เสวนา พิทักษ์ป่า อนาคตป่าไทย

เสวนา พิทักษ์ป่า อนาคตป่าไทย

การปรับอัตราค่าตอบแทนผู้พิทักษ์ป่าจาก 9,000 เป็น 11,000 บาท หลังไม่ขึ้นมาสิบปี กับกลไกการจัดการและจัดสรรงบประมาณในการดูแลพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการดูแลป่าอนุรักษ์

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลือร้อยละ 31.57 ซึ่งพื้นที่ที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน คือเป้าหมายสำคัญที่เราจะต้องป้องกันไว้ให้ได้ไม่ให้มีการถูกแปรเปลี่ยนสภาพไป  ในส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่ประมาณร้อยละ 22 ของประเทศ หากให้เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับ พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าให้มีร้อยละ 40 ของประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 พื้นที่ป่าชุมชนร้อยละ 5 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 5 ซึ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังคงเหลืออีกร้อยละ 3 จะครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยร้อยละ 3 ที่เหลือไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เนื่องจากเราจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ได้เป็นล้านๆ ไร่ 

เราควรจะนำพื้นที่ป่าที่มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ของหน่วยงานรัฐอื่นๆ มารวมไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เมื่อได้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามเป้าหมายแล้ว จะต้องมีการดูแลและคุ้มครองให้เป็นอย่างดี ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่จะต้องดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 นี้ไว้ให้ได้ เพราะพื้นที่ตรงนี้คือหัวใจสำคัญของสิ่งมีชีวิตทั้งประเทศ รวมไปถึงทั้งโลกด้วย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและการให้ความสำคัญเพื่อให้ดำเนินให้ได้ตามเป้าหมายของนโยบายที่กำหนดไว้ และสิ่งที่สำคัญคือ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ ผู้ที่คอยปกป้องและดูแลผืนป่าของประเทศเอาไว้

ประเด็นเรื่องผู้พิทักษ์ป่าที่มาพูดคุยกันบนเวทีเสวนาในครั้งนี้ จะมีผู้มาร่วมแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย ชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อํานวยการ Think Forward Center ดร.ปิยะทิพย์ เอี๋ยวพานิช ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์   

ผู้พิทักษ์ป่าคือใคร มีความสำคัญในการดูแลผืนป่าอย่างไร? 

ผู้พิทักษ์ป่า คือ กลไกและฟันเฟืองสำคัญที่คอยปกป้องดูแลผืนป่าและสัตว์ป่าให้คงอยู่ ไม่ได้มีเพียงแค่หน้าที่ในการลาดตระเวนเท่านั้น ปัจจุบันผู้พิทักษ์ป่ามีงานที่เพิ่มขึ้นมาหลายด้าน เช่น การทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงในเรื่องต่างๆ การดำเนินงานการสำรวจที่ดินทำกินของราษฎร เรื่องการช่วยเหลือกู้ชีพกู้ภัย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตัวผู้พิทักษ์ป่าเองจำเป็นจะต้องรู้ เพื่อนำไปใช้ในการช่วยเหลือราษฎรหรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 

เราไม่สามารถขาดผู้พิทักษ์ป่าได้เลย ให้คิดเสียว่า “ผู้พิทักษ์ป่าเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่เราไม่สามารถขาดได้” ผู้พิทักษ์ป่าเปรียบเสมือนกองกำลังหนึ่งที่มียุทธศาสตร์ในการป้องกันผืนป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์ที่ดี มีการวางหน่วยพิทักษ์ป่าไว้โดยรอบพื้นที่และมีจุด Center อยู่ตรงกลางที่คอยสั่งการ ซึ่งตามหน่วยต่างๆ ก็จะมีผู้พิทักษ์ป่าประจำการอยู่เพื่อดูแลพื้นที่ของตนเองตามภารกิจของแต่ละหน่วย สิ่งสำคัญที่สุดคือการปกป้องและดูแลพื้นที่ให้คงอยู่ นั่นคือหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า 

