การผลักดันแนวคิดเรื่อง “พันธบัตรป่าไม้” กำลังเป็นทางออกที่สร้างความหวังในการแก้ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าที่เกิดจากการบุกรุกเพื่อเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นกลไกที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังมีป่าเศรษฐกิจไว้ใช้อย่างยั่งยืน
จากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย (พ.ศ. 2559 – 2560) จัดทำโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยลดปริมาณลงมาอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา กระทั่งปัจจุบัน (2559) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียง 31.58 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเท่ากับ 102.17 ล้านไร่
ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มจำนวนประชากรนำไปสู่ความต้องการที่ดินในการใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ การปลูกยางพารา ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภายใต้ความดูแลของกรมป่าไม้
ขณะที่นโยบายป่าไม้แห่งชาติที่มีการกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ด้านพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้ได้ครบตามเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ที่ต้องมีมาตรการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อีกร้อยละ 8 หรือ 26 ล้านไร่ จึงจะครบตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งต้องมีงบประมาณและการดูแลอย่างต่อเนื่อง
“กรมป่าไม้ต้องยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ดูแลและควบคุม และผลัดเปลี่ยนการปลูกและดูแลป่าให้เป็นหน้าที่ของเอกชนและชุมชนที่จะเป็นขุมพลังในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น” ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้ อธิบายถึงสิ่งที่กรมป่าไม้จำเป็นจะต้องปรับรูปแบบการทำงานให้ต่างไปจากเดิม
กลไกพันธบัตร เป็นกลไกการคลังรูปแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยทุนจาก 3 ด้าน (1) ทุนที่ดิน คือผลักดันให้กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าไปปลูกป่าเศรษฐกิจในพื้นที่กรมป่าไม้ (2) ทุนด้านแรงงาน โดยการปลูกป่าเศรษฐกิจต้องใช้กำลังคนในการปลูก และ (3) ทุนด้านงบประมาณ ที่ระดมทุนด้วยการออกพันธบัตร และความต้องการไม้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทุนที่ได้จะนำไปสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจต่อไป
เปรียบได้กับการสร้างทางด่วนสายใหม่ เมื่อเปิดให้บริการคนขึ้นทางด่วนโดยผู้ใช้บริการต้องจ่ายเงินค่าทางด่วน เงินที่ได้เหล่านี้จะนำไปสู่การจ่ายค่าตอบแทนผู้ถือพันธบัตร ฉะนั้นโครงการทางด่วนในอนาคตที่ทำภายใต้กรอบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยจะไม่ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดิน จึงเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณภาครัฐโดยการระดมทุนโดยตรงจากประชาชนและนำเงินที่ได้มาพัฒนาประเทศ
“พันธบัตรป่าไม้สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้เช่นกัน ด้วยการจัดตั้งกองทุนออกพันธบัตรให้ประชาชนซื้อ สามารถออมเงินเหมือนการฝากธนาคารได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้ถือพันธบัตรจะได้รับผลตอบแต่ประมาณร้อยละ 5 ลักษณะคล้ายการซื้อพันธบัตรจากธนาคารต่างๆ และเงินที่ได้จะนำไปสู่แหล่งทุนในการปลูกป่าเศรษฐกิจ”
อนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้ มองว่าในประเทศไทยมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่มีศักยภาพที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทุนได้ เพราะบริษัทเหล่านั้นต่างต้องการใช้ประโยชน์จากไม้เพื่อแปรรูปเป็นสินค้า เป็นพลังงาน หรือมีโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้อยู่แล้ว
“เราไม่อยากให้มองในเชิงว่าเราเอาป่าของรัฐไปเซ็งลี้ให้เอกชน แต่เราอยากให้มองว่าเราให้เอกชนมาแข่งขันกันเพื่อเสนอผลตอบแทนกลับสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด นอกจากผู้ประกอบการรายใหญ่แล้วชุมชนเองสามารถเข้ามาปลูกป่าได้ อาจจะเข้ามาในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ยากด้วยติดขัดด้านกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อบริบทปัจจุบัน ทำให้การทำป่าเศรษฐกิจทั้งการปลูก การตัด การขนย้ายที่เป็นไปอย่างยากลำบาก รวมไปถึงการส่งออกที่ไม่สามารถดำเนินการได้ และยังติดไม้หวงห้ามอีกหลายชนิด ทำให้แนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ดร.อดิศร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า
“สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เราพยายามจะแก้ไข”
อนึ่ง ปัจจุบันได้เกิดความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจโดยนำเอาแนวคิดเรื่อง “พันธบัตรป่าไม้” โดยได้มีการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการศึกษา วิเคราะห์ รูปแบบกลไกทางการเงินสนับสนุนการปลูกป่า (พันธบัตรป่าไม้) ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายฝ่ายและภาคส่วนทั้งฝั่งรัฐและเอกชน ในส่วนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ คือ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้