แนวคิด ‘สามก้อนเส้า’ กับการร่วม รักษาป่า แบบไตรภาคี

แนวคิด ‘สามก้อนเส้า’ กับการร่วม รักษาป่า แบบไตรภาคี

การดูแลและรักษาผืนป่า ถือเป็นงานสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อระดมทั้งกำลังกายและกำลังใจในการปกป้องควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพงไพรที่มีอาณาเขตติดกับชุมชน อันถือเป็นจุดเปราะบางที่เสี่ยงต่อการลักลอบตัดไม้เพื่อนำมาแปรรูป อย่างพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ‘แม่วงก์ – แม่เปิน’ จังหวัดนครสวรรค์

แต่เดิมพื้นที่บริเวณดังกล่าวมักจะพบปัญหาการลักลอบตัดไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกลุ่มนายทุน โดยมีการว่าจ้างให้ชาวบ้าน (บางส่วน) เข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่า จนขึ้นชื่อว่า ‘มาแม่เปินเมื่อไหร่ ได้ไม้กลับไปเมื่อนั้น’ เนื่องจากมีการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แน่นอนว่าการบุกรุกพื้นที่ป่าถือเป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติในระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเขตป่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแม่วงก์ – แม่เปิน อันถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในฐานะ ‘ป่ากันชน’ ก่อนเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นแนวกันชนก่อนเข้าเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกด้วย ดังนั้นการทำงานในพื้นที่ป่าแม่วงก์ – แม่เปิน จึงจำเป็นที่จะต้องมีแบบแผนการทำงานที่รัดกุมรอบคอบ รวมถึงต้องเกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน

 “ เวลาเอาก้อนหินมาทำก้อนเส้ามันไม่เท่ากันหรอกเพราะขนาดมันต่างกัน จะก่อไฟให้ติดเราจะต้องหันเหลี่ยมที่เท่า ๆ กันเข้าหากัน เพื่อให้ได้ความสูงที่มีระดับเดียวกัน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถวางหม้อได้ หากเปรียบกับการทำงานขององค์กร องค์กรไหนมันใหญ่ก็ต้องลดบทบาทตัวเองลง ลำดับถัดมาเวลาเราก่อไฟจากหินก้อนเส้า ถ้ามันชิดกันเกินไปไฟมันก็จะไม่ติด หรือติดสักแป๊ปขี้เถ้ามันก็จะอุดตัน ต้องเปิดช่องว่างเอาอากาศเข้าหน่อย ถ้าห่างไปก็ตั้งหม้อไม่ได้ หลักการสามก้อนเส้านี้มันก็เหมือนกับการทำงานของเราสามองค์กร ซึ่งต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมและหันเหลี่ยมเข้าหากันในการทำงาน ” เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน นิยามแนวคิดการทำงานแบบสามก้อนเส้า ผ่านรายการ ธรรมชาติมาหานคร (ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ทางโทรทัศน์ช่อง new 18)

เธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน

การทำงานภายใต้แนวคิด ‘สามก้อนเส้า’ จึงถือเป็นกลไกลการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่าแบบไตรภาคี ได้แก่ กรมป่าไม้ เอกชน (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร) และประชาชนคนพื้นที่ โดยบูรณาการให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยเว้นระยะห่างในการทำงานอย่างเหมาะสม สามก้อนเส้าถือเป็นขุมกำลังสำคัญในการปกป้องผืนป่าแม่วงก์ – แม่เปิน

นายเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ หรือหัวหน้าจอม ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เริ่มเข้ามาทำงานเป็นหัวหน้าหน่วยฯ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งพื้นที่ที่รับผิดชอบล้วนอุดมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีปัญหาการลักลอบตัดไม้ เพื่อนำไปสร้างเฟอร์นิเจอร์ ในอดีตการตัดไม้เกิดขึ้นในพื้นที่ของชาวบ้าน แต่เมื่อจำนวนไม้ที่ลดลงจากการนำไปแปรรูป ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งมีบางกรณีที่ปัญหาเกิดจากการรู้เห็นของเจ้าหน้าที่ด้วย ภายหลังจากที่ได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยฯ หัวหน้าจอมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างการทำงาน และปรับความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชา เพื่อเรียกคืนความน่าเชื่อถือของหน่วยฯ กลับคืนมา

“มารับหน้าที่ตอนแรกก็ต้องปรับความเข้าใจกับลูกทีมให้รู้ถึงโครงสร้างการทำงานและเป้าหมายปฏิบัติการที่ชัดเจนก่อน เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาสู่หน่วยฯ ซึ่งนอกเหนือจากการปกป้องรักษาแล้ว ยังต้องเข้าใจหลักการพัฒนาผืนป่าด้วย หากว่าตามความจริงในพื้นที่ก็มีองค์กรอื่นที่มีประสิทธิภาพพร้อมจะช่วยเราดูแลป่าไม้อยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้ยังเคยไม่ประสานงานกัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือกรรมการป่าชุมชนก็ดี ซึ่งเราก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและร่วมทำงานภายใต้แนวคิดสามก้อนเส้า เพื่อที่จะรักษาผืนป่าไปด้วยกัน” นายเธียรวิชญ์กล่าว

เมื่อมีการยกระดับการทำงานจาก ‘เชิงเดี่ยว’ สู่ ‘การทำงานร่วม’ การรักษาผืนป่าแม่วงก์ – แม่เปิน จึงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่แค่งานอนุรักษ์ที่รุกคืบไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับชาวบ้านในท้องถิ่นที่เห็นเป็นประจักษ์ อย่างการร่วมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) ซึ่งปัฏิบัติเช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมอุทยานฯ แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามลักษณะการทำงานและทรัพยากรในพื้นที่ ในส่วนของหน่วยฯ และคนในพื้นที่จะเป็นการตระเวนไพรเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้และที่ดิน เพื่อรวบรวมเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลในการทำงาน ซึ่งในลำดับถัดมาก็จะมีการนัดประชุม เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนและร่วมกันหาแนวทางแก้ไขด้วยกันต่อไป

“ พื้นที่ป่าแม่วงก์ – แม่เปิน ถือเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติอันเป็นสมบัติของทุกคน ดังนั้นการผลักดันที่เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ความร่วมมือของคนในพื้นที่ จึงเป็นการดีในเชิงงานอนุรักษ์ ” นายเธียรวิชญ์กล่าวทิ้งท้าย 

ขณะที่ ธิดารัตน์ กาญจนโพชน์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่นครสวรรค์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมูลนิธิฯ ในการปฏิบัติงานภาคสนามพื้นที่นครสวรรค์ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และคนท้องถิ่นเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยก่อนหน้านี้ในบริเวณที่รับผิดชอบ เป็นจุดที่มีการบุกรุกป่าไม้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งการลักลอบตัดไม้เพื่อนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ วิสาหกิจตอไม้ รวมไปถึงธุรกิจตัดไม้เพื่อนำไปผลิตเป็นถ่านทำเชื้อเพลิง ส่งผลให้พื้นที่ป่าในบริเวณดังกล่าวลดลง ซึ่งเกิดจากการรุกคืบเข้ามาของนายทุนและคนในพื้นที่

โดยช่วงแรกได้มีส่วนร่วมปลูกฝังและสร้างความเข้าใจในเรื่องการดูแลรักษาผืนป่าให้กับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างการทำงาน โดยมีการผลักดันให้หน่วยป้องกันและพัฒนาฯ ทำหน้าที่ในการพูดคุยและลงพื้นที่ทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น โดยมีมูลนิธิฯ ช่วยขับเคลื่อนด้วยการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ เป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อน

ธิดารัตน์ กาญจนโพชน์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่นครสวรรค์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

“ เริ่มทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ซึ่งมาพร้อม ๆ กับหัวหน้าจอม ในช่วงแรกเราก็เห็นปัญหาว่าบริเวณพื้นที่ตรงนี้ เต็มไปด้วยปัญหาอันส่งผลให้ป่าไม้มีจำนวนลดลง โดยเฉพาะการตัดไม้เพื่อการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อสร้างเฟอร์นิเจอร์ หรือการทำถ่านหินเพื่อขาย รวมถึงยังมีการขุดรากต้นไม้เพื่อจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งเมื่อมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าไป ก็ได้มีการเข้าไปช่วยเสริมความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชน และเจ้าหน้าที่ รวมถึงยังช่วยในด้านการประสานงานและเป็นตัวกลางเพื่อลดความขัดแย้ง ” เจ้าหน้าที่ภาคสนามพื้นที่นครสวรรค์ กล่าว

ตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปี ที่ธิดารัตน์ ได้รับผิดชอบประสานรอยต่ออันเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานรัฐ กับคนในท้องถิ่น ท้ายสุดจึงเกิดการประสานการทำงานด้วย ‘ใจ’ กันได้อย่างลงตัว ภายใต้แนวคิดสามก้อนเส้า 

การลงมือด้วยการร่วมแรงร่วมใจหากจะประสบความสำเร็จได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ได้มีโครงการเปิดศูนย์หน่วยป่าไม้แนวใหม่ ณ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่เปิน ตำบลแม่เปิน อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ อันมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มาร่วมงานได้รับรู้ถึงทิศทางและแนวทางการทำงานภายใต้กรอบความคิดแบบไตรภาคีอันทรงอนุภาพในการรักษาผืนป่า โดยช่วงสายได้มีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘หน่วยป่าไม้แนวใหม่กับการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนฯ แบบมีส่วนร่วม’ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมในเขตป่าสงวนฯ ระหว่างกรมป่าไม้กับหน่วยงานท้องถิ่น 

สำหรับการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในลักษณะข้างต้น ถือเป็นความสำเร็จจากการประสานงานขององคาพยพทั้งสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมป่าไม้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคนท้องถิ่น 

วงเสวนาในหัวข้อ ‘หน่วยป่าไม้แนวใหม่กับการจัดการที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนฯ แบบมีส่วนร่วม’

การทำงานบนพื้นฐานความร่วมมือของทั้งสามฝ่าย มีข้อเท็จจริงทางสถิติระบุถึงความสำเร็จในขั้นต้น จากจำนวนคดีการกระทำความผิดในท้องถิ่นที่ลดลง รวมถึงการมีพื้นที่สภาพป่าเพิ่มขึ้นถึง 1,742 ไร่ (จากการเปรียบเทียบสภาพพื้นที่ป่าจากดาวเทียม ปี 2557 กับ ปี 2561) ข้อมูลข้างต้นนี้ ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่การันตีความสำเร็จในการทำงานบนพื้นที่ป่าแม่วงก์ – แม่เปิน ภายใต้แนวคิดการสานแรงประสานใจแบบไตรภาคี  ‘สามก้อนเส้า’ อันรัดกุมรอบคอบตามกระบวนการที่เป็นแบบแผนและมีระบบ

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ ณัฐพล สุวรรณภักดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร