กลุ่มผ้าทอจอมป่า ภายใต้โครงการวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่ อ. อุ้มผาง จ.ตาก โดยเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ชุมชนสร้างรายได้จากอาชีพเดิม และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ประกอบกับการนำองค์ความรู้ทางภูมิปัญญามาประยุกต์ นำไปสู่การสร้างรายได้ และลดการพึ่งพิงป่าขึ้นมากขึ้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานร่วมกับชุมชนในผืนป่าตะวันตก โดยการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน วันนี้โครงการเติบโตขึ้น สร้างความเข้มแข็งและรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มทอผ้าได้เป็นอย่างดี
ในปี 2560 เป็นต้นมามูลนิธิฯวางแผนขยายกลุ่มเครือข่ายประสานการทำงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าในพื้นที่อื่นๆทั่วผืน ป่าตะวันตก
โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มทอผ้าทาง จ.อุทัยธานี และหมู่บ้านจะแก ในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี
ล่าสุดทางทีม ผ้าทอจอมป่า ได้เข้าไปสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติ ให้กับกลุ่มทอผ้าหมู่บ้านกองม่องทะ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านโผล่ว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก
ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมเรียนรู้ด้วย กระบวนการครั้งนี้นำโดย พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ หรือพี่พัช เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้าไปเป็นวิทยากรให้ความรู้
สมาชิกกลุ่มทอผ้าจากหมู่บ้านกองม่องทะ โดยพื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โผล่ว มีพื้นฐานด้านการทอผ้าแบบกี่เอวอยู่แล้ว มีพื้นฐานด้านการทอผ้าแบบกี่เอว สามารถทอผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ในแถบนี้ หากแต่ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องการย้อมด้ายด้วยสีธรรมชาติ และการเย็บเก็บงาน ซึ่งนี่เองคือสาเหตุที่ทีมผ้าทอจอมป่า ต้องเดินทางมาที่นี้ เพื่อช่วยต่อยอดในสิ่งที่ชุมชนมี และเติมเต็มในสิ่งที่ยังขาด
ก่อนเข้าสู่กระบวนการย้อมด้าย สมาชิกกลุ่มผ้าทอกองม่องทะ นำตัวอย่างผ้าทอของตนเองมาให้พวกเราดู ซึ่งจากการสังเกตเบื้องต้น เนื้อผ้าที่ทอออกมาต่างจากผ้าของกลุ่มอุ้มผาง นั่นเพราะเส้นด้ายที่กลุ่มฯกองม่องทะใช้เป็นฝ้ายธรรมชาติ 100% ผ่านกระบวนการปลูก เก็บ และปั่นด้ายเอง ซึ่งหายากมากในปัจจุบัน
ในส่วนของลวดลายการทอนั้นประณีตสวยงาม แต่สีที่ได้จากการย้อมด้ายนั้นดูจะแปล่งๆไปสักหน่อย และการเย็บเก็บชิ้นงานก็ยังไม่ละเอียดมากนัก เมื่อต้องเย็บเป็นเสื้อผ้า หรือย่าม
เมื่อได้ดูผลงานที่ผ่านมาของสมาชิกแต่ละคนไปบ้างแล้ว ระหว่างเตรียมเปลือกไม้ และเตรียมล้างทำความสะอาดด้าย
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าฯกองม่องทะ ก็เอ่ยขึ้นว่า
“มีวิธีที่ทำให้สีไม่ตกไหม พวกเราย้อมทีไรสีตกทุกที ที่จะไม่ให้สีตกนี่อยากรู้นัก”
เมื่อได้ยินอย่างนั้น พี่พัช จึงบอกให้สมาชิกฯคนหนึ่งไปหาใบตองมาเผาไฟ พร้อมให้ข้อมูลว่า
“ปกติทางอุ้มผาง เวลาย้อมด้ายจะใช้ขี้เถ้าจากการเผาใบตองต้มลงไปกับเปลือกไม้ ซึ่งขี้เถ้านี้จะมีส่วนผสมของยางกล้วย จะทำให้สีติดด้ายดีขึ้น ลดการตกของสีหลังจากการซัก แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าสีจะไม่ตกเลย เพราะการย้อมด้วยสีจากธรรมชาตินั้นสีจะต้องตกบ้างอยู่แล้วเป็นธรรมดา”
ได้ยินอย่างนี้สมาชิกกลุ่มก็ยังสงสัย ถามย้ำอยู่หลายหนเกี่ยวกับขี้เถ้าจากใบตอง
ถึงอย่างไร 10 ปากว่า ก็ไม่เท่ากับการได้ลงมือทำ ได้พิสูจน์ด้วยตนเอง จริงไหม….
เมื่อแบ่งกลุ่มเรียบร้อยแล้ว สมาชิกกลุ่มหนึ่งซักทำความสะอาดด้าย โดยนำด้ายไปต้ม แล้วซักทำความสะอาดด้วยผงซักฟอง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด (ต้องซักประมาณ 2-3 ครั้ง) เพื่อให้ไขมันที่ติดอยู่กับเส้นด้ายออกให้หมด เวลาย้อมกับสีที่เตรียมไว้ สีจะได้ติดได้ดี
ส่วนอีกกลุ่มก็เตรียมต้มเปลือกไม้ โดยในครั้งนี้เราสาธิตด้วยการใช้ดอกคำแสด เปลือกมะม่วง และเปลือกขนุน มาต้มเพื่อให้สีที่ต่างกันสำหรับย้อมด้าย
ในขั้นแรก เราใส่เปลือกไม้ลงในหม้อต้ม หลังจากนั้นต้มจนเดือด เมื่อเดือดแล้วใส่ขี้เถ้าจากใบตองลงในหม้อ รอจนเดือดอีกครั้ง แล้วจับเวลาต่อไปอีก 1 ชั่วโมง
เมื่อได้ที่แล้ว จึงนำด้ายที่ล้างทำความสะอาดแล้วจุ่มลงไปในหม้อสี ทิ้งไว้สักพัก หลังจากนั้นยกขึ้นมาแขวนให้หายร้อน บิดน้ำออก แล้วจึงนำไปล้างกับน้ำเปล่า จนกว่าน้ำสีจะออกหมด จึงนำขึ้นแขวนในที่ร่มผึ่งลมไว้ เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจึงนำไปทอ
ในระหว่างการสาธิต กลุ่มทอผ้าฯกองม่องทะ ให้ความสนใจเป็นอย่างดี ผลัดกันซักถาม ผลัดกันช่วยจำในแต่ละขั้นตอน จนถึงกระบวนการสุดท้าย พี่พัช ได้เตรียมสไลด์ขั้นตอนทั้งหมดที่เราได้ทดลองทำกันมาให้กับกลุ่มทอผ้าดูอีกครั้ง เป็นการทบทวนความจำ พร้อมเสริมทางด้านเทคนิกต่างๆให้กับทางกลุ่มฯได้ลองนำกลับไปทดลองทำกันเอง
ก่อนจากลากันไป ทางกลุ่มฯได้เอ่ยปากขอให้พี่พัช มาช่วยสวนวิธีการนำผ้าทอไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อจำหน่ายต่อไปในอนาคต
ซึ่งหลังจากนี้ไปเราจะนำเรื่องราวและพัฒนาการ ของกลุ่มทอผ้าจากหมู่บ้านกองม่องทะมาเล่าให้ฟังกันต่อไป