เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันหารือแนวทางการฟื้นฟูประชากรควายป่าและถิ่นอาศัยในประเทศไทย ณ ห้องประชุมศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์
เนื่องจากสถานภาพควายป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย มีประชากรหลักที่เหลือเพียงกลุ่มประชากรเดียวและกลุ่มสุดท้ายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่เหลืออยู่เพียง 40-60 ตัว และค่อนข้างคงที่ตั้งแต่การรายงานการพบควายป่าครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 และจากการประเมินอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามบัญชี IUCN Red List ซึ่งคาดว่าทั่วโลกมีประชากรเหลืออยู่ไม่เกิน 4,000 ตัว
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ควายป่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เกิดจากขาดการจัดการแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชากรควายป่า การผสมพันธุกรรมระหว่างควายป่าและควายบ้าน รวมถึงปัญหาการผสมพันธุ์กันในเครือญาติ ทำให้เกิดปัญหาเลือดชิด (Inbreeding)
คำถามที่หลายคนสงสยว่าเราจะอนุรักษ์ควายป่าไว้ทำไมเพราะมันก็เหมือนกับควายบ้าน และอีกคำถามคือเราจะรักษาประชากรควายป่าไว้ได้อย่างไร
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการตั้งธงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ องค์ความรู้เกี่ยวกับควายป่าและถิ่นที่อยู่อาศัย พิจารณาแนวทางการทำงานเพื่อการฟื้นฟู ดูแล ประชากร รวมถึงการจัดทำข้อเสนอให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไร
ทั้งนี้สามารถสรุปประเด็นการหารือได้ดังนี้
1. จะต้องมีการศึกษาความชัดเจนเรื่องของพันธุกรรมควายป่าและควายบ้าน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกวิธี สำรวจประชากรควายป่าโดยการติดปลอกคอ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการบินโดรนร่วมสำรวจ และรวมถึงโอกาสในการนำประชากรในถิ่นอาศัยมาเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม
2. จัดการและพัฒนาแหล่งอาหาร ถิ่นอาศัย เพื่อรองรับประชากรควายป่า
3. การจัดการโรคปศุสัตว์สู่ประชากรควายป่าในธรรมชาติ
4. การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของชุมชนและสาธารณชนในการอนุรัษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
5. แผนการจัดการควายป่าในอนาคต
อย่างไรก็ตามการประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ควายป่าเพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประชากรควายป่าชนิดพันธุ์ดั้งเดิมกลุ่มสุดท้ายที่อยู่ในป่าธรรมชาติ