คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด (ตอนที่ 2)

คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด (ตอนที่ 2)

ถึงตรงนี้ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นแล้วว่าประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่านั้นเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมนับเป็นอุปสรรคหนักหน่วงยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

เมื่อเป็นเช่นแล้ว หากเราต้องการเข้าใจความจริงให้ครบถ้วนทุกมิติ ก็คงไม่สามารถมองภารกิจอนุรักษ์ธรรมชาติแบบแยกส่วนได้ หากควรต้องพิจารณาปัญหานี้ในบริบทของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม พูดอีกแบบหนึ่งก็คือว่าผู้ที่รักธรรมชาติควรต้องเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้ที่รักความเป็นธรรม และนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่เอาจริง หรือไม่หลอกตัวเอง ควรต้องมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม

ยกตัวอย่างเช่น เราควรต้องสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน การกระจายรายได้ ตลอดจนการสร้างความเป็นธรรมในด้านอื่นๆ เพื่อให้ผู้เสียเปรียบมีทางเลือกมากกว่าเดิม

ตามหลักพุทธธรรมเรื่องอิทัปปัจจยตา… ปรากฏการณ์ทั้งหลายล้วนเกิดจากการชุมนุมของนานาปัจจัย… เพราะฉะนั้นการมุ่งพิทักษ์ป่าโดยไม่แก้ปัญหาสังคมควบคู่กันไป ก็เท่ากับละเลยต้นตอของปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญ

ต่อไป ผมขออนุญาตพูดถึงสาเหตุการทำลายธรรมชาติจากอีกมุมหนึ่ง ซึ่งซ่อนลึกอยู่ในสภาวะจิตของผู้คน

ก่อนหน้านี้ผมได้เอ่ยไว้แล้วครั้งหนึ่งว่า กระบวนการทำลายธรรมชาตินั้นจะเกิดได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ามุมมองที่มนุษย์มีต่อชีวิตของตนไม่โน้มเอียงไปในทางวัตถุนิยมสุดขั้ว และไม่เข้าใจชีวิตผิดๆ ว่าเป็นเพียงการดำรงอยู่แบบตัวกูของกู และคิดแต่จะอาศัยสิ่งภายนอกมาสร้างตัวตนหรือสนองความพอใจของอัตตา

ผมตระหนักดีว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่จะไม่พูดถึงเสียเลยก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นต้นตอบ่อเกิดของการทำลายล้างธรรมชาติที่ซ่อนเร้น แต่มีพลังมากที่สุด ตลอดจนเป็นปัญหาที่แก้ยากเสียยิ่งกว่าปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม

การที่ในทางความคิด มนุษย์ได้แยกตัวเองออกจากธรรมชาติ และปฏิบัติต่อธรรมชาติโดยปราศจากความเคารพยำเกรงนั้น เป็นผลพวงมาจากการเข้าใจผิดว่ามนุษย์แต่ละผู้แต่ละนามมีตัวตนดำรงอยู่อย่างแท้จริง จากนั้นก็ยึดติด หวงแหน และปรุงแต่งสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นตัวเอง

สภาวะจิตดังกล่าวได้ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับความจริงขึ้นหลายอย่าง ที่สำคัญคือการใช้วัตถุสิ่งของนับไม่ถ้วนมาปรุงแต่งชีวิตให้รู้สึกดีไปตามจินตนาการของตน นอกจากนี้ก็ยังติดหลงอยู่กับการถือครองกรรมสิทธิ์ในสิ่งภายนอกเหล่านั้น ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งลืมไปว่าทุกคนล้วนแล้วแต่อยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว

แน่นอน สภาวะจิตเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อทรัพยากร ธรรมชาติ และระบบนิเวศของโลกอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะการผลิตและการบริโภคที่ล้นเกินเพื่อประกอบการปรุงแต่งอัตตา ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยต้นทุนจากธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ที่ดิน แร่ธาตุ ท้องทะเล แหล่งน้ำจืด หรือป่าดงพงไพร

พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ของกินของใช้ที่เราบริโภคอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่ไม่ได้มีต้นทางมาจากธรรมชาติ แม้แต่สิ่งที่ดูเหมือนมาจากโรงงาน อย่างน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์ ของใช้พลาสติก ตู้เหล็กเก็บเอกสาร ถ้วยกาแฟ เครื่องสำอาง หรือกระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ ต่างก็มีต้นทางมาจากวัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น

ปัญหามีอยู่ว่าการผลิตและการบริโภคที่ล้นเกินดังกล่าว ไม่เพียงทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไปเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และทำลายระบบนิเวศของโลกด้วย

ทุกวันนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ในระดับสากลต่างมีข้อสรุปแล้วว่าภาวะโลกร้อนที่กำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ค่อนข้างแน่นอน และเราก็สามารถสรุปเองได้ไม่ยากว่าการกระทำดังกล่าวถูกเร่งเร้าขึ้นเป็นทวีคูณด้วยลัทธิบริโภคนิยม จากนั้นยังสรุปต่อไปได้ด้วยว่าลัทธิบริโภคนิยมเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำทั้งในระดับโลกและภายในประเทศของเราเอง

ดังจะเห็นได้จากสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ตามมาด้วยยุโรปตะวันตก รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในโลกที่สามที่มีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหรือผลิตเพื่อส่งออกค่อนข้างมาก

สำหรับประเทศไทยเอง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่คงเน้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม และเป็นไปตามวิถีการเคลื่อนไหวใช้ชีวิตแบบสมัยใหม่ซึ่งต้องเผาพลังงานกันอยู่ตลอดเวลา

กล่าวสำหรับผลของภาวะโลกร้อนจะเป็นเช่นใดนั้น ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะติดตามเรื่องนี้กันพอสมควรอยู่แล้ว และผมเองก็ไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าท่าน เพราะฉะนั้นคงจะไม่พูดมากในประเด็นนี้ ผมเพียงแต่อยากย้ำว่าความรุนแรงอันเกิดจากการโต้กลับของธรรมชาตินั้น อาจถึงขั้นที่มนุษย์ไม่สามารถรับมือได้

ที่ผ่านมาเราได้เห็นความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศมาหลายครั้งแล้ว ได้เห็นพายุเฮอริเคนที่กระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนส์ในสหรัฐอเมริกา ได้เห็นสภาพน้ำท่วมใหญ่และดินถล่มในอินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซียและประเทศจีน เห็นความแห้งแล้งที่นำไปสู่สภาพไฟไหม้ป่าในแทบทุกมุมโลก ตลอดจนเห็นคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตคนในทั้งยุโรปและเอเชีย

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นแค่คำเตือน ถ้าหากภาวะโลกร้อนมีระดับร้ายแรงขึ้นถึงจุดที่เหนือการควบคุม การเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของโลก ซึ่งรวมทั้งการละลายของบรรดาธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลก จะก่อให้เกิดภัยพิบัติมากกว่านี้หลายเท่า

จากรายงานของ IPPC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ในอนาคตน้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นระหว่าง 7 – 23 นิ้ว เมื่อน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง 4 นิ้ว ก็จะเข้าท่วมเกาะและพื้นที่จำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโลกมีประชากรนับร้อยล้านคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในระดับความสูงไม่เกินหนึ่งฟุตเหนือระดับน้ำทะล คนเหล่านี้จะต้องย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าพื้นที่ทะเลทรายจะขยายกว้างมากขึ้น น้ำทะเลจะเป็นกรด การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรอาจเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลให้เกิดยุคน้ำแข็งย่อยๆ ในยุโรป พายุรุนแรง ภาวะแห้งแล้ง คลื่นความร้อน ไฟป่าและภัยธรรมชาติต่างๆ จะเกิดขึ้นบ่อยมากจนกลายเป็นสภาพปกติทั่วไป สุดท้ายสัตว์นับล้านสปีชีส์จะสูญพันธุ์จากการที่ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง

กล่าวสำหรับความเป็นไปได้ของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจจะสูงขึ้นถึง 90 เซนติเมตรในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าถิ่นที่อยู่ทั้งของคน สัตว์ และพืชจะหายไปเป็นพื้นที่มหาศาล ชายหาดจากเพชรบุรีถึงสงขลาอาจจะหายไป ป่าชายเลนจะมีปริมาณพรรณไม้ลดลง น้ำเค็มจะรุกเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 กิโลเมตร และความเสียหายร้ายแรงจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานคร

แต่จะว่าไป ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพย่อของอนาคตเท่านั้นเอง ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนที่คาดการณ์ไว้โดยวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยยังมีรายละเอียดอีกมาก และมีเรื่องเลวร้ายมากกว่านี้

คำถามมีอยู่ว่าแล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ในเมื่อรู้ชัดอยู่แล้วว่าโลกร้อนเพราะน้ำมือมนุษย์ โลกร้อนเพราะการผลิตการค้าเพื่อกำไรสูงสุด โลกร้อนเพราะการบริโภคที่ล้นเกิน

ตามความเห็นของผม คำตอบที่ดูเหมือนจะเป็นแบบกำปั้นทุบดิน แต่ตรงคำถามที่สุดคือ เราคงต้องรีบเปลี่ยนทิศทางการใช้ชีวิต ซึ่งมีนัยยะถึงขั้นการเปลี่ยนจิตสำนึกครั้งใหญ่ มีนัยยะถึงขั้นเปลี่ยนแบบแผนอารยธรรม

พูดกันสั้นๆ ง่ายๆ คือเราต้องรีบถอนอุปาทานของลัทธิบริโภคนิยมให้ทันเวลา

แน่ละ ในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ลัทธิบริโภคนิยมไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในประเทศที่มั่งคั่งเท่านั้น หากยังลุกลามราวกับไฟบัลลัยกัลป์อยู่ในประเทศโลกที่สามอย่างประเทศไทยด้วย มันคือกระบวนการที่จะดึงเงินออกจากมือของประชากรส่วนน้อยที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ซึ่งประกอบด้วยคนแค่หยิบมือเดียวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สภาพดังกล่าวเริ่มต้นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ จากนั้นภายในเวลาไม่นาน ค่านิยมเรื่องการใช้ชีวิตอย่างสมถะสำรวม หรือกินอยู่ประหยัดมัธยัสถ์ นุ่งเจียมห่มเจียมก็ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง และบริโภคนิยมได้กลายเป็นวิถีชีวิตหลักของผู้คนที่มีอำนาจซื้อในประเทศนี้

ในปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมแบบ “เบื่อก็ซื้อใหม่ พอใจก็ซื้ออีก” ได้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนเราจะใช้ชีวิตเช่นนั้นได้จะต้องประกอบด้วยสภาพจิตที่พร่ามัวอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ หนึ่ง ลืมไปว่าชีวิตเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวและต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าการเสพย์สุขสำราญไปวันๆ สอง ลืมไปว่ายังมีเพื่อนมนุษย์อีกเป็นจำนวนมากที่ลำบากยากแค้นและต้องการการแบ่งปันปัจจัยดำรงชีพ และสาม ลืมไปว่าธรรมชาติมีขีดจำกัดในการรองรับความต้องการของมนุษย์ และการเบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไปจะส่งผลร้ายกลับมา

ตามความเข้าใจของผม ความพร่ามัวทางจิตวิญญาณเช่นนี้ล้วนแล้วแต่มีรากฐานอยู่ที่อุปาทานเรื่อง ’ตัวกูของกู’… มีรากเหง้าอยู่ที่การยึดติดในอีโก้ (Ego) หรืออัตตาตัวตน

เพราะคิดว่าตัวเองมีอยู่จึงบังเกิดความปรารถนาสารพัดอย่าง เพื่อปรุงแต่งสิ่งที่เรียกว่าตัวเองนั้น เพราะคิดว่าตัวเองมีอยู่จึงยึดติดในการสะสมครอบครองสรรพสิ่ง และเพราะคิดว่าตัวเองไม่เพียงมีอยู่ หากยังแยกขาดจากผู้อื่นสิ่งอื่นตลอดจนโลกธรรมชาติ จึงมองสรรพชีวิตและโลกธรรมชาติเป็นเพียงสิ่งสนองความต้องการ

ใช่หรือไม่ว่าลัทธิบริโภคนิยมซึ่งเป็นเรือธงของระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ทำงานได้ผลก็เพราะอาศัยการปลูกฝังมายาคติเหล่านี้

จริงอยู่ มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้ปุถุชนคนทั่วไปเลิกยึดติดเรื่องตัวตน เป็นเรื่องยากที่คนเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่สนองความต้องการของตัวเองเลย อีกทั้งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ในโลกนี้โดยไม่รบกวนธรรมชาติบ้าง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะหันเหทิศทางของอารยธรรมจากวัตถุนิยมสุดขั้ว (Extreme Materialism) ไปสู่อารยธรรมแบบจิตวิญญาณนิยม (Spiritualism) ไม่ได้ ประเด็นที่เรากำลังคุยกันไม่ใช่เลิกการบริโภคโดยสิ้นเชิง หรือเลิกอิงอาศัยธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นไปไม่ได้ หากอยู่ที่ปัญหาการบริโภคที่ล้นเกิน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างใหม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

แน่ละ การสร้างอารยธรรมใหม่ในทิศทางนี้ จำเป็นต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันใหม่เกี่ยวกับโลกและชีวิต และย้ายกระบวนการสร้างความพอใจของคน จากอาศัยเงื่อนไขภายนอกมาสู่ความสงบข้างใน เปลี่ยนการแข่งขันมาเป็นร่วมมือ เปลี่ยนการครอบครองมาเป็นแบ่งปัน และที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนวิถีชีวิตที่แยกตัวออกจากธรรมชาติมาเป็นอยู่ร่วมและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

อันที่จริง ชีวิตมนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมาตลอด ดังจะเห็นจากปรากฏการณ์เกิดแก่เจ็บตาย ที่เราแชร์กับชีวิตอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ปรากฏรูปในฐานะมนุษย์

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการธรรมชาติยังสร้างพวกเราขึ้นมาด้วยมวลธาตุเดียวกันกับสรรพชีวิตในโลกนี้ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ มันเป็นมวลธาตุที่วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้แล้วว่าล้วนมาจากการก่อเกิดและดับสูญของดวงดาว มาจากการกระหน่ำชนโลกยุคแรกโดยดาวหางและอุกาบาตจำนวนนับไม่ถ้วน

หรือพูดอย่างรวบรัดก็คือ เรามาจากปรากฏการณ์ในระดับจักรวาล

ทุกวันนี้บรรดามวลธาตุจากดาวดับซึ่งถูกนำมาสู่โลกโดยดาวหาง ฝนดาวตกหรือผีพุ่งใต้ ยังคงผสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง รวมทั้งในตัวมนุษย์ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์ทุกคนนั้นเป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับโลกทั้งใบ เป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับทั่วทั้งจักรวาล ต้นไม้ สรรพสัตว์ ภูเขา สายน้ำ ท้องฟ้า อากาศ ล้วนเป็นญาติใกล้ชิดของเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา พอๆ กับที่เราเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา

นี่คือความจริงที่เราควรยึดกุมไว้เป็นแก่นแกนแห่งสำนึกทั้งปวง

ดังที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ ’บุตรธิดาแห่งดวงดาว’

“เธอเดินทางมาแสนไกล จากเปลวไฟแห่งมหาอัคนี สู่มหาเมฆดึกดำบรรพ์ แปรผันเป็นวงจักรแห่งดารา อันคลี่คลายเป็นสมุทรพสุธาใต้ห่าฝนและแถบรุ้ง… เธอคือส่วนเสี้ยวของดวงดาวที่มิได้เปลี่ยนรูปโดยอุบัติเหตุ หากเป็นผลแห่งอุบัติการณ์… แท้จริงเธอคือจิตวิญญาณ อันเอกภพแสดงตน”

สำหรับผม นี่เป็นจุดบรรจบที่สำคัญมากระหว่างความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณ นอกเหนือไปจากการค้นพบควอนตัมฟิสิกส์ในศตวรรษที่ผ่านมา มันทำให้เราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าที่ศาสดาทั้งปวงสอนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องสมมุติเลื่อนลอย และในทางตรงกันข้าม การที่มนุษย์ยุคใหม่แต่ละคนยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้น กลับเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ ไร้สาระอย่างยิ่ง

ในหลักธรรมของพุทธศาสนา แนวคิดเรื่องสุญญตา (หรือความว่าง) ยืนยันว่าสรรพสิ่งและสรรพชีวิตล้วนอิงอาศัยกันเกิดขึ้น มีอยู่ กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นกันและกัน

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีสิ่งใดมีแก่นสารในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดมีแก่นสารแยกต่างหากจากสิ่งอื่น ไม่มีสิ่งใดชีวิตใดที่มีอัตตาตัวตนอย่างแท้จริง ทั้งหมดเป็นอนัตตา

ในศาสนาแบบเทวะนิยม การเป็นส่วนหนึ่งของส่วนทั้งหมด คือเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า ซึ่งก็ไม่ต่างอันใดกับการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เช่นเดียวกับพุทธธรรม คำสอนดังกล่าวมีนัยยะกำหราบอีโก้ (Ego) ซึ่งจะนำไปสู่ความสมถะสำรวมเรื่องความต้องการ และย้ายความพอใจในชีวิตไปสู่การมอบตัว (Surrender) ต่อฟ้าดิน

คำสอนทั้งหมดนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเราอยากหันเหทิศทางของอารยธรรมออกจากการเบียดเบียนธรรมชาติ มาเป็นอยู่ร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการขัดเกลา ลดละตัวตน กระทั่งสลายตัวตนถ้าทำได้ เพราะอัตตาตัวตนคือต้นตอบ่อเกิดของการปรุงแต่ง ซึ่งนำไปสู่การบริโภคที่ล้นเกิน

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมร้ายแรงที่โลกเผชิญอยู่ ผมยังมองไม่เห็นทางออกอื่นใด นอกจากการมุ่งไปในทิศทางนี้

พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว ขบวนอนุรักษ์ธรรมชาติและงานอนุรักษ์ธรรมชาติ จะต้องเป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณด้วย เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในอ้อมกอดของสุญญตา งานอนุรักษ์ธรรมชาติไม่อาจเกิดขึ้นแบบแยกส่วนได้

มันจะมีประโยชน์อะไรที่เราจะออกจากเมืองไปปลูกต้นไม้คนละสองสามต้น แล้วกลับมาเอารัดเอาเปรียบกันผ่านกลไกตลาด กลับมาเผาผลาญพลังงาน เพิ่มภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยม

อารยธรรมที่มีความสงบทางจิตวิญญาณเป็นแกนกลาง ย่อมอาศัยเงื่อนไขทางวัตถุน้อยลง ข้อนี้จะทำให้เป็นไปได้มากขึ้นที่จะเลิกมองผืนป่าเป็นเพียงมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นไปได้มากขึ้นที่จะเลิกนำที่ดินมาเป็นสินค้าเสรี เลิกมองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งปวงว่ามีแค่ประโยชน์ใช้สอย แล้วกลับมาเห็นทั้งจักรวาลเป็นบ้านเกิด และสรรพชีวิตเป็นมิตรสหาย

พูดให้ชัดขึ้นก็คือ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะหดแคบตัวเองลงไป เพื่อจะได้พื้นที่ชีวิตอันใหญ่กว้างมากกว่าเดิม เหมือนดังที่คำสอนของเต๋ากล่าวไว้ว่า “นกน้อยอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ แต่ใช้ไม้กิ่งเดียวสร้างรวงรัง”

แน่ละ สำหรับพวกเราที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา การออกจากมายาโดยสิ้นเชิงคงไม่ใช่เรื่องง่าย และหนทางที่มนุษย์จะก้าวไปสู่อารยธรรมแบบจิตวิญญาณก็อาจยังอีกยาวไกล

แต่เราก็จำเป็นต้องปักธงผืนนี้ไว้ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อจะได้มีทิศทางให้ก้าวเดิน แม้เฉพาะหน้าเราอาจจำเป็นต้องอยู่กับมายาบ้าง แต่ก็ควรรู้ว่ามันเป็นมายา

อันที่จริง เมื่อมองจากมุมนี้ ชีวิตและความตายของสืบ นาคะเสถียร ย่อมไม่ใช่บทเรียนเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติในความหมายแคบๆ หากเป็นแบบอย่างของวิถีชีวิตทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Life) ที่ชัดเจนมากทีเดียว

ใช่หรือไม่ว่าในยามอยู่ คุณสืบเองก็ใช้ชีวิตอย่างสมถะสำรวม มิได้มุ่งไปที่การสะสมทรัพย์สินอันใด ท่านนับญาติกับทั้งสัตว์ป่าและต้นไม้ อุทิศตนดูแล กระทั่งใช้ความตายของตนเป็นแถลงการณ์ร้องทุกข์แทนพี่น้องเหล่านั้น

ด้วยการผนึกตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติดังกล่าว ทุกวันนี้สืบ นาคะเสถียรจึงยังมีชีวิตอยู่ 20 ปีผ่านไปแล้ว แต่เรายังคงสัมผัสพลังของท่านได้จากมิติทางด้านจิตวิญญาณ…

ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติรับฟัง

 

คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่ร่วมจึงอยู่รอด ตอนที่ 1

 


จากปาฐกถา คนกับธรรมชาติ ต้องอยู่รอด จึงอยู่รอด โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวาระ รำลึก 20 ปี สืบ นาคะเสถียร วันที่ 1 กันยายน 2553 ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร