ห้วยขาแข้ง – พุเตย ลาดตระเวนร่วมดูแลป่าตะเพินคี่

ห้วยขาแข้ง – พุเตย ลาดตระเวนร่วมดูแลป่าตะเพินคี่

18 – 22 ก.พ. 2561 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนกิจกรรมการลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติพุเตย เพื่อป้องปรามการกระทำผิดและเก็บข้อมูลพื้นที่เพื่อใช้ในการวางแผนงานอนุรักษ์ในอนาคต

การลาดตระเวนร่วมระหว่างพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติพุเตยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาและขยายงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก

หากมองผืนป่าตะวันตกจากภาพรวมทั้งผืนป่า อุทยานแห่งชาติพุเตยนั้นอยู่ทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แม้จะเป็นอุทยานแห่งชาติขนาดเล็ก (มีเนื้อที่ประมาณ 198,422 ไร่ หรือ 317.48 ตารางกิโลเมตร) แต่ถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในผืนป่าตะวันตก

เราอาจรู้จักอุทยานแห่งชาติพุเตยจากสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่าง ‘ตะเพินคี่’ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งพื้นที่ตรงส่วนนี้ คือพิกัดที่มากด้วยความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของผืนป่าตะวันตก

จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญทางด้านท่องเที่ยว

‘ตะเพินคี่’ มีพื้นที่ติดกับผืนป่าทางตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นผืนป่าดงดิบสลับกับป่าเบญจพรรณ มีพืชตระกูลไผ่ขึ้นแซมให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำให้แก่ลำห้วยน้อยใหญ่หลายสาย เช่น ต้นน้ำลำตะเพิน ต้นน้ำห้วยป่าผาก ต้นน้ำไกลโว ต้นน้ำคลองกะเวน

นอกจากนี้ ยังพบสัตว์ป่าหายากหลายชนิดในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ การพบร่องรอยสัต์กีบอย่าง กระทิง เก้ง กวาง สามารถถ่ายภาพเลียงผา เสือไฟ ชมดลายหางปล้อง ได้จากการตั้งกล้องถ่ายภาพ (ในอดีตเคยพบร่องรอยของสมเสร็จที่ป่าแห่งนี้ด้วย)

ด้วยความสมบูรณ์ที่กล่าวมา จึงจำเป็นให้ความสำคัญตรวจตราเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภัยคุกคามด้านการเข้าไปล่าสัตว์และเก็บหาของป่า

ดังนั้น การลาดตระเวนร่วมระหว่าง 2 พื้นที่อนุรักษ์ที่มีอาณาเขตติดต่อกันอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและอุทยานแห่งชาติพุเตย จึงมุ่งพิกัดการลาดตระเวนไปที่โซนตะเพินคี่เป็นสำคัญ

สำหรับการลาดตระเวนครั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่พบการกระทำผิดใดใดในพื้นที่

การลาดตระเวนร่วมกันระหว่าง 2 พื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นมิติสำคัญของการทำงานลาดตระเวนเพื่อดูแลรักษาและป้องปรามการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่าและสัตว์ป่า ที่มองการรักษาในภาพรวมใหญ่ไม่แบ่งการทำงานแบบแยกส่วนพื้นที่อย่างในอดีต และเป็นการเพิ่มอัตรากำลังให้กับชุดลาดตระเวนมีความพร้อมและแน่นหนามากยิ่งขึ้น

และข้อสำคัญของการทำงานคือการนำข้อมูลที่ได้กลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการแชร์ความรู้ ความคิดเห็นระหว่างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาป่าร่วมกันในอนาคต ซึ่งหากโชคร้ายเกิดเหตุการณ์ที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ด้วยข้อมูลที่มีร่วมกันก็จะทำให้เกิดการประสานงานเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างพื้นที่อนุรักษ์ทั้ง 2 แห่งแล้ว ทั่วทั้งผืนป่าตะวันตกยังมกิจกรรมลาดตระเวนร่วมกันระหว่างพื้นที่อนุรักษ์อีกหลายแห่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมรวมทั้งหมด 25 เส้นทางลาดตระเวน ใน 17 พื้นที่อนุรักษ์

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


รายงาน เกษียร จันทร เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร