต่อกับชาวบ้านในชุมชน
นอกจากเรื่องการดูแลและให้ความรู้ด้านกฎหมายแล้ว เราก็ยังดูด้วยว่าพวกเขาจะสามารถอยู่ร่วมกับป่าต่อไปอย่างไรได้ด้วยการส่งเสริมอาชีพของเขา เบื้องต้นเราก็ลงไปดูในพื้นที่ว่าชุมชนแต่ละชุมชนมีอะไรที่น่าสนใจและนำไปต่อยอดได้ เอาตามจริงเราก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องกาแฟเหมือนกัน เราก็คุยกับชาวบ้านว่า “ถ้าจะทำก็ทำด้วยกัน ลองผิดลองถูกมาด้วยกัน หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา”
เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สามารถรับชมเวทีเสวนา เสวนา คนกับป่า จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างไร ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง YouTube : Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010
ขอขอบคุณผู้สนับสนุน
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