ผู้พิทักษ์ป่า 1 คน จะต้องดูแลพื้นที่อนุรักษ์ประมาณ 5,000 ไร่

พื้นที่อนุรักษ์ 5,000 ไร่ ต่อผู้พิทักษ์ป่า 1 คน มันเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก ซึ่งการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอแน่นอน งบประมาณทั้งประเทศในแต่ละปีมีประมาณ 300,000 ล้านล้านบาท มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียง 30,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่กระทรวงอื่นๆ ได้มากกว่า โดยงบ 30,000 ล้านบาทตรงนี้ไม่ได้ให้ผู้พิทักษ์ป่าทั้งหมด ผู้พิทักษ์ป่าได้เพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น ตกคนละ 9,000 กว่าบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินเดือนที่น้อยมาก โดยงบที่เหลือก็จะต้องมีจัดสรรไปให้หน่วยงานอื่นๆ ที่อยู่ภายได้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ด้วยเช่นกัน

หากพูดถึงว่าผู้พิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ คำตอบคือก็คงไม่เพียงพอ แต่ในส่วนหนึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็พยายามที่จะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน จึงอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในส่วนนี้ เพราะหากจะไปหวังพึ่งแต่ผู้พิทักษ์ป่ามันอาจไม่เพียงพอ ซึ่งทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น การแจ้งข่าวการกระทำผิด การแจ้งเหตุไฟไหม้ป่า เพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างทันท่วงที

การมองตามหลักความเป็นจริงแบบง่ายๆ พื้นที่ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ถือเป็นพื้นที่ชั้นยอดในการซับน้ำ เปรียบเสมือนฟองน้ำที่คอยซับน้ำไว้และค่อยๆ ไหลลงมาตามแม่น้ำลำคลองให้เราได้ใช้ และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิด ซึ่งพื้นที่สำคัญส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่ผู้พิทักษ์ป่าคอยปกป้องและดูแลอยู่ จึงจำเป็นจะต้องมีการทบทวนความสำคัญและสัดส่วนของการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับภาระงานของผู้พิทักษ์ป่า ทั้งการเพิ่มเงินเดือนให้ผู้พิทักษ์ป่าให้เหมาะสม สวัสดิการที่ดี เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังทั้งกายและใจให้ผู้พิทักษ์ป่าได้ทำงานต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น 

มีลักษณะการจ้างงานที่แตกต่างกัน และมีสวัสดิการอย่างไร

ปัจจุบันลักษณะการจ้างงานผู้พิทักษ์ป่าจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง พนักงานราชการ จะมีเงินเดือนที่แน่นอนและมีการปรับเงินเดือนในทุกปี และจะทำการต่อสัญญา 4 ปีต่อครั้ง ตามการประเมิน กลุ่มที่สอง บุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานในส่วนราชการ จะมีการจ้างโดยให้เงินเดือน 9,000 บาทต่อเดือน และพยายามที่จะมีการปรับเป็น 11,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งการจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ และกลุ่มที่สาม พนักงาน TOR จ้างเหมา มีการจ้างโดยให้เงินเดือน 7,500 บาทต่อเดือน และพยายามที่จะให้มีการปรับเงินเดือนเป็น 9,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รับในส่วนหนึ่ง 

ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ เองก็พยายามที่จะจัดสวัสดิการให้อีกส่วนหนึ่ง ทั้งในเรื่องของการลาดตระเวน ก็จะมีการจัดค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดซื้อเสบียง เรื่องของสวัสดิการดูแลรักษากรณีเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทั้งในส่วนของภาคเอกชนหลายๆหน่วยงานเองที่เข้ามาช่วยในการ Support สวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์ป่า 

ทำไมยังมุ่งมั่นตั้งใจ

ปัจจัยหลักสำคัญของความมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้พิทักษ์ป่าที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์ป่าคือปัจจัยเร้าภายใน ที่ประกอบด้วย (1) บรรยากาศการปฏิบัติงาน คือบรรยากาศการปฏิบัติงานที่เกื้อกูลกับความคาดหวังของพนักงานในแต่ละพื้นที่คุ้มครอง (2) ด้านความภูมิใจในหน้าที่ คือ พนักงานพิทักษ์ป่าผู้เป็นเสมือนกระดูกสันหลังของการจัดการพื้นที่คุ้มครองของไทย  (3) ด้านความเกื้อกูลของผู้บังคับบัญชา คือ การสื่อสารและส่งเสริมให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับเป็นผู้นำที่พนักงานพิทักษ์ป่าไว้วางใจได้ และ (4) ด้านการรู้คุณค่าของงาน คือ ตอกย้ำความสำคัญในคุณค่าของภารกิจงานของพนักงานพิทักษ์ป่าให้บุคลากรทุกระดับในส่วนราชการและสังคมทั่วไปได้รับทราบและเชิดชู 

อะไรที่ต้องแก้ไข 

1. ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอต่อการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้ผู้พิทักษ์ป่าตามความเหมาะสมต่อภาระหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่า 

2. จากการผลักดันให้มีการปรับเพิ่มเงินค่าตอบแทนของผู้พิทักษ์ป่า หากสำนักงบประมาณไม่อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเข้ามา หรือหากสำนักงบประมาณอนุมัติงบประมาณ แต่ให้มีการใช้กรอบงบประมาณปกติที่เคยใช้อยู่ นั่นหมายความว่า การจ้างงานผู้พิทักษ์ป่าที่มีอยู่เดิมในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน และมีการอนุมัติให้ปรับเงินเดือนเป็น 11,000 บาทต่อเดือน แต่ให้มีการใช้กรอบงบประมาณเดิมที่เคยใช้ นั่นคือกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะต้องมีการลดจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าลงเพื่อที่จะสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในส่วนนี้ได้ ซึ่งเราไม่อยากเห็นรูปแบบการอนุมัติกรอบงบประมาณในลักษณะเช่นนี้ 

3. ปัญหากรอบในการจ้างงานที่มีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของงบประมาณที่เป็นเรื่องกังวล (ในข้อที่ 1. และ 2.) และในส่วนการจ้างงานในลักษณะของการบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานราชการมีโอกาสน้อย เนื่องจากอัตราการบรรจุในตำแหน่งข้าราชการหรือพนักงานราชการมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ลักษณะการจ้างงานจะเป็นในส่วนของพนักงาน TOR แบบจ้างเหมาเป็นส่วนใหญ่ 

4. ปัญหาความมั่นคงในการทำงานและชีวิต ข้าราชการและพนักงานราชการที่ทำงานในปัจจุบันมีความมั่นคงในด้านของค่าตอบแทนและสวสัดิการในระดับหนึ่ง แต่พนักงาน TOR ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดเพียง 9,000 บาทต่อเดือน สัญญาจ้างปีต่อปี และไม่มีสวัสดิการ แม้จะทำงานจนเกษียณแต่ยังไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากภาครัฐ จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงในการทำงานและชีวิต  

5. เรื่องการเทียบเคียงคุณวุฒิของผู้พิทักษ์ป่า มีข้อกังวลว่าเมื่อมีการปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น จะต้องมีการใช้คุณวุฒิในการเทียบเคียงเพื่อรับการปรับค่าตอบแทน แล้วจะต้องมีการใช้คุณวุฒิระดับใดในการเทียบเคียงสำหรับค่าตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้น หรือมีเกณฑ์ในการประเมินอย่างไรเพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม 

ข้อเสนอแนะและแนวทางในการผลักดันและพัฒนาความมั่นคงในการทำงานและชีวิตของผู้พิทักษ์ป่า 

1. สำนักงบประมาณจะต้องมีการเพิ่มงบประมาณจากเดิมเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่ผู้พิทักษ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนผู้พิทักษ์ป่าลง ซึ่งจะต้องเพิ่มงบประมาณเข้าไปประมาณ 800 – 1,000 ล้านบาทต่อปี 

2. สำนักงบประมาณจะต้องมีความชัดเจนในกรอบงบประมาณที่จะเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ใช่โยนภาระให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นฝ่ายจัดการ กรณีที่เคยพบบางพื้นที่เกิดการแชร์ค่าจ้างกันเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าที่มีอยู่ได้ทำงานไปพร้อมกัน นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้านค่าตอบแทนให้แก่ผู้พิทักษ์ป่าให้เป็นไปอย่างชัดเจนได้เลย 

3. จากอดีตจนถึงปัจจุบันเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับผู้พิทักษ์ป่า แต่อยากเห็นการสนับสนุนสวัสดิการหรือการจัดอบรมพัฒนาเสริมศักยภาพของผู้พิทักษ์ป่าให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่าได้มีทักษะเพิ่มขึ้นก่อนการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานจริง โดยความหวังนี้อยากจะส่งผ่านไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติคนใหม่ ที่ท่านเคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้พิทักษ์ป่าในลักษณะที่คล้ายกับการอบรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งระบบสวัสดิการ ระบบการเพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้ ตั้งแต่เริ่มตนการทำงานเพื่อให้ผู้พิทักษ์ป่ามีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

4. สร้างระบบสวัสดิการสำหรับลูกจ้าง TOR ประกันอุบัติเหตุ/ชีวิต เงินออม ทำเป็นแพ็คเกจร่วมกับเอกชนได้ โดยรัฐบาลเป็นคนจ่ายเบี้ยประกัน (ตัวอย่าง เช่น บริษัท ก. ทำหน้าที่คุ้มครองชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าของไทยจำนวน 10,000 คน) 

5. พัฒนาเส้นทางอาชีพการลาดตระเวนให้สามารถมีความก้าวหน้าในสายงานอนุรักษ์ ได้แก่ (1) พัฒนาระบบเงินเดือนที่สามารถปรับเพิ่มตามความเชี่ยวชาญ (2) ความโปร่งใสในการประเมินผลงาน และการสอบบรรจุข้าราชการ (หากยังใช้ระบบนี้) และ (3) พัฒนาระบบการทำงานใหม่ที่มีความมั่นคงทางด้านการทำงานมากขึ้น และไม่ใช้ระบบราชการ  แต่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลแทน 

6. การจัดสรรเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับภารกิจในแต่ละพื้นที่อนุรักษ์ ตามขนาดพื้นที่ ตามความลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ และตามความเสี่ยงภัย 

7. การตรวจสอบการทุจริตลูกจ้าง TOR ผี (มีรายชื่อแต่ไม่มีตัวตนในการทำงานจริง) 

8. การกระจายข้าราชการจากส่วนกลางและส่วนสนับสนุน ไปสู่การทำงานในพื้นที่อนุรักษ์ให้มากขึ้น โดยการสร้างแรงจูงใจ เช่น ค่าความเสี่ยงภัย การก้าวหน้าในสายงาน เป็นต้น 

9. การมอบหมายอำนาจการตัดสินใจ และอำนาจในการใช้งบประมาณลงสู่หน่วยงานอนุรักษ์ในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น 

10. ประสานการทำงานและการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยอนุรักษ์ในพื้นที่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชน โดยเฉพาะป่าชุมชน เช่น การดูแล/ดับไฟในป่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า การเก็บใช้/บำรุงรักษาทรัพยากรในเขตป่า 

11. จัดการและยกระดับองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ป่าไม้ และระบบนิเวศของไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ รวมถึงการส่งเสริมให้บุคคลและหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ให้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ 

12. การให้ความสนับสนุนทางวิชาการ และการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 

13. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสวัสดิภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า 

14. การให้ความร่วมมือและลงมืออย่างจริงจังระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชน เพื่อพัฒนาและผลักดันระบบงานและสวัสดิการผู้พิทักษ์ป่าให้มีความมั่นคงทั้งในอาชีพการทำงานและชีวิต 

เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สามารถรับชมเวทีเสวนา พิทักษ์ป่า อนาคตป่าไทย ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010 

ขอขอบคุณผู้สนับสนุน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย