จากเวทีเสวนา “มาตรการแก้ปัญหาหรือเสียป่าอีกครั้ง” ที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เราได้ฟังแง่มุมแนวทางแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท จาก ในประเด็น บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็นต่อร่างกรอบมาตรการตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ ข้อคิดเห็นต่อร่างกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) โดย เดโช ไชยทัพ และประทีป มีคติธรรม กันไปแล้ว ในส่วนของภาคที่ 2 นี้ จะว่าด้วยเรื่องตัวอย่างการแก้ไขปัญหาที่ดินที่ดำเนินการไปแล้ว โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการส่วนจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบพื้นที่อยู่ 72.97 ล้านไร่ มีการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหลักการ 3 ส่วน ได้แก่
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการ โดยการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการจัดการทั้งหมด โดยทุกพื้นที่ต้องดำเนินการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และมีการเก็บข้อมูล การบินตรวจสภาพป่าด้วยอากาศยาน การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อการตรวจติดตามประเมินผล และการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม เป็นยุทธวิธีแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ ราษฎรในพื้นที่ ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในชุมชน หรือพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างปกติสุข โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน การหนุนเสริมวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการสนับสนุนคณะกรรมการที่ปรึกษา (PAC) อีกทั้งยังมีการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย
การศึกษาวิจัยและการติดตามประเมินผลโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องจัดตั้งองค์กรหรือกลไกในการตรวจติดตามและประเมินผลโครงการโดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม
สิ่งที่สามารถตรวจสอบได้จะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ เชิงปริมาณ และ เชิงคุณภาพ
เชิงปริมาณ คือ พื้นที่อนุรักษ์ไม่ถูกบุกรุก การลักลอบตัดไม้และการล่าสัตว์ต้องไม่เกิดขึ้น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้องไม่ถูกบุกรุกทำลาย คงไว้ซึ่งจำนวนประชากรสัตว์ป่าและจำนวนประชากรสัตว์ป่าต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย
เชิงคุณภาพ คือ พื้นที่ป่าที่เสื่อมสภาพได้รับการฟื้นฟูให้เป็นป่าสมบูรณ์ และเกิดการยอมรับและมีส่วนร่วมในกำรบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากทุกภาคส่วน คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน
สำหรับในส่วนของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเสนอบทเรียนที่ผ่านมาและการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอดีต ผ่านโครงการการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือ โครงการจอมป่า
ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสบนาคะเสถียร กล่าวว่า ทางด้านมูลนิธิฯ มีประสบการณ์ตรงในเรื่องของการแก้ไขปัญหาของชุมชนในพื้นที่เขตอนุรักษ์ โดยปัจจุบันมูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับกับกรมอุทยานฯ เป็นหลักมาตลอด แต่ในอนาคตข้างหน้าก็หวังที่จะงานร่วมกับคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ โดยใช้โมเดล ‘จอมป่า’ เป็นต้นแบบ
ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากนโยบายที่ไม่สามารถสอดรับหรือสอดคล้องกับปัญหาจริงที่เกิดในพื้นที่ได้และเมื่อลงไปในพื้นที่จริงก็มักเกิดข้อบกพร่องและปัญหาหลายๆจุดที่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดวิธีการทำงานในรูปแบบเดิมๆซึ่งนี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เราเสียพื้นที่ป่าไปหลายๆแห่งเพราะเมื่อรัฐเข้าไปจัดการก็มักจะเกิดความขัดแย้งหรือเกิดการคอรัปชั่นที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนและผู้ที่เข้าไปจัดการในพื้นที่นั้น
ในการที่จะแก้ไขปัญหา มูลนิธิสืบฯ มองไว้ใน 3 เรื่องที่ควรปรับควรแก้เรื่องแรก คือ โครงสร้างของคนทำงานหรือหน่วยงานต่างๆที่เข้าไปในพื้นที่เพราะถ้าหากยังไม่เปลี่ยนมุมมองวิธีการการทำงานทัศนคติรวมทั้งแผนงานและงบประมาณ
เรื่องที่สอง คือ การบูรณาการที่จะเป็นตัวหนุนเสริมให้ชุมชนอยู่ในพื้นที่นั้นได้อย่างยั่งยืนมีวิถีชีวิต หรือมีอาชีพที่มั่นคง มีกลไกทางการตลาด หรือกลไกที่จะเข้าไปพัฒนาชีวิตของคนในชุมชนให้สอดคล้องกับพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งผมก็มองว่ามันยังแก้ไขไม่ครบกระบวนการ
และในเรื่องสุดท้ายคือการร่วมมือระหว่างหน่วยงานซึ่งพื้นที่ป่าในหลายๆแห่งต่างมีหน่วยงานที่ดูแลแตกต่างกันออกไปซึ่งการที่จะบูรณาการหน่วยงานอื่นให้เข้ามาดูแลส่งเสริมสาธารณูปโภคดูแลคุณภาพชีวิตอาจจะติดขัดในข้อกฎหมายที่ครอบคลุมอยู่ในตรงนั้นดังนั้นมันจึงทำได้ยาก
หากสรุปง่ายๆ ในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ (1) การทำงานของหน่วยงานไม่เหมาะสมกับพื้นที่ (2) การเข้าไม่ถึงของเทคโนโลยีในด้านของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เมื่อก่อนยังไม่ถูกนำมาใช้ จึงทำให้มีปัญหาในการดูเขตของพื้นที่ป่า (3) การใช้กฎหมายในลักษณะที่ไม่ถูกไม่ควร เช่น การใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ในแก่ตนเอง (4) การไม่ใช้มิติด้านอื่นๆ ในการทำงาน เช่น การที่ไม่ใช้ข้อมูลจากคนในชุมมาเพื่อทำแผนงาน และ (5) ตั้งแต่อดีตณจนปัจจุบันแผนงานต่างๆก็ยังไม่ขยับไหนมีเพียงแต่นโยบายต่างๆที่ออกมาซึ่งยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม
ดังนั้น จึงมองว่าการปรับแก้พรบ.ฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา จะเป็นผลดีกว่าหากใช้คู่กันกับมติของคทช. เพราะถ้าหากไม่มีการปรับแก้ ปัญหาต่างๆ ก็ยังจะคงอยู่ การทำงานต่างๆ ก็คงจะเหมือนเดิมกับที่ผ่านมา