ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นกในกลุ่มแร้งในอนุทวีปอินเดีย มีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 95 จากสภาพปัญหาการได้รับสารพิษจากยายาไดโคลฟีแนค (diclofenac) ปนเปื้อนในซากวัว ทำให้องค์กรด้านการอนุรักษ์ต่างให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์นกในกลุ่มแร้ง เพราะแร้งได้ชื่อว่าเป็นเทศบาลที่คอยกำจัดของเสียหรือกองควบคุมโรคแห่งผืนป่า ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญในระบบนิเวศ แร้งเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่ก็ว่าได้
สำหรับประเทศไทยในอดีตเคยพบแร้ง 5 ชนิดเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิดและเป็นแร้งประจำถิ่น 3 ชนิดประเทศไทยแต่สถานะปัจจุบันของแร้งประจำถิ่นทั้ง 3 ชนิดอาจเรียกได้เต็มปากว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะยังคงมีพญาแร้งอยู่ในกรงเลี้ยงทั้งหมด 5 ตัว และแร้งเทาหลังขาว 2 ตัว ที่ยังพอเป็นพ่อแม่พันธุ์กำเนิดลูกแร้งรุ่นต่อ ๆ ไป
พญาแร้งหัวสีแดง น่าเกรงขาม
มาถึงแร้งที่เราอยากให้ทุกท่านได้ทำความรู้จัก นั่นก็คือ พญาแร้ง แร้งหัวสีแดงที่ดูทีท่าน่าเกรงขาม เรื่องราวของพญาแร้งเคยถูกบันทึกผ่านงานเขียนสารคดีของ พงศกร ปัตตพงษ์ เรื่อง ‘แร้งไทยในวิกฤต’ ในขณะที่ผู้เขียนเป็นผู้ช่วยวิจัยภาคสนาม โครงการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ราวปี 2535 ซึ่งในช่วงนั้น พงศกรได้มีโอกาสเก็บรวบรวมข้อมูลและบันทึกพฤติกรรมผ่านภาพถ่าย โดยมี ‘แร้งหัวแดง’ (Red – Headed Vulture) หรือพญาแร้งเป็นพระเอกของเรื่อง มีฉากเป็นผืนป่าห้วยขาแข้ง
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พงศกรได้พูดถึงเหตุการณ์ในวันนั้น เขาพบซากเก้งถูกตัดแบ่งครึ่ง ทางหัวหนึ่งชิ้น ทางหางอีกหนึ่งชิ้น ถูกเจาะด้วยมีดเป็นรูพรุนแต่ละรูนั้นถูกบรรจุด้วย ‘ฟูราดาน’ อันมีลักษณะคล้ายด่างทับทิม แต่อันตรายกว่าประมาณ 1 ล้านเท่า พรานคงคาดหวังหนังเสือที่ไร้รอยกระสุนปืน ในเหตุการณ์ครั้งนั้นป่าห้วยขาแข้งต้องสูญเสียพญาแร้ง อันเป็นสมาชิกตัวสำคัญของระบบนิเวศ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถือเป็นการปิดฉากตำนานนกเทศบาลประจำป่าห้วยขาแข้ง
ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ตอนนี้มีความพยายามจาก 4 องค์กร ที่จะทำให้พญาแร้งได้กลับไปบินบนท้องฟ้าเหนือป่าห้วยขาแข้งดังเดิม ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งหวังว่าจะสามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ออกลูกสืบหลานเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปอีกนานแสนนาน
ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมา ผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5