แบกกล้องตามรอย ‘เสือปลา’ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ที่ทุ่งสามร้อยยอด

แบกกล้องตามรอย ‘เสือปลา’ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ที่ทุ่งสามร้อยยอด

…มันคงเป็นเรื่องยากที่จะค้นหาสิ่งที่หลบซ่อนอยู่ แล้วพบเจอในทันที…

พลบค่ำ กลางเดือนมีนาคม ดาวเริ่มกระจ่างฟ้า

คณะของเราเดินทางสู่ทุ่งสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เป้าประสงค์ปลายทางคือการค้นหา ‘เสือปลา’ สัตว์นักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ สิ่งมีชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ผ่านการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ

แต่ด้วยระยะเวลาทำงานที่จำกัด โอกาส ความเป็นไปได้ จึงค่อนข้างต่ำ

ถ้าบังเอิญคืนนั้นเสือปลาเดินผ่าน ให้กล้องจับภาพได้ เราคงมีของขวัญกลับบ้านด้วยความสบายใจ แต่ถ้าไม่ได้เราปลอบตัวเองไว้แล้ว ว่า ‘ไม่เป็นไร’

อย่างไรเสีย ระหว่างทางที่ก้าวผ่าน เรากลับมองเห็นภาพของเสือปลาในรูปแบบที่ต่างออกไป และคงไม่มีกล้องปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะรุ่นใดสามารถวาดแสงออกมาเป็นเรื่องเช่นนี้ได้

ดักถ่ายเสือปลาที่ห้องน้ำ

เราเลือกตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือปลาบริเวณศาลหลังเก่า ซึ่งร้างการใช้งานมานานปี ของชุมชนบ้านเกาะไผ่ รอบนอกอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด – ตามคำแนะนำของ นิรุตต์ ท้าวโกษา นักวิจัยประจำพื้นที่

นิรุตต์ ยืนยันว่ามี ‘โอกาส’ ถ่ายภาพได้ เพราะเป็นจุดนักวิจัยตั้งกล้องเก็บข้อมูลสำหรับศึกษาพฤติกรรมและนับจำนวนประชากรอยู่เป็นประจำ

ในชื่อที่รู้กัน นักวิจัยเรียกพื้นที่ตรงจุดนี้ว่า ‘ห้องน้ำ’

แม้ชื่อจะไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ แต่ความหมายของมันก็ตรงตัวและบ่งบอกถึงการมีอยู่ของเสือปลาได้อย่างชัดเจนจากร่องรอยความเป็น ‘ห้องน้ำ’ ที่ปรากฎชัดด้วยมูลก้อนเก่าวางหราอยู่หน้าศาล และกลิ่นสเปรย์ (ฉี่) ลอยคลุ้งแตะจมูก

ราวกับว่าเสือปลาเพิ่งเดินผ่านไป ก่อนเรามาถึงไม่นาน

ในทางกายภาพ ‘ห้องน้ำ’ รายล้อมไปด้วยทุ่งนา มีคันดินพอเป็นทางเดิน มีดงกล้วย ดงกก ขึ้นรกทึบ เป็นได้ทั้งแหล่งหลบซ่อนตัว และพื้นที่หาอาหารชั้นดี

เสือปลา มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Fishing Cat’ แปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า ‘แมวนักจับปลา’ อันเป็นอาหารโปรดของนักล่าแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

แต่นอกจากนั้น เสือปลายังกินสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ตามที่หาได้และปรากฏในระบบนิเวศ

งานวิจัยชิ้นเก่าระบุเอาไว้ว่า เสือปลากินอาหารในกลุ่มปลา นก หนู งู กบ หอย และปู

PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

ระหว่างการตั้งกล้อง นิรุตต์อธิบายเรื่องราวงานศึกษาพฤติกรรมเสือปลาจากประสบการณ์ทำงานไว้อย่างน่าสนใจ

นักวิจัยเล่าว่าเสือปลามีวงรอบการหากินของเขา ยกตัวอย่าง บางตัวอาจใช้เวลาเดินหากินหลับนอนจากจุดหนึ่งกลับมาจุดเดิมเป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์หรือบางครั้งอาจนานสองสัปดาห์

วงรอบของการเดินนั้นหมายถึงการประกาศอาณาเขต

สมมติว่าเมื่อคืนเสือปลาได้เดินผ่านห้องน้ำไปแล้ว คืนนี้เสือปลาอาจกำลังล่าเหยื่ออยู่ตรงบริเวณอื่น

และนั่นอาจหมายถึงความผิดหวังของเรา

ซึ่งก็เป็นความบังเอิญที่ตรงกับคำบอกเล่า – ในเช้าวันต่อมา กล้องดักถ่ายไม่สามารถจับภาพเสือปลาได้ตามประสงค์

มันอาจเดินผ่านตรงนี้ไปก่อนวันที่เรามาถึง

…แต่ไม่เป็นไร เราทำใจไว้ก่อนแล้ว…

เราขออนุญาตคุณนิรุตต์ตั้งกล้องต่อไป อย่างน้อยก็จนกว่าพลังงานแบตเตอรี่จะหมด

วันนี้ไม่ได้ ค่อยว่ากันใหม่ในวันพรุ่งนี้ หรืออาจเป็นวันต่อๆ ไป…

เราปลอบตัวเองด้วยความหวังจากหลักฐานของงานวิจัย…

สองสัปดาห์หลังจากตั้งกล้อง สามารถจับภาพเสือปลาที่ ‘ห้องน้ำ’ ได้สำเร็จ

มองความเปลี่ยนแปลงผ่านโดรน

แม้จะจับภาพเสือปลาไม่ได้ นิรุตต์ก็ยังยืนยันว่าที่นี่คือบ้านของเสือปลาร้อยเปอร์เซ็นต์

“เสือปลาอยู่ตรงนี้มาก่อนมนุษย์จะเข้ามาตั้งถิ่นฐาน สร้างที่อยู่อาศัย ขยายชุมชน แต่พอคนเข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตของสัตว์โดยตรง”

ในคำอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ ที่ได้ฟังจากนักวิจัย เมื่อเรามองลงมาอย่างนก เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ดังที่เอ่ย

บ้านเรือนประกอบร่างจนเป็นเมือง แปลงเกษตร แปลงข้าว ทิวเขาหินปูน รั้วกั้นรางรถไฟ บึง ถนน ตั้งอยู่-ผสม-ปะปนกับป่าชุ่มน้ำ เกิดเป็นภูมิประเทศสลับซับซ้อนกันระหว่างเมืองกับธรรมชาติ

ในจินตนาการก่อนชุมชนมนุษย์จะมีมากอย่างปัจจุบัน บริเวณนี้คือป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ผืนหนึ่ง และอดีตคงเคยมีเสือปลาอาศัยอยู่หลายร้อยหรือหลักพันตัว

แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลเหล่านี้ไม่เคยถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนมาก่อน

PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข
PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

“เคยเห็นเสือปลาเข้ามาประชิดชุมชนมากที่สุดแค่ไหน” เราถามคุณนิรุตต์

“ผมไม่เคยเห็นเสือปลาเดินในชุมชนจะจะจังจังนะ ประเภทที่ว่าขับรถไปทำงานแล้วเสือปลากระโจนผ่านหน้ารถ ผมไม่เคยเจออย่างนั้น ทำงานมาสิบกว่าปีก็ไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอตัวเป็นๆ”

บางทีอาจเป็นเพราะเวลาของคนทำงานกับเวลาออกหาเหยื่อยของเสือปลากับคนไม่ตรงกัน – คนทำงานกลางวัน แต่เสือปลาทำงานกลางคืน

ตามปกติแล้วเสือปลาสามารถออกหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ที่กล้องดักถ่ายสามารถจับภาพเสือปลาได้กลางคืนเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะเสือปลาต้องการหลีกเลี่ยงกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในตอนกลางวัน โดยเฉพาะบริเวณถิ่นหากินที่ทับซ้อนกับงานของคน

“แต่มีชาวบ้านเล่าว่าเขาเห็นนะ เห็นที่บ้านเลยก็มี ตรงนี้ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่อาจบอกได้ว่า วันนี้เสือปลาหากินตรงไหนบ้าง แต่ก็ต้องศึกษาเก็บข้อมูลกันต่อว่า เห็นจริงไหม เห็นตรงไหน เห็นเท่าไหร่”

“แต่ช่วงปีสองปีมานี้ ชาวบ้านเล่าว่าเห็นลูกๆ มันบ่อยขึ้น เสือปลาก็อาจเพิ่มมากขึ้นก็ได้” – นักวิจัยขยายความ เปล่งวาจาประกอบสายตาประกายความหวัง

ส่วนตัวนักวิจัยก็พบจุดสังเกตที่น่าสนใจในเรื่องที่ว่า เริ่มจับภาพเสือปลาสองตัวในพื้นที่เดียวกันได้บ่อยขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมประกาศเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอาณาเขต

จะเป็นเพราะสาเหตุใดนั้น เรื่องนี้คงต้องทำการศึกษาวิจัยกันต่อไป

แต่หากให้คิดคำตอบแบบเร็วๆ ก็อาจเป็นเพราะถิ่นที่อยู่อาศัยเกิดการเปลี่ยนแปลง และเหลือน้อยลง

กระทั่งถึงเวลาที่เสือสองตัวจำยอมมาอยู่ในถ้ำเดียวกัน

นิรุตต์ ท้าวโกษา l PHOTO : เอกวิทย์ เตระดิษฐ์

ล่องเรือส่องกล้องดูนก

อีกจุดที่ถูกระบุว่าชาวบ้านพบเห็นเสือปลาบ่อย คือ หมู่บ้านสามร้อยยอด ชุมชนประชิดอุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด

ที่นี่เราได้ ผู้ช่วยแดง สมคิด พ่วงแพ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนสามร้อยยอดมาช่วยเป็น ‘ไกด์’ นำทางพาไปหาร่องรอยของเสือปลา

ที่เรียก ‘ไกด์’ เพราะผู้ช่วยแดงมีอาชีพเสริม เป็นคนนำเที่ยวโดยการล่องเรือชมธรรมชาติรอบๆ ทุ่งสามร้อยยอด ใช้ความงดงามทางระบบนิเวศมาเป็นจุดขาย

กลางสายนทีที่รายล้อมด้วยดงกกและทุ่งดอกบัวบานสะพรั่ง เรือท่องเที่ยวจะพานักเดินทางชมทิวทัศน์ยามอาทิตย์อัสดงของถ้ำเขาจูบกัน กอปรชมทิวทัศน์วัดถ้ำเกาะไผ่

และที่ขาดไม่ได้ คือ การชมนกน้ำออกหากินรอบๆ บริเวณคลองเขาแดง

ตามข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่าบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกประมาณ 316 ชนิด

ระหว่างล่องเรือในเวลาไม่นานเกิน 10 นาที เราได้เห็นนกกระแตแต้แวด นกตะขาบทุ่ง นกจาบคาหัวสีส้ม จาบคาเล็ก นกกาน้ำเล็ก นกกระเต็นอกขาว นกกินเปี้ยว นกตีนเทียน นกแอ่นพง นกเด้าดินทุ่งเล็ก นกกระติ๊ดขี้หมู กลุ่มนกยางกรอก ยางเปีย ยางควาย นกกาบบัว นกกระสาแดง นกอีโก้ง

แม้พบเพียงเสี้ยวหนึ่งของจำนวนที่ระบุ แต่นั่นก็มากมายจนประกายตาเราแวววาว หัวใจสั่นระรัวพองโต

บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศที่ยังเหลืออยู่ และจำเป็นอย่างมากที่ต้องรักษาเอาไว้

ในบทสนทานาเรื่องนก ผู้ช่วยแดงสารภาพว่าไม่ค่อยรู้จักชนิดสัตว์ปีกเหล่านี้สักเท่าไหร่ ยังอยู่ในชั่วโมงการเรียนรู้เรื่องราวของเหล่าปักษา เดิมทีงานท่องเที่ยวเชิงนิเวศวางหมุดหมายไว้เพียงการล่องเรือชมดอกบัว และพาเที่ยวตามสถานที่สำคัญๆ ก็น่าเพียงพอแล้ว แต่ทำไปทำมาคนใช้บริการกลับสนใจเรื่องนกกันมาก จึงต้องทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้เพิ่มมากขึ้น

“หากนักเที่ยวถามก็ต้องตอบได้ชัดเจน และเข้าคอนเส็ปต์การท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศขึ้นอีกระดับครับ”

PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข
PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

เช่นเดียวกับเรื่องของนก เสือปลาก็เป็นสัตว์อีกชนิดที่ผู้ช่วยแดงบอกว่าเมื่อก่อนไม่ค่อยมีคนสนใจอยากอนุรักษ์ เพราะไม่มีใครรู้ว่า เสือปลามีคุณค่าและความสำคัญอย่างไร

“แต่ตอนนี้เรารู้แล้วครับ”

ยามบ่ายที่ร้อนอ้าว และแสงแดดทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม เราผละตัวขึ้นจากเรือล่องลำคลอง ก้มหน้าย่ำเดินตามคันดินตามผู้ช่วยแดงไปหาร่องรอยของเสือปลา

หากอ้างอิงคำพูดของนักวิจัย แน่นอนว่าโอกาสพบคงเป็นไปได้ยาก สัญชาตญาณสัตว์ป่าที่รู้หลบหลีกเป็นเลิศ เมื่อได้กลิ่นแปลกปลอม เสียงรบกวน พวกมันคงพรางกายหายเข้าไปตามพงหญ้าที่กลมกลืนกลับลวดลายอย่างว่องไว

เสือปลาอาจมองเราอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรืออาจกระโจนหนีไปให้ห่างจากผู้มาเยือน – ที่มันคงไม่รู้ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู

แต่ในมุมของผู้ช่วยแดง ซึ่งพูดในนามของชุมชนสามร้อยยอด บอกกับเราว่าเสือปลานั้นคือมิตร และเราเองก็เป็นมิตรของเสือปลา

“มีเสือปลานี่ดีนะครับ เขาช่วยจัดการหนูที่มารบกวนสวนมะพร้าวชาวบ้านจนหมด” ผู้ช่วยแดงพูดด้วยรอยยิ้ม

“ถ้าไม่มีเสือปลา มะพร้าวก็ไม่ได้กินครับ”

แม้คำบอกเล่าจะเป็นเพียงเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนแบบง่ายๆ แต่นั่นก็ขยายไปได้ถึงความหมายของนิเวศบริการที่ได้รับจากอนุรักษ์เสือปลา

และก็น่าขยายผลเพิ่มเติมได้อีกมาก – เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ในอนาคต

ระหว่างการเดินทางร่วมกับผู้ช่วยแดง เราพบกับรอยตีนของเสือปลาที่ปรากฏชัดอยู่บนโคลนตม

ผู้ช่วยแดงค่อนข้างมั่นใจว่าใช่รอยตีนของเสือปลาแน่ๆ เพราะห่างออกไปไม่ไกล ยังพบร่องรอยมูล และถัดจากนั้นอีกหน่อยก็พบโพรงหญ้าขนาดไม่ใหญ่นัก พอๆ กับขนาดตัวของเสือปลา คาดว่าคงเป็นเส้นทางที่เขาใช้ซอกซอนและออกหากิน

รวมถึงยังพบ ‘ลอบตาข่าย’ (เครื่องมือจับปลาท้องถิ่น) ถูกลากขึ้นมาจากคูน้ำ ปรากฏรอยตาข่ายแหว่งขาด – ผู้ช่วยแดงบอกว่า บางทีเสือปลาก็มาขโมยปลาที่ชุมชนจับ

PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข
ผู้ช่วยแดง สมคิด พ่วงแพ l PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

“ดูสิ รอยขาด เสือปลาเขาพยายามจับปลาจากลอบ”

แม้เรื่องหลังจะไม่ใช่หลักฐานที่ชัดเจนนักในเชิงรูปธรรม ลอบนี้อาจชำรุดอยู่ก่อนแล้ว หรือเจ้าของอาจเป็นคนหยิบขึ้นมาวางเอาไว้เองหลังจากฉวยปลาไปต้มยำทำแกงเรียบร้อย

แต่เรื่องเล่าจากประสบการณ์ บนบริบทการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมก็พอจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง

เพราะใช่มีแต่ผู้ช่วยแดงคนเดียวที่คิดเช่นนี้ ผู้คนอีกไม่น้อยก็คิดเห็นเป็นทางเดียวกัน

และบางคนก็อ้างว่าเคยโดนเสือปลาขโมยปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อมาแล้ว…

รอคอยด้วยกล้องวงจรปิด

“เคยเห็นเสือปลาไหมครับ”

เราเอ่ยถามชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่นั่งสนทนากันในศาลากาแฟของหมู่บ้านดอนยายหนู

“เคย! น้ำเต้า ปู กุ้ง ก็เคยเห็น” ใครบางคนตะโกนตอบ ขณะที่อีกคนชี้นิ้วไปยังเพื่อนข้างๆ บอกว่า “ถ้าเสือผู้หญิงต้องคนนี้”

เราหัวเราะร่วนกับคำตอบทีเล่นทีจริง ก่อนข้อมูลเป็นเรื่องเป็นราวจะพรั่งพรูตามมา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนกับเสือปลา

“ผมเคยเจอ เจอบ่อย เมื่อก่อนมีเยอะ กลางคืนส่องไฟเจอบ่อย”

“เดี๋ยวนี้ก็ยังเยอะ ผมคิดว่ามันเยอะขึ้นนะ” แต่อีกคนแย้งว่ามันน่าจะเหลือน้อย อันเป็นข้อมูลจากประสบการณ์ของแต่ละคนที่มีโอกาสพบเจอไม่เท่ากัน

ไม่มีคนผิด ไม่มีคนถูก

“แล้วเสือปลามันสร้างปัญหาอะไรกับพี่บ้างไหม” เราวางคำถามแบบขวานผ่าซากออกไปตรงๆ

“ต่างคนต่างอยู่ เขาอยู่ของเขา เราอยู่ของเรา” คนหนึ่งตอบ แต่อีกคนแย้งว่าเคยโดนเสือปลาขโมยกินปลากินไก่

ในความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆ ทุ่งสามร้อยยอดในปัจจุบัน ผู้คนประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง บางคนเลี้ยงไก่ไว้กินไข่กินเนื้อ บางคนมีไก่ชนราคาสูงเลี้ยงไว้ยลความงามเป็นงานอดิเรก

สิ่งเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่อยู่อาศัยของเสือปลาอย่างที่นิรุตต์เล่าไว้ และบางอย่างนำพาไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา

“มันแอบลักกินไก่ผม” ใครคนหนึ่งเอ่ย

“มันแอบขโมยปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อ” อีกคนสมทบ

“ผมเคยเห็นมันทำจริงๆ เสือปลาจริงๆ ไม่ใช่เสือผู้หญิง ลองเดินส่องไฟตอนกลางคืนดูสิ ตามันสะท้อนไฟวาวเชียว” ใครสักคนตะโกนมา ไม่รู้ต้นเสียงมาจากไหน

ข้อมูลเหล่านี้เป็นคำบอกเล่าที่เคยได้ยินมาจากหลายชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์แตกต่างกันไป แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเก็บรายละเอียดอย่างเป็นระบบ และไม่เคยเก็บหลักฐานเชิงรูปธรรม

ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ

เสือปลาอาจทำตัวเป็นแมวขโมยดังที่ชาวบ้านเล่า หรืออาจเป็นสัตว์ชนิดอื่นคุกคามหรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ จะรู้ได้ก็ต้องมีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

ภายใต้ปัญหาที่ปรากฏ ปัจจุบันองค์กรอนุรักษ์หลายกลุ่มกำลังร่วมกันทำโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน

หนึ่งในภารกิจของงานคือการวางกล้องวงจรปิดไว้ยังจุดที่ถูกชี้ว่าเคยเห็นเสือปลาเดินผ่าน

ถ้ามีเสือปลา สิ่งมีชีวิต หรือความสั่นไหวเกิดขึ้นหน้ากล้อง – กล้องจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของคนดูแล

ถ้าสิ่งที่กล้องจับภาพได้คือเสือปลา ก็อาจบอกได้ว่า เสือปลากำลังจะไปไหน ทำอะไร และเสือปลาได้รบกวนชุมชนมากแค่ไหน ข้อมูลที่ได้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในลำดับต่อไป

รวมถึงการยืนยันอีกครั้งว่า เสือปลายังมีชีวิตอยู่ตรงนั้น…

PHOTO : เอกวิทย์ เตระดิษฐ์

โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา

จากข้อมูลปัจจุบันระบุว่าในพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด ยังมีเสือปลาอาศัยอยู่ ฐานข้อมูลงานวิจัยเบื้องต้นนับได้ 67 ตัว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ

หรือแทบจะเรียกได้ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง

สถานะการอนุรักษ์ตามบัญชีแดง IUCN จัดให้เสือปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU – Vulnerable species) – ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

โจนาธาน เอเยอร์ส ประธานคณะกรรมการของ Panthera เคยเขียนบรรยายถึงความสำคัญของเสือปลาเอาไว้ในทำนองว่า ‘เป็นสิ่งมีชีวิตที่ความสำคัญระดับโลก’

การมีอยู่ของเสือปลาไม่ได้หมายความเพียงการอนุรักษ์เผ่าพันธุ์หรือถิ่นที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงทางรอดต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เสือปลาจะอยู่ได้ บ้านอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำก็ต้องมีมากพอสำหรับให้เสือปลาได้อาศัย หากิน ขยายเผ่าพันธุ์

ขณะเดียวกัน พื้นที่ชุ่มน้ำยังมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในชั้นดินไม่ให้ออกไปยังชั้นบรรยากาศ

โดยพื้นที่ชุ่มน้ำกักเก็บประมาณ 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของโลก

อย่างไรก็ตาม บนความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียกคืนพื้นที่ชุ่มน้ำให้กลับมีมากมายเหมือนเช่นในอดีต

แต่การรักษาสิ่งที่มีอยู่ ก็เปรียบได้ดังความหวังของอนาคตอย่างหนึ่งเช่นกัน

ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แพนเทอราประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) และชุมชนในพื้นที่ ดำเนินโครงการ ‘ส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด’

เป้าหมายเพื่ออนุรักษ์เสือปลาและถิ่นอาศัยอย่างมีส่วนร่วมตามหลักวิชาการ ขณะเดียวกันชุมชนจะเกิดความตระหนักและได้รับประโยชน์ต่อการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่

ตลอดจนนำไปสู่การลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา หากว่าถึงที่สุดแล้วมันคือความขัดแย้งจริงๆ อย่างเช่นเรื่องคนกับช้าง

และโครงการนี้ ยังหวังให้เกิดการจัดทำนโยบายสาธารณะในการอนุรักษ์เสือปลาอย่างมีส่วนร่วม

เสือปลาอาจเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรู บางนาทีอาจขึ้นอยู่กับมุมมองและสิ่งที่ประสบพบ และแต่ละมุมที่มองนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะดีหรือร้าย หากเป็นปัญหา ก็ใช่จะไร้ทางออก

การดำรงอยู่ร่วมกันของชีวิตต่างสายพันธุ์นั้น คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าใครอยู่มาก่อน ใครมาทีหลัง ใครทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายไหนกระทำอย่างไร ใครถูกหรือผิด ไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างฉันหรือเธอ

แต่ขึ้นกับว่า จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร…

PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข
PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม