การทำงานรักษาป่าใหญ่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก ส่วนงานสมุนไพรอินทรีย์รักษาป่า กำหนดแผนงานไว้ว่า จะจัดประชุมกลุ่มสมุนไพรแต่ละกลุ่มเดือนละ 1 ครั้ง สลับหมุนเวียนกันไปครบทุกกลุ่มตามวันเวลาที่เหมาะสม
การประชุมมีขึ้นเพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงาน เช็คยอดผลผลิต สอบถามปัญหา และวางแนวทางแก้ไข เพื่อให้กลุ่มสมุนไพรอินทรีย์สามารถผลิตวัตถุดิบได้ตามปริมาณที่ต้องการ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่วางกติกาไว้ว่าต้องเป็นมิตรกับผืนป่า
เมื่อวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายงานพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จัดเวทีประชุมกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์แนวป่ากันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กลุ่มบ้านแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ และกลุ่มบ้านลานสัก อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเรียบง่าย ใครมีปัญหาอะไรก็เอามาเปิดใจให้เพื่อนในกลุ่มได้ฟัง และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในรูปแบบกระบวนการกลุ่ม เรียนรู้ปรับปรุงไปด้วยกัน ใครเก่งมีความชำนาญก็แนะนำให้หน้าใหม่ที่อ่อนประสบการณ์ ส่วนปัญหาไหนยาก มูลนิธิฯ จะเป็นคนช่วยวางแนวทางและจัดการปัญหา ตบแต่งกันให้เข้าที่เข้าทาง
“ผลสรุปยอดผลผลิตปี 61 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตามแผนต้องได้ขมิ้น 10-12 ตันสด แต่ทางกลุ่มผลิตได้ 4.3 ตันสด ปัญหาคือรายใหญ่ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 6 ตันสดส่งยอดได้ไม่ครบ เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ปล่อยให้หญ้าปกคลุม ทำให้การเจริญเติบโตไม่ทันต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตครับ” จักรา ป้องกัน เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อธิบายสรุปเนื้อหาการประชุมของกลุ่มบ้านแก่นมะกรูด
“แต่ถือว่าเป็นปีแรกของเกษตรกรรายนี้ ต่อจากนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ มากขึ้นว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ครับ”
“ส่วนบางคนก็พึ่งจะเข้ามาร่วมโครงการเป็นปีแรก เลยปลูกไว้เพื่อขยายพันธุ์ไม่ได้เก็บเกี่ยวเพื่อส่งขาย”
“ปัญหาทั่วไปที่ส่งผลกับแผนการผลิตเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ คือ โรคขอบใบแห้งหัวฟ่อ เสียหายครึ่งต่อครึ่งในเกษตรกรบางราย”
แม้จะมีปัญหามากมาย แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีที่วันนี้กลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ที่แก่นมะกรูดมีผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
เป็นสัญญาณที่ดีของการอยู่อย่างเป็นมิตรกับผืนป่ารอบพื้นที่มรดกโลก
เช่นเดียวกับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มลานสักที่ปีนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเช่นกัน เป็นไปตามเป้าหมายหนึ่งที่มูลนิธิสืบฯ ได้วางไว้ว่าต้องการขยายสมาชิกกลุ่มให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ประชิดป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนป้องกันการขยายพื้นที่เพื่อทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวรุกพื้นที่ป่า
“เหตุผลที่อยากมาขยายกลุ่มตรงนี้เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่แนวประชิดกับกับขอบป่าห้วยขาแข้ง ถ้าขมิ้นมันตอบโจทย์การใช้พื้นที่น้อย แต่ผลตอบแทนเยอะก็จะทำให้การมีปัญหาเรื่องการใช้พื้นที่ลดลง”
นอกจากนี้ เป้าหมายสูงสุด “อยากให้มีศูนย์แปรรูปในพื้นที่และสมาชิกสามารถจัดการได้ ทั้งเรื่อง การหั่น การตาก การทำบรรจุภัณฑ์และการขนส่ง เพื่อให้รายได้ในส่วนส่วนต่างๆ หมุนเวียนอยู่ในชุมชนอย่างยั่งยืน” นายจักรา กล่าวปิดท้าย
ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพลิเคชั่น True Money Wallet