โมเดลการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม อนาคตของผืนป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย

โมเดลการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม อนาคตของผืนป่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย

นับตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินยุทธการทวงคืนผืนป่าเป็นต้นมา ในแต่ละปีเราจะเห็นกรมอุทยานฯ ออกมาแถลงตัวเลขจำนวนพื้นที่ได้รับคืนมากมาย ขณะเดียวกันก็มีเสียงสวนกลับไปว่า “ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่านี้ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน” โดยเฉพาะกับประเด็นวิวาทะที่มีมาช้านานในเรื่องของชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ใครอยู่มาก่อน อยู่ทีหลัง ใครบุกรุก บุกรุกเมื่อไหร่ จะมีกระบวนการจัดการอย่างไรเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยที่กรมอุทยานฯ ได้พื้นที่ป่าคืน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างพอดีและยั่งยืน

ที่สำคัญไปกว่า คือ ทำอย่างไรไม่ให้พื้นที่ป่าถูกทำลายเพิ่ม เพราะถึงแม้จะทวงคืนพื้นที่มาได้หลายแสนไร่ แต่หากอัตราการบุกรุกทำลายป่ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง ต่อให้ทวงคืนกลับมาได้เท่าไหร่ก็คงไม่คุ้มกับส่วนที่เสียไปอยู่ดี เพราะต้องไม่ลืมว่าป่าที่ถูกทำลายนั้น ต้องใช้เวลาอีกไม่รู้กี่สิบหรือร้อยปีกว่าจะคืนสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ได้ดังเดิม

ดูจะเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่คำตอบของเรื่องนี้ก็ไม่ได้ไกลเกินแก้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นได้คืนพื้นที่ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยไร้ข้อพิพาท การตรวจยึดไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด เกิดการยอมรับร่วมกันผ่านการใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำในการทำงาน รวมถึงการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม แทนที่การใช้กฎหมายเพื่อการปราบปราม

เราเรียกการทำงานในครั้งนี้ว่า “การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม”

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชวนไปดู รูปแบบการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก แนวทางสำคัญที่จะไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างยั่งยืนในอนาคต

พื้นที่บางส่วนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ถูกแผ้วถางเป็นพื้นที่ทำกินของคนในชุมชน ปัจจุบันได้มีการจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตการใช้ประโยชน์ของชุมชนเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีพื้นที่ทั้งหมด 733,125 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ถึง 711,818 ไร่ หรือคิดเป็น 96.84% ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นผืนป่าชั้นดีและเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำปิงที่ไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 3.18% นั้นเป็นพื้นที่ที่มีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ รวมทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านม้งกิ่วสามล้อ บ้านห้วยหมาบ้า บ้านห้วยน้ำเย็น และบ้านห้วยผาดำ โดยบ้านม้งกิ่วสามล้อ (ชุมชนชาติพันธุ์ม้ง) เป็นชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากที่สุดถึง 14,873.01 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี ฯลฯ

ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ได้เริ่มต้นที่บ้านม้งกิ่วสามล้อเป็นที่แรก โดยมีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 เจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าภาพ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ลงพบปะพูดคุยกับชาวบ้านโดยใช้ความเคารพซึ่งกันและกันเป็นทางนำ

สมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หนึ่งในแม่งานสำคัญของภารกิจนี้ อธิบายถึงการทำงานอย่างมีส่วนร่วมว่า กิจกรรมการจัดการชุมชนอย่างมีส่วนร่วมจะต้องสร้างเวทีให้เกิดการพูดคุยกัน เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยต่างฝ่ายต่างต้องให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน คือ ชุมชนต้องเคารพกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ก็ต้องเคารพสิทธิของชุมชน จึงจะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้โดยไร้ข้อพิพาท

“เมื่อสามารถเจรจาตกลงกับชุมชนได้ เราจะชวนชุมชนมาร่วมพิจารณากฎเกณฑ์ กติกา ตรวจสอบการใช้พื้นที่ ให้เป็นที่ยอมรับรวมกันของทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน”

ลำดับต่อมาจึงเข้าสู่หัวใจสำคัญของงาน คือ การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่

“ในเรื่องของการสำรวจข้อมูลพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน และจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับชุมชนว่าจะอยู่กันอย่างไร เพื่อนำไปสู่การวางกรอบระเบียบข้อตกลงชุมชนว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้”

สมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

แนวเขตพื้นที่ หลักฐานวิทยาศาสตร์ ป้องกันการรุกป่า

‘ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์’ คือ สิ่งที่สมปอง ทองสีเข้ม บอกว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ตรวจสอบและป้องกันการบุกรุกป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ที่ผ่านมาพื้นที่อนุรักษ์หลายแห่ง ไม่มีฐานข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าได้”

การทำฐานข้อมูลในที่นี่ คือ การส่งเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ออกไปเดินลาดตระเวนสำรวจแนวขอบพื้นที่ทำกินของชุมชนที่ชนกับพื้นที่ป่า ชุมชนมีพื้นที่ทำกินอยู่ตรงไหน เจ้าหน้าที่ก็จะเดินลาดตระเวนเก็บข้อมูลขอบพื้นที่บริเวณนั้นๆ เพื่อให้ได้พิกัดที่แน่นอนเป็นฐานข้อมูล แน่นอนว่าการเดินสำรวจนี้ได้ชวนผู้นำชุมชนตลอดจนครอบครัวเจ้าของพื้นที่ทำกินไปร่วมเดินสำรวจเพื่อให้เห็นถึงความโปร่งใสของการทำงาน

ปฏิบัติการหนนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้อ้างอิงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 66/2557 มาใช้ในการจัดการพื้นที่ที่รุกป่า กล่าวคือ ใครที่รุกป่าหลังปี พ.ศ. 2557 จะต้องคืนพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำกลับไปฟื้นฟูดูแลให้เป็นพื้นที่ป่า

ข้อมูลที่ได้จากการลาดตะเวน เมื่อนำไปเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมปลายปี 2557 จะทำให้ทราบว่าพื้นที่ตรงไหนที่ถูกบุกรุกใหม่ “เราเอาภาพถ่ายดาวเทียมที่บันทึกไว้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 มาตรวจเช็คว่า ถ้าพื้นที่ตรงไหนในปี พ.ศ. 2557 ยังเป็นป่าสมบูรณ์แต่ปัจจุบันหายไปหมด ก็ต้องคุยว่าเพิ่งบุกรุกระหว่าง พ.ศ. 2557 – 2559 ใช่ไหม ถ้าใช่ก็จะขอคืน เขาก็ยอม เพราะจำนนด้วยหลักฐาน”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจไม่ใช่เพียงแค่ทำไว้เพื่อทวงคืนป่า แต่แนวเขตพื้นที่นี้ยังนำไปใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่ม ผ่านงานลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หากยังพบการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม ก็จะทำให้ทราบจากฐานข้อมูลที่สำรวจไว้

“เราทำตรงนี้เพื่อปกป้องป่าสมบูรณ์ของเราไว้ การทวงคืนได้เท่าไหร่ถือว่าเป็นกำไร ในอดีตการทำงานส่วนนี้ยังขาดไม่เข้มข้น ต่อให้ทวงคืนได้มาเท่าไหร่ แต่พื้นที่ป่าส่วนอื่นยังถูกทำลาย ก็ถือว่าไม่คุ้มกัน”

ตัวอย่างแผนที่พื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น โดยข้อมูลขอบเขตต่างๆ ที่นำมาบันทึกลงในแผนที่นั้นเกิดจากการเดินลาดตระเวนในพื้นที่จริงเพื่อจับพิกัดขอบเขตที่ถูกต้อง การมีแผนที่และพิกัดที่ถูกต้องสามารถใช้อ้างอิงในการตรวจสอบการบุกรุกที่อาจเกิดในภายหลังได้เป็นอย่างดี / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

ยึดที่ทำกิน ใครจน ? ใครรวย ?

ในคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ออกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง “เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกต่อจาก คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 “เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้” ที่ออกมาในวันที่ 14 มิถุนายน 2557

โดยใจความสำคัญของคำสั่งที่ 66/2557 ได้ระบุว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชากรผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” [ดูเพิ่มเติม คำสั่งที่ 66/2557 https://goo.gl/V29y5b] ซึ่งในคำสั่งที่ 64/2557 ไม่มีเรื่องการละเว้นให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ไร้ที่ดินทำกิน

ในการดำเนินการต่อหมู่บ้านม้งกิ่วสามล้อ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จึงแบ่งลำดับการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้ที่บุกรุกหลังปี พ.ศ. 2557 จะต้องคืนพื้นที่ป่าให้กรมอุทยานฯ ทั้งหมด เพราะถือว่าเป็นการบุกรุกใหม่อย่างชัดเจน ส่วนที่บุกรุกก่อน พ.ศ. 2557 (ระหว่างพ.ศ. 2545 – 2557) หากพิจารณาว่าเป็นผู้ยากไร้หรือมีรายได้น้อยจะได้รับการงดเว้น หากเป็นผู้ถือครองรายใหญ่หรือนายทุนจะต้องคืนพื้นที่ป่าให้กรมอุทยานฯ ทันที

ผู้ยากไร้หรือมีรายได้น้อย วัดจากอะไร ? สมปอง ทองสีเข้ม อธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะแบ่งว่าใครเป็นคนมีรายได้น้อยหรือรายได้มากโดยยึดหลักเกณฑ์ใดเพียงหลักเกณฑ์หนึ่ง เพราะบริบทพื้นที่แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ในประเด็นนี้จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน โดยวิธีที่ใช้คือให้ชาวบ้านที่คิดว่าตนเองเป็นคนจนมาลงทะเบียนเพื่อทำการตรวจสอบ

“วิธีการตรวจสอบที่เราใช้กับชุมชน คือ การสอบถามจำนวนพื้นที่ที่แต่ละครอบครัวใช้ประโยชน์ ดูทรัพย์สินในครัวเรือนว่ามีอะไรบ้าง บางคนมีรถยนต์ 2 คัน ถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยไหม หรือมีที่ดินใช้ประโยชน์หลายไร่จะนับเป็นผู้ยากไร้ได้ไหม ก็ต้องมาประเมินกันโดยให้คนในชุมชนเป็นผู้รับรองกันเองว่าครอบครัวนี้จนจริงไหม บางคนมาลงทะเบียนคนจนไว้ แต่พอบอกว่าจะตามไปตรวจสอบที่บ้าน ก็ถอนรายชื่อทันที”

ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าฯ กล่าวย้ำว่า เรื่องของชุมชนควรให้ชุมชนเป็นผู้ตรวจสอบกันเองจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งในกรณีของชุมชนบ้านม้งกิ่วสามล้อได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี

ลักษณะแปลงพื้นที่ทำกินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ส่วนใหญ่ชุมชนในพื้นที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ต้องมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบันกรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพยายามหาแนวทางเสริมอาชีพใหม่ให้กับชุมชนเพื่อหลีกเลี่ยงการทำอาชีพที่จะส่งกระทบต่อผืนป่าอย่างการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

อยู่อย่างยั่งยืน (อย่างไร) ในพื้นที่อนุรักษ์

“เราอยากให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริม ชีวิตความเป็นอยู่ให้กับเรา” เสียงเล็กๆ จากชาวบ้านในชุมชนบ้านม้งกิ่วสามล้อ บอกเป็นนัยกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ

ปัญหาใหญ่เมื่อชุมชนคืนพื้นที่ป่าให้กับรัฐแล้ว ทำอย่างไรถึงหาอยู่หากินได้อย่างพอดี ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ครอบครัวขยายใหญ่โต มีลูกมีหลาน ในพื้นที่ทำกินที่มีอยู่อย่างจำกัดจะใช้อย่างไร

ในการส่งมอบพื้นที่บ้านม้งกิ่วสามล้อที่บุกรุกหลัง พ.ศ. 2557 คืนแก่กรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มอบกล้าไม้ให้แก่ชุมชน เช่น อะโวคาโด มะคาเดเมีย กล้าไผ่หก เป็นต้น เพื่อชักชวนให้ชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตรเป็นแบบผสมผสานในพื้นที่ที่พอเหมาะพอดี แทนที่การทำเกษตรเชิงเดี่ยวเดิมที่ต้องใช้พื้นที่มาก และอาจส่งผลให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม่จบสิ้น รวมถึงการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อรักษาระบบนิเวศของผืนป่าต้นน้ำ

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในภายภาคหน้าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่อนุรักษ์จะต้องลดลง ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้หลักปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็จะกลับไปพิจารณาถึงงบประมาณที่กรมฯ มีว่าสามารถนำมาพัฒนาหรือจัดตั้งโครงการได้มากน้อยขนาดไหน

สมปอง ทองสีเข้ม กล่าวเสริมว่า การจัดการพื้นที่ตรงนี้ยังเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้น ซึ่งในอนาคตจะมีการเติมโครงการต่างๆ เข้าไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น เช่น การนำโครงการพระราชดำริเข้าไปจัดการพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อผืนป่าให้แก่ราษฎร

แม้รูปธรรมอาจยังไม่เห็นภาพชัดนัก แต่โดยการทำงานนั้นไว้วางกรอบขั้นตอนต่อไปไว้เป็นที่เรียบร้อย กิจกรรมหลังจากขอคืนพื้นที่สำเร็จจะเป็นส่วนของการหนุนเสริมวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชน ผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมวัฒนธรรม ส่งเสริมอาชีพชุมชน หนุนเสริมความเข็มแข็งชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นเข้ามาช่วยอีกแรง

ธัญญา เนติธรรมกุล (ซ้าย) อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนบ้านม้งกิ่วสามล้อ เพื่อหารือแนวทางการอยู่ร่วมกับป่าอย่างสันติสุข / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

โมเดลการมีส่วนร่วม ความหวังอนุรักษ์ผืนป่าไทย

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล กล่าวถึงแนวทางในการนำโมเดลบ้านม้งกิ่วสามล้อไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ว่า งานครั้งนี้ถือเป็นโมเดลสำคัญที่ประชาชนเข้ามาร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพราะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปได้

“พื้นที่ตรงนี้คล้ายเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งเราจะนำไปพูดคุย แต่อาจจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มันสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ที่นี่อาจจะเป็นโมเดลหนึ่ง แต่ว่าแต่ละพื้นที่อาจไม่เหมือนกัน ภาคเหนือ ใต้ อีสาน ภาคกลาง บริบทพื้นที่อาจไม่เหมือนกัน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มันสอดคล้องกับสภาพพื้นที่โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ จะพัฒนาคุณภาพพี่น้องประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นเป้าหมายสุดท้าย”

ด้าน นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความคิดเห็นต่อโมเดลการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมว่า โมเดลนี้จะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยนายศศิน เสนอว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรเป็นผู้กำกับดูแลเอง เสนอตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ชุมชน เอ็นจีโอสายสิ่งแวดล้อม และสายสิทธิมนุษยชน โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยดูแลในฐานะคนกลางถึงบริบทที่ว่าให้ คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้มันอยู่ตรงไหน

“ต้องชวนทุกฝ่ายมาร่วมหารือ ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายที่ดูแลด้านสิทธิมนุษยชนก็ต้องชวนมาคุย ต้องเป็นคณะทำงานที่ไม่ได้มีแต่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพียงอย่างเดียว และควรตั้งเป้ากรอบระยะเวลาให้เสร็จภายใน 1 ปี”

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังกล่าวต่อไปว่า โมเดลการมีส่วนร่วมนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก ในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า โครงการ ‘จอมป่า’ มาจากชื่อย่อโครงการภาษาอังกฤษ Joint management of Protected Areas – JoMPA โดยดำเนินการจัดทำแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนกว่า 130 ชุมชนทั่วผืนป่า ขณะเดียวกันได้ผลักดันงานด้านส่งเสริมอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่าให้กับชุมชนควบคู่กันไปด้วย

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร / มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่านั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ สามารถลงมือดำเนินการได้ทันที ขอแค่มีคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องงบประมาณก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบสองพันล้านบาทสามารถแบ่งมาใช้ในการแก้ไขปัญหาด้วยโมเดลนี้ได้ เพียงแต่ขอให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานก็พอ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย ไม่เกี่ยวว่าจะต้องมีคำสั่ง คสช. หรือทำได้เฉพาะในรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารเท่านั้น

“การทำงานไม่ควรยึดติดหรอกว่าใครมาเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลมาจากไหน เรามีกฎหมาย มีหน้าที่อยู่แล้ว ก็ควรจะทำ การอ้างว่าทำไม่ได้ก็เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ คนในกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลต้องกล้าที่จะเสนอโมเดลการทำงาน รัฐมนตรีจากทุกพรรคไม่มีความรู้เท่าคนในกรมฯ หรอก เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนในกรมฯ”

 


บทความโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสียร