บทบาทหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้กับภารกิจใหม่ของกรมป่าไม้ยุค 4.0

บทบาทหัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้กับภารกิจใหม่ของกรมป่าไม้ยุค 4.0

“กรมป่าไม้” หากเป็นชาวบ้านในท้องที่ จะรู้จักกันในนามของหน่วยงานของกรมป่าไม้ในพื้นที่ คือ หน่วยป้องกันรักษาป่า หรือป่าไม้จังหวัด แต่ด้วยลักษณะอัตรากำลังของหน่วยป้องกันรักษาป่าแต่เดิม มีโครงสร้างของจำนวนบุคลากรที่ค่อนข้างจำกัด มีจำนวนบุคลากรประจำหน่วยฯ 6 คนโดยประมาณ ข้าราชการ 1 พนักงานราชการ หรือลูกจ้างประจำไม่เกิน 2-3 คน ที่เหลือก็เป็นพนักงานจ้างเหมา (TOR) ด้วยภาระหน้าที่ที่มีอยู่รอบด้าน ในการที่จะรักษาพื้นที่ป่า ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพื้นที่ที่หน่วยรับผิดชอบนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพราะหน่วยหนึ่งดูแลครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 3 อำเภอ

กรมป่าไม้จึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานและบทบาทใหม่จากหน่วยป้องกันรักษาป่าเดิม เป็นหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ โดยไม่ได้เพียงมุ่งเน้นแต่การรักษาพื้นที่ป่าเพียงอย่างเดียว ยังมีงานการมีส่วนร่วม งานชุมชน งานส่งเสริม งานป้องกัน เพื่อให้เป็นหน่วยป่าไม้แบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้การมีส่วนรวมของชุมชนในพื้นที่เป็นกลไกในการเพิ่มพื้นที่ป่า และป้องกันรักษาป่าไปได้ด้วยอีกทางหนึ่ง และยังนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า เพื่อให้สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยี Thailand 4.0 ตามแผนของรัฐบาล

หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ มีโครงสร้างในการบริหาร และมีภารกิจในแต่ละฝ่าย ดังนี้
1. ฝ่ายบริหารทั่วไป ทำหน้าที่จัดทำรายงานการปฏิบัติงาน งบประมาณ แผนการทำงาน จัดทำฐานข้อมูลป่าไม้ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
2. ฝ่ายป้องกันและจัดการป่าไม้ ทำหน้าที่จัดการพื้นที่ป่าไม้ ป้องกันและปราบปราม จัดการที่ดินป่าไม้ และงานอนุญาตต่าง ๆ
3. ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาป่าไม้ ทำหน้าที่ ส่งเสริมป่าชุมชน ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า และไม้เศรษฐกิจ

 

ฝ่ายป้องกันและจัดการป่าไม้ มีภารกิจหลักคือการจำลองเอาสำนักที่ดิน งานอนุญาต งานป้องกันของกรมป่าไม้ มาปฏิบัติในรูปแบบของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เพื่อทำงานในพื้นที่  โดยมีรายละเอียดงานตามภารกิจหลัก 3 งานหลัก ได้แก่

  1. การจัดการที่ดินป่าไม้ตามมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) คือการปฏิบัติในการแก้ไขเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกินของราษฎร์ โดยการแบ่งคนออกเป็น 3 ประเภท ในลุ่มน้ำ 1, 2, 3, 4, 5 ซึ่งทำกินก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 กลุ่มที่ทำกินก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ถึงคำสั่ง คสช. 64, 66/2557 และกลุ่มหลังคำสั่ง คสช. 64, 66/2557 โดยเร่งสำรวจการทำกินในพื้นที่ป่าสงวนฯ และจัดการพื้นที่ ในพื้นที่เป้าหมาย และนำโครงการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ และโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เข้าไปใช้ในการฟื้นฟูการทำไร่เลื่อนลอย
  2. งานป้องกัน และรักษาพื้นที่ป่า เป็นงานป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสมบูรณ์ป่า AO 4 ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม เพื่อรักษาพื้นที่ป่าไว้ โดยการลาดตระเวน และได้นำเอาแอพพลิเคชั่นพิทักษ์ไพรในการให้ประชาชนช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาป่าได้อีกทาง สามารถแจ้งเบาะแสการกระทำผิดด้านการป่าไม้ทางแอพพลิเคชั่นนี้
  3. งานอนุญาต ทำงานในด้านงานอนุญาตด้านป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้คำปรึกษาชาวบ้านเรื่องของการตัดไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ งานขออนุญาตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลื่อยโซ่ยนตร์ หรือการให้คำปรึกษาเรื่องข้อกฎหมายที่อาจจะซุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้านการป่าไม้

 

ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาป่าไม้ ทำหน้าที่โดยย่อส่วนสำนักส่งเริมป่าเศรษฐกิจ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักจัดการป่าชุมชน และสำนักส่งเสริมการปลูกป่า ของกรมป่าไม้ มาไว้ในหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ โดยมีภารกิจดังนี้

  1. ส่งเสริมป่าชุมชน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน ติดตามการหมดอายุของป่าชุมชน และส่งเสริมกระบวนการป่าชุมชนให้คณะกรรมการมีความเข้มแข็ง มีกฎกติกา สามารถรักษาพื้นที่ป่าของชุมชนไว้ได้ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งป่าชุมชน คือประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าของชุมชนไว้ได้
  2. งานส่งเสริมป่าเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกไม้มีค่าป่าเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าได้อีกทางหนึ่ง และกรมป่าไม้ยังมีแอพพลิเคชั่น e-Tree เพื่อใช้ในการลงทะเบียนไม้เศรษฐกิจในการปลูกป่า เพื่อเป็นการยืนยันไม้ที่เราปลูก มีการติดตาม ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลาตัดก็สามารถตัดได้ โดยไม่มีปัญหา

 

Forest4Thai แอปพลิเคชันแจ้งเบาะแสการกระทำผิดด้านป่าไม้

เพื่อให้การทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ปฏิรูปการทำงานของกรมป่าไม้จากเดิมที่ทำงานป้องกันเป็นหลัก และไม่สามารถตอบโจทย์ในระดับนโยบายได้ เพื่อให้การทำงานเดินไปพร้อมกับนโยบายได้ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของราษฎรกับป่าไม้ที่มีมาอย่างยาวนาน กรมป่าไม้จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ บทบาทของหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้มากขึ้น โดยในการทำงานอย่างมีส่วนร่วม การทำงานชุมชนเพื่อให้ประชาชนห่วงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรของตน และมุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40

 

 


บทความ ธนากร ไชยยศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร