หัวใจศิลปินของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ กับ 30 ปี แห่งการรับใช้งานอนุรักษ์ด้วยสุนทรียภาพ

หัวใจศิลปินของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ กับ 30 ปี แห่งการรับใช้งานอนุรักษ์ด้วยสุนทรียภาพ

หากพูดถึงความเฟื่องฟูของศิลปะร่วมสมัยในเมืองไทย หลายคนคงนึกถึงยุคที่ควันไฟการเมืองยังคุกรุ่นกับผู้คนเดือนตุลาในป่าเขา ที่คอยถ่ายทอดอุดมการณ์และปรัชญาผ่านงานศิลป์ วันเวลาผ่านไปงานสื่อสารอันเป็นสิ่งที่เกิดจากศิลปิน ถูกเพิ่มพื้นที่เพื่อพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ นอกเหนือไปจากเรื่องการเมืองและสังคม

นับตั้งแต่ ‘สืบ นาคะเสถียร’ จากไปสู่นิรภพอันถาวร หลังสิ้นเสียงปืนที่ห้วยขาแข้งในวันที่ 1 กันยายน 2533  งานอนุรักษ์และงานศิลป์ได้ถูกผนวกเข้าหากัน เพื่อสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้วายชนม์และงานอนุรักษ์ในประเทศไทย กลายเป็นแรงผลักดันให้วงการศิลปะกับงานอนุรักษ์ถูกผูกโยงเข้าหากัน เป็นที่มาของ ‘งานศิลป์เพื่อสิ่งแวดล้อม’ และหากมองย้อนกลับไปในสามทศวรรษที่ผ่านมา งานศิลปะหลายแขนงต่างรับใช้งานสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่ต่างกันออกไป 

ความเป็นศิลปินที่ซ่อนอยู่ในตัวของพี่สืบ 

หากมองกลับไปดูเรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ความเป็นศิลปินของบุคคลผู้นี้ แม้จะไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก แต่คนใกล้ชิดหลายคนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า สืบมีความชอบด้านงานศิลปะหลากหลายแขนง 

บทความ ‘สืบ นาคะเสถียร’ เป็นบทเรียนข้าราชการไทย โดยวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ได้บรรยายชีวิตในวัยเด็กของสืบว่า สืบในวัยเยาว์ชอบวาดรูป และเขาเคยวาดการ์ตูนเป็นเล่มให้เพื่อนนักเรียนได้อ่านกัน เล่าลือกันว่าฝีมือลายเส้นของเขาเฉียบขาดมาก นอกจากนี้สืบยังมีทักษะด้านการเล่นดนตรี จนได้เป็นนักทรัมเป็ดมือหนึ่งของวงดุริยางค์ประจำโรงเรียน และด้วยความที่สืบเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับความสามารถด้านงานศิลป์ บางทีเขาก็มักจะเอาไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายละแวกบ้านมาเหลาทำเป็นว่าว บางขณะก็เอาดินมาปั้นเป็นรถเก๋งอย่างสวยงาม

สืบ นาคะเสถียร (คนกลาง) นักทรัมเป็ดของวงดุริยางค์ โรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สืบ นาคะเสถียร มีความตั้งใจที่จะสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมตามประสาคนชอบวาดรูป แต่สุดท้ายเขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

“ตอนแรกผมไม่อยากเรียนวนศาสตร์ ผมไม่อยากเป็นป่าไม้ เพราะผมไม่ชอบป่าไม้ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกอันดับ 5 พอผมติด ผมบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่านะ อายุมันก็มากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้จะสอบสถาปัตย์ได้รึเปล่า ถ้าปีหน้าสอบไม่ได้อีกก็แย่ต้องเกาะแม่กินไปเรื่อย ๆ” สืบเล่าให้วันชัยฟัง 

ในช่วงปี 2518 สืบได้เข้ารับราชการที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว – เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี และความสามารถด้านศิลปะของสืบก็กลายเป็นที่ประจักษ์ เมื่อเขาได้ส่งบทกลอน ‘สัตว์ป่า’ เข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ 3 ที่จัดโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รางวัลในเวลาต่อมา 

“เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา

โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน”

กลอนบทนี้กลายเป็นบทพิสูจน์ความสามารถด้านการประพันธ์ของสืบ และกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกของเขาที่มีต่อสัตว์ป่าได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งต่อมาได้มีการต่อยอดนำมาใส่ทำนองโดยสายันต์ น้ำทิพย์ อดีตลูกน้องคนสนิทของสืบ ที่ปัจจุบันเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และได้มีการบันทึกเสียงในอัลบั้ม ‘ป่าตะโกน รวมศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก’ เมื่อปี 2541

ภาพสเก็ตรูปเลียงผา โดย สืบ นาคะเสถียร

เส้นทางศิลปะบนถนนงานอนุรักษ์

ถึงแม้ว่างานวิชาการจะเปรียบเสมือนข้อเท็จในทางวิทยาศาสตร์ และถูกใช้เพื่อพัฒนางานอนุรักษ์มาโดยตลอด แต่หากพูดผ่านมุมมองของคนทั่วไป งานวิจัยหรือรายงานต่าง ๆ ที่ถูกจัดทำออกมาในรูปแบบทางการอาจเข้าถึงยาก ดังนั้นศิลปะแขนงต่าง ๆ จึงถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อเป็นการเพิ่มระดับการสื่อสารสิ่งแวดล้อม ให้ทรงพลังและเข้าถึงผู้คนทั่วไปมากขึ้น

“หากงานอนุรักษ์ถูกเผยแพร่ผ่านงานวิชาการเพียงอย่างเดียว คนที่จะหันมาสนใจก็จะมีแต่กลุ่มนักวิชาการหรือผู้ศึกษาเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวและน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไปมาก แต่ถ้าสื่อสารออกมาผ่านงานศิลปะ เรื่องราวเหล่านี้ก็จะเข้าถึงทุกคน” จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยืนยันด้วยน้ำเสียงที่สดใส 

จิระนันท์ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เป็นเวลากว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ได้ทำงานอนุรักษ์ร่วมกับมูลนิธิสืบฯ โดยคอยเป็นส่วนสนับสนุนด้านการเผยแพร่เรื่องราวสิ่งแวดล้อมผ่านบทกวี สารคดี ภาพถ่าย รวมถึงรายการโทรทัศน์ เมื่อผู้เขียนถามถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการอนุรักษ์ จิระนันท์ให้คำตอบว่า ส่วนตัวเคยใช้ชีวิตในป่าเขามาก่อน จึงรู้สึกหลงรักธรรมชาติและสัตว์ป่า จนกลายเป็นอยากอนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป 

อดีต ‘สหายใบไม้’ เล่าย้อนกลับไปในสมัยช่วงที่ออกจากป่ามาใหม่ ๆ มักจะมีการรวมตัวเพื่อนฝูงที่เคยร่วมชีวิตในสงครามปฏิวัติที่เขตงานภูหินร่องกล้า โดยมักจะมีการนัดหมายกันตามพื้นที่ธรรมชาติในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี

“พบคุณสืบครั้งแรกที่ห้วยขาแข้งเนี่ยแหล่ะ แกพึ่งเข้ามาเป็นหัวหน้าใหม่ ๆ เราก็ไปสังสรรค์กับสหายที่เคยอยู่ภูร่องกล้ากันตามประสา พอตกดึกต่างคนต่างแยกย้ายเข้านอน คุณสืบแกก็มาปลุกให้ไปดูสไลต์งานเรื่องธรรมชาติและสัตว์ป่าในพื้นที่ ตอนนั้นเราก็รู้สึกประทับใจว่าดึกดื่นขนาดนี้แกยังตั้งใจทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

หากกล่าวถึงงานศิลป์ที่พูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ จิระนันท์มีผลงานออกมาอย่างมากมายในตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนขอหยิบยกเพลง ‘กอดแม่วงก์’ ขึ้นมาพูดคุยเนื่องจากงานชิ้นนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ ‘ต้านเขื่อน’ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์งานอนุรักษ์

จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เพลงดังกล่าว ถูกแต่งขึ้นขณะที่ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ในขณะนั้น) และผู้ร่วมอุดมการณ์อีกหลายชีวิต เดินเท้าคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในปี 2556 ซึ่งจิระนันท์เล่าว่า ใช้เวลาในการประพันธ์และอัดเสียงเพียง 3 วัน ภายใต้แนวคิด ‘กอดแม่’

“เราใช้ฝีมือในเชิงกวี มาผนวกกับทำนองที่บรรเลงโดยวงโฮป ถ้อยคำที่เราบรรจงสร้างมันก็เลยออกมาเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ส่วนแนวคิดในการแต่งเพลงก็มาจากความคิดง่าย ๆ ว่า พื้นที่ตรงนั้นมีชื่อว่า ‘แม่วงก์’ มันก็เหมือนเราได้กอดแม่” 

บทเพลงกอดแม่วงก์ เป็นอีกหนึ่งชิ้นงานของจิระนันท์ ที่ได้แสดงอนุภาพของงานศิลป์ผ่านสายตาผู้คนนับหมื่นชีวิต ที่ได้ร่วมอยู่หน้าบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในวันนั้น ซึ่งต่อเพลงดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศ ในหมวดรางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย ประเภทการประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล โดย สำนักงานวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

สืบศิลป์เพื่อสืบทอดเจตนา

ในบรรดานักอนุรักษ์ที่ผู้เขียนรู้จัก ศศิน เฉลิมลาภ ถือเป็นบุคคลที่ความเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภาพกระดาษที่ถูกละเลงด้วยสีน้ำเป็นรูปต่าง ๆ พร้อมฉากหลังที่เป็นแม่น้ำลพบุรีไหลผ่าน กลายเป็นภาพที่คุ้นชินตาของผู้ที่ติมตามเขาในโลกโซเชียลออนไลน์ ซึ่งเขาเชื่อว่า เหตุการณ์ทางสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งกระตุ้นให้ศิลปินเกิดความคิด จนถูกนำไปสร้างเป็นผลงานที่มักสะท้อนมุมมองของผู้รังสรรค์ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับงานอนุรักษ์มายาวนานกว่า 30 ปี 

“มูลนิธิสืบฯ ของเรานั้นถือว่ามีความผูกพันธ์กับศิลปินหลายคน อย่างกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก ที่มักจะให้การสนับสนุนงานต่าง ๆ อย่างเราจะค้านโครงการหรือจะทำให้คนเห็นคุณค่าอะไรบางอย่าง ก็จะมีศิลปินเหล่านี้มาช่วย กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการอนุรักษ์ไปโดยปริยาย”

ทั้งนี้ งานศิลปะไม่ได้เป็นงานที่สื่อสารแบบ ‘โต้ง ๆ’ เหมือนงานวิชาการ แต่ในขณะเดียวกันการสร้างงานศิลปะแต่ละชิ้น จะต้องเกิดจากข้อเท็จจริงที่ผนวกรวมกับสุนทรียภาพและความลึกซึ้งทางอารมณ์ ซึ่งแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นหลังการจากไปของสืบ นาคะเสถียร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อศิลปิน ศศินมองปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของวงการศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม

แต่เดิมการถ่ายทอดเรื่องราวของธรรมชาติและสัตว์ป่า จะมาในลักษณะการบันทึกและบรรยายว่าสิ่งแวดล้อมมีความสวยงามอย่างไร แต่เมื่อสืบได้ทำอัตตวินิบาตกรรมลงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 การถ่ายทอดเรื่องราวในยุคหลังจึงมุ่งเน้งในเรื่อง การสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้รับสาร ส่งผลให้เกิดแรงที่จะอยากร่วมพิทักษ์รักษาธรรมชาติ 

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ทั้งนี้ ประธานมูลนิธิสืบฯ คนปัจจุบันยังคงเดินไปบนเส้นทางงานอนุรักษ์ โดยมีการสื่อสารผ่านงานศิลปะเป็นครั้งคราว ซึ่งในปี 2563 นี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 30 ปี การจากไปของสืบ นาคะเสถียร 

ศศินได้อุทิศงานศิลป์ของเขา เพื่อพูดถึงเรื่องราวการเดินทางสามทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านคอลัมน์ 30 ปี มูลนิธิสืบฯ โดยนักอนุรักษ์ผู้รักในการวาดภาพสีน้ำได้ทิ้งท้ายว่า สุดท้ายธรรมชาติคือสิ่งที่จะทำให้เกิดงานศิลปะ เพราะงานศิลปะมาจากความลงตัวของธรรมชาติ 

“เราจะเห็นได้ว่า ต้นไม้ทุกต้น แม่น้ำทุกสาย ภูเขาทุกลูก ล้วนสวยงามและเหมาะสมตามธรรมชาติของมัน ดังนั้นหากศิลปินไม่ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ช่วยกันดูแลธรรมชาติ ก็คงไม่อาจสร้างงานศิลป์ได้ เพราะศิลปะคือความลงตัวของธรรมชาติ” ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวทิ้งท้าย

 


บทความ ภูริช วรรธโนรมณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร