พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า ยิ่งขนาดของป่ามีความใหญ่ยิ่งเพิ่มโอกาสต่อการดำรงชีวิตแก่สิ่งมีชีวิตได้มากกว่าพื้นที่ป่าที่มีขนาดเล็กและหย่อมป่า การมีรอยต่อหรือเขตแนวป่าเชื่อมติดระหว่างระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ เป็นการนำไปสู่ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในผืนป่าทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ซึ่งกรณีนี้รวมไปถึงแนวเชื่อมผืนป่าระหว่างประเทศด้วย
แต่ในปัจจุบันมีการลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ป่า และปัญหาบุกรุกพื้นที่ ถึงจะมีการฟื้นฟูป่าบ้างแต่ป่ายังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบนิเวศป่าไม้คงขาดสมดุลและอีกไม่นานผืนป่าจะไม่มีให้เห็นในประเทศไทย เป็นเหตุให้ต้องมีอาชีพนักรบแห่งพงไพร ผู้คุ้มครองพืชพรรณและสัตว์ป่า หรือ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ นั้นเอง
เมื่อพูดถึงอาชีพผู้พิทักษ์ป่าหลายคนอาจคิดถึงผู้ที่ทำงานลาดตระเวนป่าไม้และสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งแท้จริงแล้วผู้พิทักษ์ป่านั้นรวมไปถึงหัวหน้าอุทยาน พนักงานพิทักษ์ป่า พนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาป่าด้วยเช่นกัน
นายกานต์ เพิ่มพานิช เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและเครือข่าย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้อธิบายเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าว่า เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าได้กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อปกป้องทรัพยากรตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ
งานของผู้พิทักษ์ป่าไม่ใช่แค่การป้องกันหรือปราบปราม แต่ยังมีหลายภารกิจที่พิทักษ์ป่าต้องปฏิบัติ เช่น งานด้านวิชาการ การประชาสัมพันธ์ งานชุมชน งานลาดตระเวน เป็นต้น แต่ละงานล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เพื่อเป้าหมาย ของชีวิตทุกชีวิตในป่าและนอกป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่า
ความเสี่ยงแต่ละครั้งในการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าอยู่ที่การลาดตระเวน ซึ่งการทำงานลาดตระเวนของผู้พิทักษ์ผืนป่าตะวันตกหนึ่งทีมจะมีประมาณ 7 คน แต่ละคนจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป โดยมีอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับชุดลาดตระเวน คือ อาวุธปืน, แผนที่และเข็มทิศ, เครื่อง GPS, แบบฟอร์มบันทึกข้อมูล, กล้องถ่ายภาพ, ไม้บรรทัด และตลับเมตร ทั้งนี้เป็นการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งจะใช้เวลาอยู่ในป่า 5-7 วัน และในเดือนหนึ่งเดือนจะทำงาน 20 -25 วัน เพื่อเก็บข้อมูลนำไปวิเคราะห์ ประเมินผลการปฏิบัติงานและและวางแผนการเดินในครั้งต่อไป
ซึ่งภาระหน้าที่ของผู้พิทักษ์ป่านอกจากการลาดตะเวนเข้าไปในป่าลึกที่ใช้เวลาร่วมเดือน หรือนานกว่า 3 เดือนเพื่อแกะรอยตามกระบวนการลอบลักตัดป่าไม้ส่งออกนอกประเทศแล้วพวกเขาเหล่านี้ยังช่วยปกป้องสัตว์ป่าให้พ้นเงื้อมมือของกลุ่มบุคคลลักลอบค้าเนื้อและอวัยวะสัตว์ป่าด้วยอีกทั้งต้องผ่านช่วงชีวิตที่เสี่ยงต่อการปะทะและถูกกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล
ในบางครั้งเสร็จจากการปฏิบัติหน้าที่แม้จะมีโอกาสกลับบ้านเพื่อไปหาครอบครัว แต่บางคนกลับบ้านมาด้วยแผลถลอกไปจนถึงการเสียชีวิต เพราะทุกครั้งของการปฏิบัติงานย่อมมีความเสี่ยงเสมอ หากแต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคนยังคงทำงานด้วยความมุ่งมั่น เสียสละ ด้วยความภาคภูมิใจ เพื่อพิทักษ์ทรัพยากรของเราคนไทยทุกคนเอาไว้