หากพูดถึงการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา คนทั่วไปอาจมองเห็นภาพการรณรงค์ที่คุ้นชินตา การขัดค้านโครงการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่กระทั่งการพูดผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังสร้างความตระหนักให้ผู้คนหันมาสนใจกับสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาบทบาทเหล่าที่มักเปรียบเสมือนเป็นหน้าที่ของ ‘นักอนุรักษ์’ ซึ่งเกิดจากความสนใจเฉพาะตัว แต่เวลาที่ผ่านพ้นไปตามหน้าปฏิทินที่ถูกเปลี่ยนเล่มแล้วเล่มเล่า ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมยังคงมีมาอยู่โดยตลอด ตามการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยี หรืออุปสงค์ของมนุษยชาติ
การจากไปของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ได้ทำให้สังคมไทยโฟกัสเรื่องราวทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านประเด็นป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี ที่ งานอนุรักษ์ได้ถูกจุดประกายขึ้น แต่กระนั้นอย่างที่ทราบกันดีว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดยามวสันตฤดูมาเยือน ดังนั้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้ร่วมพูดคุยกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ผู้มีหัวใจสีเขียว เพื่อร่วมกันตกตะกอนปัญหาที่เกิดขึ้น ผ่านบทสนทนาระหว่าง ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบฯ กับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ จากรายการเถื่อน travel ‘อมรพล หุวะนันท์’ สตาร์พอัปที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ ‘นันทิชา โอเจริญชัย’ นักขับเคลื่อนหัวใจสีเขียว ผ่านวงพูดคุย Talk with New gen ‘ให้มันเปลี่ยนที่รุ่นเรา’
ผู้เขียนได้เป็นหนึ่งในทีมงานบันทึกเทปดังกล่าว ซึ่งสามารถจับประเด็นที่สำคัญได้หลายใจความ โดยหัวใจหลักของวงพูดคุยในครั้งนี้คือ การได้แลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของคนหนุ่มสาวรุ่นกระทง กับตัวแทนนักอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานมาหลายสิบปี
ดังนั้นจึงขอเกริ่นถึงตัวตนแต่ละบุคคลก่อน เริ่มต้นด้วย พล – อมรพล หุวะนันท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ลูป จำกัด กับความน่าสนใจใน เรื่องการทำสตาร์ตอัปของเขาอันเป็นไปตามหลักการทำเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular economy) เพื่อนำทรัพยากรที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นต้นทุน เพื่อสร้างผลผลิตใหม่ ซึ่งมอร์ลูป (Moreloop) มองว่าสิ่งเหล่านี้คือ สินค้าที่เหลือค้างอยู่ในสต็อก (Dead Stock) นำมาต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งหลาย ๆ คนมักจะมองข้าม และกลายเป็นขยะในที่สุด โดยธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้เริ่มต้นจาก Pain point และ Passion โดยการนำผ้าเหลือจากโรงงานต่าง ๆ มาผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในรูปแบบต่าง ๆ
ลำดับถัดมาเป็นเรื่องราวของ หลิง – นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand ที่ได้ออกมารณรงค์เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อผลักดันให้สังคมเกิดความตระหนักและยับยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ชาติ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของภาครัฐ โดยปัจจุบันนันทิชากำลังค้นหาตัวเองโดยการลองทำสิ่งใหม่ ๆ ผ่านการใช้วิชาชีพนักนิเทศศาสตร์ของเธอ มาขับเคลื่อนการสื่อสารงานสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายคือ สิงห์ – วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่หน้ากล้องและแสงแฟลช ที่มักจะนำเสนอเรื่องราวของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำสื่อต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นผู้ดำเนินรายการเถื่อน travel รายการที่ผลิตขึ้นจากความชื่นชอบในการผจญภัย และการเรียนรู้วิถีชีวิต ในรูปแบบ Vlog การเดินทาง
มาถึงเรื่องใจความสำคัญของวงสนทนา บุคคลทั้งสี่ต่างแลกเปลี่ยนเรื่องราวของแต่ละคนในมุมมองทางสิ่งแวดล้อมที่เหมือนและต่างกัน สิ่งที่ได้เห็นคือ ความต่างกันเรื่องแนวคิดและวิธีการทำงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมของบุคคลในยุค Gen X กับคนรุ่นหลัง ในมุมของศศินสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่แสดงพลังสีเขียวผ่านการเดินรณรงค์ โดยยกตัวอย่างจากการเดินเท้าค้านเขื่อนแม่วงก์ 388 กิโลเมตร ปี 2556 ด้านวรรณสิงห์ก็มีมุมมองเพิ่มเติมเรื่องการขับเคลื่อนสังคม ที่เขามองต่างไป แต่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือการดูแลรักษาโลก
“ผมว่าเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movement) มันมีหลายขั้นตอนอย่างเช่น ถ้าเรานำเสนอด้วยการโวยวาย เรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นเรื่องประชาชนปะทะรัฐบาลไปโดยปริยาย แต่ในอีกแง่หนึ่งฐานของสังคมเรายังไม่แน่น เรายังไม่เข้าใจเรื่อง Climate change เพราะฉะนั้นการสื่อสารมันอาจจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาลงถนน” วรรณสิงห์ เสนอความเห็นเพิ่มเติม
สำหรับผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand อย่างนันทิชา มองว่า เมื่อวินาทีที่ลงถนนมันเป็นช่วงที่อารมณ์และความรู้สึกของเธอ ‘ร้อนเกินไป’ ตอนนี้จึงมองภาพการทำงานสิ่งแวดล้อมที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสนุกไปกับมัน เพื่อสร้างฐานผู้คนให้เพิ่มมากขึ้น แล้วค่อยออกไปรณรงค์ในวันที่ทุกคนพร้อมที่จะก้าวออกมาด้วยความเข้าใจ อย่างไรก็ตามนันทิชาไม่ปฏิเสธว่าเธอเป็น ‘คนโลกสวย’
“แล้วทำไมเราจะโลกสวยไม่ได้ เมื่อเรามองโลกว่ามันสวยงามมันก็ดีปะ ถึงแม้มันจะมีปัญหาอะไรตั้งเยอะแยะ แต่ถ้าเรามีมุมมองแบบนี้ เราก็จะสามารถลงมือทำ ให้เป้าหมายของเราที่อยากจะให้โลกมันสวยขึ้น สำเร็จไปได้ด้วยความตั้งใจของเรา” นันทิชา กล่าว
ด้านอมรพล ผู้ก่อตั้งมอร์ลูปพูดในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันเป็นรูปธรรม อมรพลเชื่อว่า เขามีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักให้กับผู้คนได้ ผ่านการที่ลูกค้าเริ่มเกิดจิตสำนึกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา อมรพลยกตัวอย่างของการมีเฟซบุ๊กที่ทำให้ผู้ใช้สื่อเกิดมุมมองทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการปฏิกิริยาที่เปลี่ยนไปของมนุษย์เมื่อสมาร์ตโฟนอย่างไอโฟนเกิดขึ้น ดังนั้นสินค้าของเขาอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างในทิศทางบวก ไม่น้อยไปกว่าการทำงานร้อน อย่างการออกมารณรงค์บนท้องถนน
อย่างไรก็ตามในเรื่องการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ในยุค ค.ศ. 2020 ก็เป็นอีกเรื่องราวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในวงสนทนา วรรณสิงห์ให้ความเห็นว่า โลกในทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวยังรู้สึกงงกับหลาย ๆ ปรากฏการณ์ที่ดูแปลกตาไปจากเมื่อก่อน อย่างในช่วงปี ค.ศ. 2019 เด็กอายุ 17 ปี อย่าง ‘เกรต้า ธันเบิร์ก’ ยังสามารถออกมาเผชิญความคิดด้านสิ่งแวดล้อมกับ ดอนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ไม่คิดว่าการตื่นตัวในลักษณะนี้จะขยายผลมายังประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความหวังที่ดีของสังคมไทย อย่างไรก็ตามวรรณสิงห์ได้เล่าถึงการทำงานของเขาในยุคปัจจุบันให้เราฟังด้วย
“ผมทำสื่อผมอยู่ในวงการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมา 10 กว่าปี ปัจจุบันผมแทบไม่ต้องพึ่งสปอนเซอร์เลยแม้แต่เจ้าเดียว ซึ่งผมสามารถทำคอนเทนต์เรื่องสิ่งแวดล้อมได้เต็มที่ โดยผู้ให้คุณค่าไม่ใช่แบรนด์แต่คือคนดู ดูเสร็จผมเปิดหมวกใครถูกใจก็โอนเข้ามา แล้วผมได้เงินมากกว่าตอนทำรายการในทีวีอีก” วรรณสิงห์เล่า
มาถึงช่วงนี้ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงเกิดคำถามว่า ไหน ๆ คนรุ่นใหม่ก็เข้ามามีบทบาทในการทำงานสิ่งแวดล้อมแล้ว คิดว่าองค์กรเก่า ๆ อย่างมูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังสำคัญอยู่ไหม นันทิชากล่าวว่า ยังอยากให้มูลนิธิสืบฯ ทำงานและปฏิบัติภารกิจต่อไป เปรียบเสมือนเป็นการส่งทอดงานอนุรักษ์ให้ไปสู่คนรุ่นใหม่ต่อไปเป็นรุ่น ๆ
ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของอมรพล ซึ่งเขากล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า “มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเอง มีภารกิจหลาย ๆ ที่เราต่างรู้ว่าเขาเป็นเบื้องหลัง ซึ่งเป็นหลาย ๆ สิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ เขาเหมือนเป็นตัวแทนของพวกเราในการลงมือทำ ซึ่งคิดว่าในบริบทที่เปลี่ยนไปของทุกวันนี้ เราอยากจะรู้จักมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมากกว่านี้ อาจจะเป็นสื่อที่เผยแพร่ออกไปมากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นผลงานที่มูลนิธิสืบฯ ทำในรูปแบบใหม่ อย่างเช่นการชวนคนรุ่นใหม่อย่างเรามาคุย เป็นต้น”
ท้ายที่สุดสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสจากการรับชมการพูดคุยในวันนี้คือ มุมมองของคนต่างวัยที่ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงานอนุรักษ์ ในบทบาทที่ตนเองถนัด แม้จะมีความคิดที่ไม่เหมือนกันบ้าง แต่ทุกคนก็มีจุดร่วมอันเป็นเป้าหมายเดียวกันคือ จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกใบนี้ยังคงสวยงามต่อไป
สามารถรับชมวงพูดคุย Talk with New gen ‘ให้มันเปลี่ยนที่รุ่นเรา’ งานรำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ฉบับเต็มได้ที่ยูทูปช่อง SEUB CHANNEL และติดตามคอนเทนต์ได้ที่ Facebook page มูลนิธิสืบนาคะเสถียร