มองภาพการดูแลป่าสงวนแห่งชาติ ผ่าน 3 ปี โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

มองภาพการดูแลป่าสงวนแห่งชาติ ผ่าน 3 ปี โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

อีกหนึ่งภารกิจงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ดำเนินควบคู่กับงานพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก คือ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก

เพราะเป้าหมายใหญ่ของมูลนิธิสืบฯ ใช่เพียงให้ความสำคัญกับผืนป่าอนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผืนป่าสงวนแห่งชาติที่มีอาณาเขตอยู่รอบผืนป่าอนุรักษ์ด้วยเช่น และการจะรักษาผืนป่าให้สมบูรณ์ให้คงไว้ จะดูแลเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ จำเป็นต้องมองในภาพที่กว้างออกมา เพราะไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนแห่งชาติ ต่างก็คือระบบนิเวศที่เชื่อมร้อยถึงกันทั้งหมด และจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและเชื่อมร้อยการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาป่าใหญ่ให้ยังคงสมบูรณ์

สำหรับโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบฯ เริ่มดำเนินการโครงกรมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ปัจจุบันกำลังจะผ่านปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการ

ชวนมาติดตามเรื่องราวการทำงานบนผืนป่าสงวนแห่งชาติ งานที่ทำ ปัญหาที่พบ การแก้ไข และเป้าหมายที่กำลังเดินทางต่อ โดย คุณตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรอบผืนป่าตะวันตก

 

ตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโ๕รงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

 

ภารกิจเริ่มต้นของงานพัฒนาการบริหารจัดการงานพื้นที่ป่าสงวน คือ การจัดทำฐานข้อมูลออกมาในรูปแบบแผนที่ ตอนนี้แล้วเสร็จไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้เราทำฐานข้อมูลเสร็จแล้ว ประกอบด้วยข้อมูลพื้นที่ป่าคงสภาพทำให้ทราบว่ามีเนื้อที่เท่าไหร่ ความจริงแล้วเป็นฐานข้อมูลของกรมป่าไม้ เพียงแต่เราเอามาจัดทำให้เป็นลักษณะของการทำแผนที่ให้เห็นรายลพเอียดต่างๆ ในพื้นที่ที่เขาดูแลอยู่

 

ในเรื่องนโยบาย วันนี้มูลนิธิสืบฯ พยายามผลักดันงานดูแลป่าสงวนเรื่องใดบ้าง

ตอนนี้เราพยายามผลักดันให้มีแผนการจัดการป่าสงวน เช่น หนึ่งหน่วยป้องกันต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ว่าดูแลจากตรงไหนไปจนถึงตรงไหน หนึ่งหน่วยป้องกันต้องดูแลพื้นที่กี่อำเภอ กี่ตำบล และหนึ่งหน่วยป้องกันนั้นในขอบเขตของเขามีพื้นที่ป่าคงสภาพอยู่ตรงไหนอย่างไรบ้าง มีสภาพป่าสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ ป่ามีหย่อมเล็กหย่อมน้อยอย่างไร แผนของเราคือต้องการจะให้มีการจัดการ เช่น ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศ มีขนาดใหญ่ใหญ่ ไม่มีชุมชนเกี่ยวข้อง แล้วก็เป็นผืนป่าที่ไม่ติดกับเขตป่าอนุรักษ์ เราก็เสนออยากให้เขาผนวกเป็นผืนป่าอนุรักษ์ เรื่องที่สอง คือ พื้นที่ไหนที่มีชุมชนไปใช้ประโยชน์และมีชุมชนเกี่ยวข้อง เราจะผลักดันให้เป็นป่าชุมชน เรื่องที่สาม ส่วนพื้นที่ที่มันจะต้องไปพูดถึงการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจป่าเศรษฐกิจ และเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการควบคุมขอบเขต โดยมีใช้งานลาดตระเวน เราอยากให้เขามีระบบในเรื่องของการลาดตระเวน เช่น การจัดเก็บข้อมูลแบบวิทยาศาสตร์ แล้วมีการวิเคราะห์ข้อมูล ที่สำคัญต้องมีการลาดตระเวนสม่ำเสมอ

 

 

ปัญหาที่ได้ยินมาเสมอในการดูแลป่าสงวน คือขาดทั้งกำลังคน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ตรงนี้มูลนิธิสืบฯ ได้ช่วยเสริมอะไรไปบ้าง หรือช่วยดันในทางนโยบายเรื่องนี้อย่างไร

แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกด้านหน่วยป้องกัน ที่ผ่านมามูลนิธิสืบฯ สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับทำงานภาคสนาม เช่น กล้องถ่ายรูป กับ GPS สนับสนุนงบประมาณในการเดินลาดตระเวน เดือนละ 1,500 บาท/ต่อหน่วย จำนวน 15 หน่วยทั่วผืนป่าตะวันตก มีการจัดฝึกอบรมในการใช้โปรแกรม GIS, การใช้ GPS, และการบันทึกข้อมูลการลาดตระเวน อีกส่วน คือด้านนโยบาย จากการประชุมหารือเรื่องแนวทางการดูแลป่าสงวนแห่งชาติร่วมกับกรมป่าไม้ ทางกรมมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบาย แต่มันยังไม่ชัดเจน เพราะว่าในแนวทางปฏิบัติยังทำไมได้ เนื่องจากบุคลากรน้อย ส่วนสำคัญที่เราอยากจะผลักดันกันจริงๆ คือ ให้แต่ละหน่วยมีแผนการจัดการของตัวเองแล้วให้กรมป่าไม้ได้มองภาพรวมป่าสงวนแห่งชาติให้ออก เราอยากให้เขารู้ว่าเขาควรทำอะไรในขอบเขตที่เขาดูแลอยู่ อีกเรื่องคือ พันธบัตรป่าไม้ จากการหารือในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมามีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ยาก เพราะติดปัญหาเดิม คือ เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้น้อย แต่อาจจะไปส่งเสริมเรื่องป่าเศรษฐกิจแทน ซึ่งก็ต้องทำงานกันต่อไป

 

แล้วปัญหาด้านอื่นๆ ตอนนี้ยังมีอะไรอีกบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข

เป็นเรื่องความพร้อมของบุคลากร ทั้งบทบาทหน้าที่ ซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว เช่นบางหน่วยมีเพียง 10 คน และแต่ละคนต้องทำงานถึง 3 หน้าที่ เรื่องความรู้ความชำนาญ เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ไม่ได้จบวนศาสตร์โดยตรง เช่น คนอยู่หน่วยป้องกันเป็นเพียงลูกจ้าง TOR ส่วนพนักงานราชการส่วนใหญ่จบระดับมัธยมศึกษา ซึ่งไม่ใช่คนที่เรียนมาโดยเฉพาะตรงนี้จะต่างกับกรมอุทยานแห่งชาติที่ผู้บริหารจะเรียนจบวนศาสตร์มาโดยตรง เรื่องงบประมาณที่มันไม่เอื้อต่อการทำงาน ส่วนเรื่องแผนงานระดับพื้นที่ มันเหมือนกับเขาทำงานตามหน้าที่ หน้าที่ของหน่วยป้องกันคือป้องกัน เขาก็ออกไปดูแลตามหน้าที่กันเพียงครั้งเดียว โดยไม่ได้แบ่งหน้าที่ไปทำอย่างอื่น อีกเรื่องคือปัญหาการยุบหน่วย คือยุบจริง แต่ยังมีลูกน้องประจำหน่วยอยู่โดยไม่มีหัวหน้าหน่วย ซึ่งพอจะลาดตระเวนก็ให้ไปรวมกับหน่วยอื่น และบางจุดที่ควรมีหน่วยป้องกันมันก็ไม่มี สิ่งเหล่านี้เรายังงงๆกับการแก้ปัญหาของเขาอยู่

 

ป่าสงวนแห่งชาติในวันนี้หลายพื้นที่ไม่มีป่าแล้ว แล้วจะดูแลรักษากันแบบไหน

ปัจจุบันป่าสงวนมีหลายลักษณะ ยกตัวอย่างเช่น ป่าสงวนที่ถูกล้อมด้วยอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เช่น บ้านคลิตี้ล่าง-บน ซึ่งมันมีทั้งที่ทำกินและก็มีพื้นที่ป่า แล้วที่มันไม่มีป่าจริงๆ มันก็ต้องอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ต่อให้มันเป็นที่ทำกินหรือเป็นอะไรก็ตาม หรือแม้แต่พื้นที่โฉนด นส.3 กรมป่าไม้ก็ต้องมีหน้าที่ไปดูแลเรื่องการป้องกันการกระทำผิดป่าไม้ เช่น ถ้าจะตัดไม้ในที่ของตัวเองโดยไม่ขออนุญาตอย่างนี้ถือว่าผิด พ.ร.บ. ป่าไม้ มันก็เลยกลายเป็นว่าสรรพกำลังของหน่วยป้องกัน 1 หน่วย มันมีทั้งงานป้องกัน คือ ดูแลเรื่องพื้นที่ทั้งหมด ป้องกันไม่ให้คนตัดไม้ตามหัวไร่ปลายนา แบบนี้เราคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่สำคัญที่สุด เขาควรจะมาดูแลป่าผืนใหญ่ที่มันเป็นสภาพป่าอยู่ แต่เขาก็เอาหน้าที่เขาส่วนหนึ่งไปดูแลพื้นที่แบบนั้น แล้ววันนี้เราเห็นส่วนที่มันเป็นสภาพป่าคงที่เขาก็มีงานลาดตระเวนบ้าง ส่วนงานที่จะต้องไปดูแลป้องกันจริงๆ มันอาจไม่ทำเป็นแผนงานหรืองานประจำ ทำให้วันนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้สับสนต่อหน้าที่

 

 

แล้วในพื้นที่ป่าสงวนที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนแล้วนี่บริหารจัดการกันอย่างไร ชุมชนดูแลเอง หรือเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ต้องเข้ามาช่วยดูแลด้วยไหม

ป่าชุมชนเป็นการใช้ช่องของกฎหมายป่าสงวนใน พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 19 คือ มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่จัดทำ แต่ว่ามันเป็นเพียงโครงการมากกว่า ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้เรื่องขอขึ้นทะเบียน จากนั้นชุมชนจะเป็นแกนหลักในการจัดการ แต่จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเป็นที่ปรึกษา ภาพรวมในการบริหารจัดการคือ จัดการโดยชุมชน เช่น มีการดูแลรักษามีการใช้ประโยชน์ร่วมกันมีการกำหนดกฎกติกา เป็นลักษณะของการทำงานอย่างมีส่วนร่วมที่เห็นชัดเจน ตัวของชาวบ้านได้ประโยชน์ชัดเจนได้สิทธิเต็มตัว

 

รูปธรรมของการสนับสนุนงานลาดตระเวนในพื้นที่ป่าสงวนเป็นอย่างไร

รูปธรรมในเชิงพื้นที่คือ พื้นที่ไม่ลดน้อยลงป่าไม่ถูกบุกรุก แล้วเรื่องข้อมูลที่เราไปสนับสนุนให้เขาเก็บข้อมูลทำให้ได้ข้อมูลวิทยาศาสตร์สามารถนำมาตรวจสอบติดตามวิเคราะห์แก้ไขได้

 

มีโอกาสไหมที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ดูแลพื้นที่ป่าสงวนจะยกระดับการดูแลเป็นงานลาตระเวนเชิงคุณภาพแบบพื้นที่อนุรักษ์ และต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนถึงจะก้าวไปถึงจุดนั้น

ตอนนี้มีพื้นที่นำร่องอยู่ ชื่อหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ อยู่อำเภอแม่เปิน อันนี้ก็จะเป็นหน่วยป้องกันที่ทำงานเรื่องการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ส่วนพื้นที่ทั้งหมดอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะสภาพพื้นที่ไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากเป็นป่าหย่อมเล็กย่อมน้อยกระโดดไปมา และที่สำคัญเรามองที่ตัวบุคลากรและเครื่องมือ เช่นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ลาดตระเวนอย่างคอมพิวเตอร์ GPS ยานพาหนะ หรืองบประมาณ ยังไม่พร้อม และก็ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นด้วยว่าเหมาะกับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือเปล่า ปัจจุบันมีหลายพื้นที่ที่เราตั้งใจจะทำงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพแต่ว่าก็ต้องดูความพร้อมซึ่งอาจต้องใช้เวลา ตอนนี้ที่ทำอยู่ทุกวันก็เป็นการลาดตระเวนกึ่งๆ งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีการบันทึกว่าพบเจออะไร แต่ว่าเราไม่ได้เน้นเรื่องของการจัดเก็บระบบนิเวศสัตว์ป่าอะไรแบบนั้น

 

 

วันนี้การดูแลรักษาป่าของกรมป่าไม้ได้เปลี่ยนรูปแบบจาก กลุ่มป่าสงวน มาเป็นหน่วยป้องกันรักษาป่า แล้วคิดว่าการทำงานของกรมป่าไม้ต่อจากนี้จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นไหม

ดีขึ้น เพราะว่าค่อนข้างชัดเจนทำให้เขารู้อำนาจหน้าที่ไปถึงไหน ต้องดูแลขอบเขตอย่างไร สำหรับแนวโน้มของหน่วยป้องกันในฐานะมูลนิธิสืบฯ คิดว่าเราต้องจัดทำข้อมูลดีๆ แล้วส่งเสนอกรมป่าไม้ทำให้เขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างพื้นที่ป่าสงวนที่มีการบริหารจัดการที่ดี ในป่าตะวันตกมีพื้นที่ไหนเป็นตัวอย่างต้นแบบไหม พื้นที่นั้นบริหารจัดการกันอย่างไร

หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ อำเภอแม่เปิน อันนี้ใช้วิธีการบริหารจัดการคือมีแผนงานลาดตระเวน ใช้ระบบงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และก็ทำงานลาดตระเวนอย่างมีส่วนร่วม ร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนทุกหมู่บ้านทุกเดือน มีการประชุมสรุปรายงานการลาดตระเวนทุกเดือน โดยเอาผลจากการที่ไปลาดตระเวนมาดูด้วยกัน มีการบันทึกรายละเอียดเช่น ไปเจอระบบนิเวศสำคัญ ไปเจอร่องรอยสัตว์ป่า ไปเจอคนใช้ประโยชน์ จะบันทึกข้อมูลมาหมด ทำให้สามารถวิเคราะห์พื้นที่ได้หมด จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปประชุมร่วมกับผู้นำหมู่บ้านทุกๆ เดือน เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและเป็นภาพที่เราเห็นชัดว่าสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง แก้ปัญหาการบุกรุกต่างๆ ได้โดยใช้กติการ่วมกัน

 

วางเป้าหมายการทำงานในช่วงปีที่เหลือของโครงการไว้อย่างไรบ้าง

ถ้าเราสามารถนำเสนอแผนการจัดการโดยภาพรวมที่เราวิเคราะห์การจัดการในเชิงหน่วยป้องกัน ว่าการจัดการของหน่วยควรจะทำอะไรอย่างไร ก็เสนอเป็นแผนใหญ่คือแผนการจัดการป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่ป่าตะวันตกที่เราดูแลอยู่ เรายังคาดหวังเรื่องการลาดตระเวนอย่างมีระบบ มีระบบการตรวจสอบ มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ อันนี้เป็นความหวังที่เราอยากให้เขามี แล้วก็อยากจะเห็นหน่วยป้องกันสามารถทำงานกับชุมชนได้ ส่งเสริมกันทุกๆ ด้าน สุดท้าย คือ พื้นที่ป่าสงวนที่เราดูแลอยู่ต้องไม่ลดน้อยลง หรือถ้าเราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ เช่น ป่าเศรษฐกิจ เราก็อยากทำแบบนั้น

 

คิดว่าจากการทำงานของมูลนิธิสืบฯ จะมีโอกาสรักษาผืนป่าสงวนที่เหลืออยู่ไว้ได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าโดยมูลนิธิสืบฯ เราพยายามที่จะให้เขารักษาป่าไว้ให้ได้อย่างเต็มที่ เราพยายามเสนอแผนการจัดการที่ไปจัดการทั้งป่าใหญ่ป่าเล็กในพื้นที่ป่าสงวน กระทั่งว่าส่งเสริมพื้นที่ให้ปลูกกาแฟ หรืออื่นๆ แต่ว่าในพื้นที่ป่าสงวนมันยังทำไม่ได้เท่าไหร่ แต่ไปทำในป่าอนุรักษ์มากกว่า คราวนี้เราก็คาดหวังว่าพวกโครงการแบบนี้ในอนาคต เราต้องเอามาเป็นเครื่องมือในการที่จะรักษาพื้นที่ป่าที่มันเหลืออยู่รวมถึงสร้างป่าใหม่เพิ่มขึ้น คิดว่าถ้าเรายังทำงานกับกรมป่าไม้ก็มีความเชื่อมั่นว่า 80 เปอร์เซ็นต์เราสามารถรักษาพื้นที่ป่าคงสภาพไว้ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่มูลนิธิสืบฯ ไม่ได้ทำงานกับกรมป่าไม้ หรือกระทั่งมีองค์กรอื่นมาทำ อันนี้เราไม่กล้ารับประกัน เหตุที่พูดอย่างนี้เพราะจากการทำงานกับกรมป่าไม้ เรารู้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร

 


เรื่อง อาคม พรรณนิกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร